ทำไมโซเชียลมีเดียถึงเปลี่ยน “คนดี” ให้เป็น “คนเลว” ได้

ทำไมโซเชียลมีเดียถึงเปลี่ยน “คนดี” ให้เป็น “คนเลว” ได้

ทำไมโซเชียลมีเดียถึงเปลี่ยน “คนดี” ให้เป็น “คนเลว” ได้
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

Hate speech หรือคำพูดที่ว่ากล่าวคนอื่นให้ได้รับความเกลียดชัง เป็นคำพูดที่เกิดขึ้นในโลกออนไลน์นับตั้งแต่โลกของโซเชียลมีเดียเริ่มก่อตัวขึ้นในสังคมของเรา หลายคนได้รับผลกระทบของคำพูดดูหมิ่นดูแคลน คำดุด่าว่ากล่าวต่างๆ จากคนที่ไม่เคยรู้จักชื่อและไม่เคยเห็นหน้ากันมาก่อน จนทำให้คนเหล่านั้นจิตตก เศร้าซึม จนอาจนำไปสู่เรื่องราวอันหน้าเศร้าที่พบคนฆ่าตัวตายจากผลของ Hate speech เหล่านั้น ที่น่าแปลกคือบุคคลที่พ่นวาจา Hate speech เหล่านั้น ในชีวิตจริงของเขาอาจเป็นคนดี มีงานการทำที่มั่นคง เพื่อนฝูงรักใคร่ และอาจถึงขั้นมีหน้ามีตาเป็นใหญ่เป็นโตอยู่ในสังคม

อะไรที่ทำให้คนดีๆ ที่เรารู้จัก กลับใช้ถ้อยคำหยาบคายรุนแรงกับคนอื่นในโซเชียลมีเดียได้โดยไม่รู้สึกอะไร จนบางคนอาจจะเรียกได้ว่า ราวกับคนละคนไปเลย

 

  1. ตอบโต้คนที่เข้ามาพ่น Hate speech ใส่ก่อน

บางคนถือคติที่ว่า “เราไม่ยุ่งกับใคร ถ้าใครไม่มายุ่งกับเราก่อน” การแสดงความคิดเห็นในโซเชียลมีเดียของเขาอาจจะไปขัดหูขัดตาคนอื่นเข้า จนทำให้เขาได้รับคอมเมนต์ที่เต็มไปด้วยถ้อยคำดุด่าว่ากล่าว และคำหยาบคายต่างๆ จนทำให้เขาเกิดบรรดาโทสะ และพิมพ์ตอบโต้คนเหล่านั้นกลับไปด้วยระดับภาษา และถ้อยคำในแบบเดียวกัน หรือรุนแรงกว่า เพื่อให้รู้สึกว่าเราชนะ ยิ่งว่ากลับแรง ก็ยิ่งรู้สึกถึงชัยชนะมากขึ้น

 

  1. สร้างตัวตนในโลกของโซเชียลมีเดีย

เคยเห็นโพสต์เรื่องราวหนึ่งที่มีคอมเมนต์ต่อลงมายืดยาวเป็นหางว่าวกันบ้างไหม? หากคอมเมนต์ที่ได้ยอดไลค์เยอะเป็นคอมเมนต์ที่ใช้ถ้อยคำรุนแรงในการวิพากษ์วิจารณ์เรื่องที่เกิดขึ้นอย่างออกรสออกชาติ ถึงพริกถึงขิง คนที่มาคอมเมนต์ต่อๆ ก็อยากจะได้ท็อปคอมเมนต์ (top comment) บ้าง อยากสร้างตัวตนในโลกออนไลน์ให้เป็นที่รู้จัก เป็นที่จดจำของคนอื่นๆ ดังนั้นจึงพยายามสรรหาถ้อยคำที่รุนแรงมาคอมเมนต์เพื่อให้คนอื่นชอบใจ และมาเห็นด้วยกับความคิดของตัวเองด้วยเช่นกัน

 

  1. ใช้โลกออนไลน์เผยความในใจของตัวเอง

เมื่อโลกแห่งความเป็นจริงของคนๆ นั้น ไม่สามารถเปิดเผยตัวตนที่แท้จริงของพวกเขาได้ ไม่ว่าจะเป็นหน้าที่การงาน ครอบครัว สังคมที่อยู่รอบๆ ตัวเขา ที่ทำให้เขาเหล่านั้นไม่กล้าแสดงความคิดเห็นผ่านถ้อยคำรุนแรงออกมาได้ พวกเขาจึงเลือกที่จะใช้ถ้อยคำที่วนเวียนอยู่ในหัวแต่พูดออกมาไม่ได้ลงในโซเชียลมีเดียแทน เพราะโซเชียลมีเดียให้พื้นที่เขาในการแสดงความคิดเห็นอย่างอิสระ สามารถเปิดปิดโพสต์ของตัวเองให้คนหนึ่งเห็น อีกคนมองไม่เห็นได้ เราจึงพบถ้อยคำดุด่าว่ากล่าวคนอื่นลอยๆ ไม่ระบุชื่อคนที่กำลังด่าอยู่บ่อยๆ หรือแม้แต่วิพากษ์วิจารณ์คนอื่นโดยใช้ถ้อยคำหยาบคาย เพื่อระบายความเกลียดชังที่มีต่อคนๆ นั้นผ่านโซเชียลมีเดีย เพื่อได้รับความคิดเห็นที่ตรงกันจากคอมเมนต์ของเพื่อนๆ ให้มาร่วมเห็นตรงกันกับเราด้วย

 

  1. ร่วมด่าคนทำผิดไปกับเขาด้วย เพื่อแสดงว่าตัวเองอยู่ฝั่งคนดี

เคยเห็นคนที่ “ด่าตามน้ำ” ร่วมไปกับคนอื่นไหม ตัวเองอาจจะมาทีหลัง ยังไม่ทันได้ตามเนื้อเรื่องตั้งแต่ต้นว่าเกิดอะไรขึ้น แต่อ่านแค่หัวข้อเรื่อง พร้อมภาพประกอบนิดหน่อย บวกกับคอมเมนต์อื่นๆ ก็เลือกข้างได้แล้วว่าจะขอเป็น “คนดี” ที่ไม่เห็นด้วยกับการกระทำของ “คนเลว” จึงใช้ถ้อยคำว่ากล่าวฝ่ายที่ทำผิดอย่างรุนแรง เพื่อเป็นการแสดงตัวว่าตัวเองไม่ได้อยู่ฝ่ายเดียวกับคนนิสัยไม่ดีกลุ่มนั้น และยิ่งเมื่อความเห็นของเราเป็นที่ถูกใจของคนที่อยู่ฝั่ง “คนดี” คนอื่นๆ ก็จะได้รับยอดไลค์ หรือได้รับการสนับสนุนว่าสิ่งที่ตัวเองพิมพ์ไปเป็นเรื่องที่ถูกที่ควรแล้ว จึงเป็นที่มาของการใช้ถ้อยคำรุนแรงต่อคนที่อยู่ฝั่ง “คนเลว” ซ้ำต่อไปอีกหลายๆ ครั้ง

 

  1. ก็แค่อีกด้านที่เป็น Dark side ของคนๆ นั้น

โซเชียลมีเดียเป็นพื้นที่ของใครหลายๆ คนที่จะพิมพ์เล่าอะไรออกมาเรื่อยเปื่อย แสดงความคิดเห็นถึงสิ่งนู้นสิ่งนี้ได้อย่างเป็นตัวของตัวเองมากที่สุดพื้นที่หนึ่ง การที่ในชีวิตปกติของเขา เราจะไม่เห็นด้านมืดของเขาก็ไม่แปลก เพราะจริงๆ แล้วเราอาจจะรู้จักตัวตนที่แท้จริงของคนๆ นั้นได้ไม่ดีพอ เขาอาจจะมีอีกด้านหนึ่งที่เราไม่เคยพบ ไม่เคยเห็นมาก่อนก็เป็นได้ ดังนั้นคุณจึงอาจจะแปลกใจว่าทำไมคนๆ นั้นถึงพิมพ์ถ้อยคำหยาบคายเหล่านั้นออกมาได้ ทั้งที่ตัวจริงคุณไม่เคยเห็นเขาพูดถ้อยคำเหล่านั้นเลย

 

โซเชียลมีเดียก็เป็นอีกสังคมหนึ่งที่เรามี เราอาจจะวางตัวเองในสังคมแต่ละที่แตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นสังคมครอบครัว เพื่อนฝูง ที่ทำงาน หรือในโลกออนไลน์ แต่อย่างไรก็ตามการวางตัวของเราในแต่ละที่ไม่ควรต้องทำให้ใครเดือดร้อน และควรพึงระลึกอยู่เสมอว่า “สำเนียงส่อภาษา กิริยาส่อสกุล” คำพูดที่เราเคยว่าร้ายคนอื่นไม่ว่าจะเป็นในโลกชีวิตจริง หรือโลกออนไลน์ อาจจะย้อนกลับมาทำร้ายตัวเองในอนาคตได้

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook