น้ำมันปลา กับข้อควรระวังในการบริโภค

น้ำมันปลา กับข้อควรระวังในการบริโภค

น้ำมันปลา กับข้อควรระวังในการบริโภค
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

หนึ่งในผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่ขายกันตามท้องตลาดที่เป็นที่นิยมทั้งเด็ก และผู้ใหญ่ ทุกเพศทุกวัย คงหนีไม่พ้น “น้ำมันปลา” (ไม่ใช่น้ำมันตับปลานะ) (อ่านต่อ >> น้ำมันตับปลา VS น้ำมันปลา เหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร?) ที่เป็นที่นิยมมากก็เพราะน้ำมันปลาเต็มไปด้วยคุณประโยชน์มากมาย มีทั้งดีเอชเอ (DHA) ที่มีประโยชน์ต่อหัวใจ และผิวพรรณ มีโอเมก้า-3 ที่ช่วยลดความเสี่ยงในการเป็นโรคหัวใจ  ควบคุมระดับไขมันในเลือด ความดันโลหิต บรรเทาอาการปวดอักเสบจากโรคที่เกี่ยวกับกระดูก และยังช่วยพัฒนาระบบประสาทและสมองอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม ในบางคนอาจจะเถียงอยู่ในใจว่า น้ำมันปลาไม่เห็นจำเป็นสักหน่อย แค่ทานปลาทะเลน้ำลึกจำพวก แซลมอน ซาร์ดีน ทูน่า ให้บ่อยขึ้น อาจจะทุกวันหรือมากกว่า 3 วันต่อสัปดาห์ ก็น่าจะได้รับประโยชน์ใกล้เคียงกับการทานน้ำมันปลาแล้ว แต่สำหรับชีวิตของใครที่ไม่สามารถหาปลาเหล่านี้มาทานได้บ่อยๆ ก็อาจจะมองว่าน้ำมันปลายังเป็นตัวเลือกที่ดีที่ช่วยเสริมสร้างสุขภาพที่ดีให้กับตัวเองได้อย่างสะดวก และรวดเร็ว

แม้ว่าน้ำมันปลาจะมีความปลอดภัยสูง เด็กทานได้ ผู้ใหญ่ทานดี แต่ก็ยังมีข้อควรระวังเล็กน้อยที่ควรใส่ใจ และศึกษาให้รู้เอาไว้ก่อนวิ่งไปซื้อมาทาน

  1. ผู้ที่ทานน้ำมันปลาเป็นประจำ จะมีความเสี่ยงในการเกิดเลือดออกมากขึ้น เพราะโอเมก้า-3 ในน้ำมันปลาจะมีคุณสมบัติในการต้านการเกาะกลุ่มของเกล็ดเลือด และทำให้เลือดหยุดไหลช้าลงได้ ดังนั้นผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการมีเลือดออก เช่น ผู้ที่กำลังจะเข้ารับการผ่าตัด ผู้ที่มีแผลในกระเพาะอาหาร ผู้ที่ดื่มสุรามากๆ หรือผู้ที่รับประทานยาจำพวกแอสไพริน หรือวอร์ฟาริน ที่มีคุณสมบัติลดการแข็งตัวของเลือด อาจจะต้องทานน้ำมันปลาอย่างระมัดระวัง หากจะเข้ารับการผ่าตัดควรแจ้งแพทย์ก่อนว่ากำลังทานน้ำมันปลาอยู่ และควรหยุดทานน้ำมันปลาก่อนเข้ารับการผ่าตัดอย่างน้อย 14 วัน

  2. บางรายอาจมีอาการแพ้น้ำมันปลาได้ เพราะน้ำมันปลามาจากปลาทะเล ผู้ที่แพ้อาหารทะเล หรือแพ้ปลาก็อาจจะมีความเป็นไปได้ที่จะแพ้น้ำมันปลาจจนทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง หรือท้องเสียได้เช่นกัน แต่หากไม่ได้มีอาการแพ้น้ำมันปลาแต่อย่างใด แต่ยังมีอาการดังกล่าว อาจแก้ไขได้ด้วยการรับประทานน้ำมันปลาหลังอาหารทันที หรือเริ่มจากการทานน้ำมันปลาในปริมาณน้อยๆ ก่อน

  3. ผู้ที่มีความดันโลหิตต่ำอยู่แล้ว อาจจะต้องระมัดระวังในการทานน้ำมันปลา เพราะน้ำมันปลามีคุณสมบัติช่วยลดความดันโลหิตอยู่แล้ว

  4. หากทานน้ำมันปลามากเกินขนาดที่กำหนด อาจเป็นการเพิ่มปริมาณแคลอรี่ที่เราควรได้รับต่อวัน จนอาจส่งเสียต่อร่างกายในทางกลับกัน กล่าวคือ เสี่ยงต่อปริมาณไขมันไม่ดี และคอเลสเตอรอลเพิ่มมากขึ้น และอาจทำให้วิตามินอีในร่างกายลดลงด้วย

  5. นอกจากอาการคลื่นไส้ อาเจียน หรือท้องเสียแล้ว ยังอาจมีอาการข้างเคียงอื่นๆ มีอาจเกิดขึ้นได้ เช่น แน่นท้อง อาหารไม่ย่อย หรือเรอบ่อยกว่าปกติ เป็นต้น

 

อย่างไรก็ตาม ถ้าเป็นไปได้ เรายังอยากแนะนำให้รับประโยชน์จากดีเอชเอ และโอเมก้า-3 จากอาหารโดยตรงมากกว่า เพราะนอกจากเราจะได้สารอาหารที่มีประโยชน์อื่นๆ จากเนื้อปลาเหล่านี้แล้ว (โปรตีนชั้นดีไขมันดีสูง มีเซเลเนี่ยม และวิตามินดีที่ช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันโรคอีกด้วย) ยังมีโอเมก้า-3 จากพืชอย่างเมล็ดแฟลกซ์ ถั่ววอลนัท และน้ำมันพืชบางชนิด เช่น น้ำมันรำข้าว น้ำมันมะพร้าว ให้คนที่แพ้ปลาทะเลได้เลือกทานอีกด้วย แต่หากยังอยากทานน้ำมันปลา ก่อนทานควรตรวจสุขภาพ และปรึกษาแพทย์เพื่อให้เราทานน้ำมันปลาได้อย่างเหมาะสมกับสุขภาพของตัวเราเองมากที่สุด ได้รับประโยชน์จากการทานน้ำมันปลาอย่างแท้จริงจะดีกว่า

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook