การดื้อยาของหนองในสายพันธุ์ใหม่ และวิกฤตยาปฏิชีวนะ
จะเกิดอะไรขึ้นหากวันหนึ่งมนุษย์ต้องเผชิญกับเชื้อโรคที่ไม่มียาใดหยุดยั้งการทำงานของเชื้อโรคเหล่านั้นได้ บางทีคำถามนี้อาจจะไม่ได้อยู่ไกลตัวจนเกินไป
ก่อนหน้านี้ไม่นานข่าวการตรวจพบเชื้อหนองใน (Gonorrhoea) จากชายชาวอังกฤษ ถูกตีข่าวไปทั่วโลก เพราะเหตุว่า เชื้อหนองในสายพันธุ์ใหม่ที่ตรวจพบนี้ ดื้อยาขนาดที่ไม่มียาปฏิชีวนะชนิดใดๆ รักษาได้
อันที่จริงเชื้อแบคทีเรีย Neisseria Gonorrhoeae ที่ติดต่อทางเพศสัมพันธ์และก่อให้เกิดโรคหนองในนี้ ถูกค้นพบมายาวนานมาเกือบ 140 ปีแล้ว แต่ต่อมาด้วยความก้าวหน้าทางการแพทย์ในยุคนั้น ผู้ป่วยก็สามารถรักษาภาวะติดเชื้อโรคนี้ได้ไม่ยาก ด้วยสิ่งที่มีชื่อว่า ยาปฏิชีวนะ
แต่เมื่อเวลาผ่านไป สิ่งน่ากังวลก็เกิดขึ้น เมื่อรายชื่อเชื้อโรคอันตรายจากประกาศขององค์การอนามัยโลก (WHO) เมื่อปีที่ผ่านมา ระบุว่า มีเชื้อโรคถึง 12 ชนิด ที่มีภาวะดื้อยาปฏิชีวนะตั้งแต่ระดับกลางจนถึงระดับวิกฤต โดยในรายชื่อนั้น มีเชื้อโรคหนองในรวมอยู่ด้วย
แม้กรณีชายอังกฤษคนที่ติดเชื้อดังกล่าว จะเป็นเพียงคนแรกที่ถูกตรวจพบเชื้อหนองในดื้อยาระดับที่ไม่สามารถรักษาได้ แต่นั่นก็เป็นการแสดงให้เห็นว่า เชื้อโรคชนิดนี้กำลังพัฒนา จนอาจมีการแพร่ขยายได้ในวงกว้าง รวมถึงการรักษาอาการติดเชื้อก็จะยากขึ้นเรื่อยๆ ด้วย จนทำให้บางฝ่ายเกิดความกังวลว่า อวสานของยาปฏิชีวนะ อาจเดินทางมาถึงรวดเร็วกว่าที่คาดคิดไว้
อันที่จริงประเด็นเรื่อง เชื้อโรคดื้อยานี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะก่อนหน้าเมื่อเดือนพฤษภาคมปี 2016 เคยมีการตีพิมพ์รายงานฉบับหนึ่งโดย Jim O’Neill ซึ่งเปิดเผยถึงรายชื่อเชื้อโรค Superbug หรือเชื้อโรคดื้อยา ที่ไม่สามารถใช้ยาปฏิชีวนะที่มีในปัจจุบันรักษาได้อีกต่อไปแล้ว ซึ่งรายงานยังให้ข้อสันนิษฐานด้วยว่า หากไม่มีการดำเนินการในเรื่องนี้อย่างมีประสิทธิภาพ ในอนาคตอาจจะมีเกิดโรคระบาดที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตได้สูงถึง 10 ล้านคนภายในชั่วอายุเดียว
วงการแพทย์แผนปัจจุบันนั้น คุ้นเคยกับยาปฏิชีวนะมากว่า 70 ปี โดยถูกนำไปใช้ในการรักษาหลายด้าน ทั้งกรณีเจ็บป่วยทั่วไป จนถึงกรณีที่ซับซ้อนอย่างการเปลี่ยนถ่ายอวัยวะ ซึ่งด้วยสาเหตุนี้อาจทำให้คนส่วนใหญ่มองว่า ยาปฏิชีวนะที่เรามีสามารถควบคุมและรักษาอาการของโรคอย่างเช่นหนองในได้อย่างสมบูรณ์แล้ว จนไม่มองถึงภาวะดื้อยาที่อาจเกิดขึ้นได้ เห็นได้จากในรายงานของ O’Neill ที่เน้นย้ำว่า ในช่วงสิบปีมานี้ การลงทุนพัฒนาด้านยาปฏิชีวนะถือว่าเป็นไปอย่างล่าช้าและลดน้อยลงมาก ไม่ใช่แค่การพัฒนาตัวยา แต่ยังรวมถึงการคิดหาวิธีรักษาเชื้อโรคอันตรายต่างๆ อย่างเช่น เชื้อหนองใน ก็แทบจะไม่มีการค้นคว้าใหม่ออกมาเลยนับตั้งแต่ปี 1962
แต่ข่าวดีก็คือ ปัจจุบันมีงานวิจัยยาปฏิชีวนะอยู่ถึง 50 ชิ้น และมีบริษัทด้านเทคโนโลยีชีวภาพ (Biotech) หลายแห่งเข้ามาช่วยให้การสนับสนุน โดยตัวยา 1 ใน 3 มุ่งเน้นไปที่ยาเพื่อต่อต้านเชื้อโรค 12 ชนิดตามรายชื่อขององค์การอนามัยโรค รวมถึงเชื้อหนองในด้วย แต่อย่างไรก็ดี ตัวยาเหล่านี้จะยังต้องการเวลาอีกระยะหนึ่งเพื่อทดสอบประสิทธิภาพและผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นก่อนการทำมาใช้จริง
นอกเหนือจากเรื่องยาอันเป็นประเด็นสำคัญ การตรวจพบเชื้อหนองในครั้งนี้ ยังเป็นตัวอย่างที่บ่งชี้ถึงความสำคัญของนำเอาเทคโนโลยีเข้ามามีส่วนในการตรวจรักษา จนทำให้สามารถตรวจพบโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำ ช่วยให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาที่เหมาะสมอย่างทันท่วงที ไม่ว่าจะใช้ยาปฏิชีวนะหรือไม่ก็ตาม