9 โรคที่ "ทันตแพทย์" สามารถสังเกตได้จากการ "ตรวจฟัน"
การเปิดปาก บอกอะไรได้มากกว่าที่คุณคิด ไม่ได้หมายถึงแค่บอกสุขภาพฟัน หรือบอกทัศนคติเมื่อคุณเปิดปากพูด แต่หมายถึง ภายในช่องปากของคุณ สามารถบอกโรคภัยหรือสุขภาพร่างกายของคุณได้แบบแม่นๆ ด้วย
แซลลี เครม (Sally Cram) ทันตแพทย์จากสมาคมทันตกรรมอเมริกันกล่าวว่า “ระบบร่างกายทั้งหมดล้วนเชื่อมโยงกัน บางอย่างที่คุณเห็นในช่องปาก สามารถเป็นข้อบ่งชี้ได้ว่า อาจมีสิ่งผิดปกติบางอย่างเกิดขึ้นในร่างกาย” ซึ่งมีตั้งแต่โรคอย่างเบาหวาน กรดไหลย้อน ไปจนถึงโรคที่รุนแรงจนคุณนึกไม่ถึง
และนี่คือโรคที่ทันตแพทย์ของคุณสามารถสังเกตได้จากช่องปาก
- เบาหวาน (Diabetes) แทบไม่มีส่วนใดของร่างกายหนีผลกระทบจากเบาหวานไปได้ ในช่องปากของคุณก็เช่นกัน สิ่งบ่งชี้ที่โดดเด่นของโรคนี้ก็คือ ลมหายใจซึ่งจะออกมามีกลิ่นคล้ายผลไม้ อันเป็นผลมาจากร่างกายเผาผลาญไขมันมาใช้เป็นพลังงานแทนน้ำตาล นอกจากนี้ผู้เป็นเบาหวานยังมีความเสี่ยงสูงที่จะมีภาวะปริทันต์อักเสบ ซึ่งมีอาการเหงือกบวม เจ็บ และมีเลือดออก รวมไปถึงอาการอย่างโรคเริมที่ริมฝีปากและปากแห้ง อันเป็นผลจากการติดเชื้อราในปากและลำคอ (อันที่จริงเชื้อเหล่านี้มีอยู่ในร่างกายอยู่แล้ว แต่อาการของเบาหวานทำให้ร่างกายอ่อนแอลง เชื้อจึงขยายตัวและลุกลามได้ง่าย)
- กรดไหลย้อน (Gerd) อาการกรดไหลย้อน เกิดจากกรดในกระเพาะอาหารไหลย้อนขึ้นไปหลอดอาหาร ทำให้เกิดอาการเสียดท้อง แสบหน้าอก กรดที่ไหลกลับขึ้นมายังนำไปสู่กลิ่นปาก แผลเปื่อยและปากแห้งรวมถึงกรดยังทำร้ายเคลือบฟันของคุณให้กร่อนได้ด้วย อันที่จริงอาการกรดไหลย้อนนั้นระบุด้วยการสังเกตอย่างเดียวทำได้ยาก แต่ทันตแพทย์จะบอกคุณได้ชัดเจนมากขึ้น หากรู้ว่าคุณกำลังทานยาอะไรอยู่ในช่วงนั้น ดังนั้นจะเป็นการดีหากบอกหมอว่า คุณกำลังทานยาตัวไหนอยู่ แม้จะไม่ใช่ยาที่แพทย์สั่งจ่ายก็ตาม
- มะเร็ง หมอฟันไม่ใช่แค่ตรวจได้ว่าคุณมีฟันผุหรือใช้ไหมขัดฟันได้ถูกต้องหรือเปล่าเท่านั้น แต่ยังสามารถสังเกตอาการที่บ่งชี้ถึงโรคมะเร็งได้ด้วย ไม่ว่าจะมะเร็งส่วนศีรษะ คอ ภายในช่องปากและลำคอด้านใน โดยคุณหมอจะสังเกตความผิดปกติจากจุดสีแดงหรือขาว บาดแผล ตุ่ม ก้อน อาการบวม ที่เป็นสัญญาณผิดปกติภายในช่องปากและส่วนแก้ม รวมถึงยังสามารถสังเกตต่อมน้ำเหลือบริเวณคอ ซึ่งสะท้อนอาการเจ็บป่วยได้ในหลายกรณี รวมถึงโรคมะเร็งด้วย ดังนั้น หากคุณไปหาหมอฟัน ก็สามารถพูดคุยถึงความผิดปกติต่างๆ ในช่องปากที่เกิดขึ้นได้ โดยเฉพาะหากอาการนั้นกินระยะเวลาเกินสองสัปดาห์ขึ้นไป
- กระดูกพรุน (Osteoporosis) กระดูกพรุนคือการที่มวลกระดูกบางลง เป็นอาการที่พบได้บ่อยในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน อาการของกระดูกพรุนไม่ได้มีการเดินหลังค่อมแบบคนแก่เท่านั้น แต่ยังส่งผลถึงกระดูกส่วนขากรรไกรที่เป็นรากฐานของฟันคุณด้วย ดังนั้นหากใครทีมีอาการเหงือกร่น ฟันโยก โดยไม่มีอาการปริทันต์ใดๆ นั่นเป็นข้อสังเกตว่า คุณอาจเป็นโรคกระดูกพรุน ซึ่งเรื่องนี้เครื่องเอ็กซเรย์ทางทันตกรรมสามารถใช้ตรวจหาข้อสรุปที่ชัดเจนได้ เพื่อนำไปสู่การรักษากระดูกที่ถูกต้องต่อไป
- ภูมิคุ้มกันบกพร่อง หรือเอดส์ (HIV หรือ AIDS) ฟังดูร้ายแรงจนน่าตกใจ แต่ความจริงก็คือ ผู้ที่มีอาการของภูมิคุ้มกันบกพร่องจะมีอาการที่บ่งชี้ได้จากภายในช่องปากเยอะมาก ตั้งแต่เชื้อราในปากและลำคอ คล้ายกับผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน การมีฝ้าขาวบริเวณลิ้น ปากแห้ง (ซึ่งอาจนำไปสู่อาการฟันผุได้) โรคเริมที่ริมฝีปาก โรคเหงือก โรคติดเชื้อเอชพีวี ซึ่งไวรัสชนิดเดียวกับที่ทำให้เกิดมะเร็งปากมดลูก มะเร็งที่ศีรษะและลำคอ นอกจากนี้ ผู้ที่มีเชื้อ HIV ยังอาจมีภาวะแทรกซ้อนของมะเร็งคาโปซิซาร์โคมา (Kaposi Sarcoma) มะเร็งผิวหนังชนิดหนึ่ง ซึ่งจะปรากฏรอยจุดสีม่วงหรือแดงขึ้นบนผิวหนัง รวมถึงภายในช่องปากด้วย
- กลุ่มอาการโจเกรน (Sjogren’s syndrome) คือกลุ่มโรคผิดปกติทางระบบภูมิคุ้มกัน อย่างเช่นโรคภูมิแพ้ตัวเอง ที่ระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายกลับมาทำร้ายเซลล์และเนื้อเยื่อต่างๆ ในร่างกายเอง ผู้ป่วยจึงมีอาการปากแห้ง น้ำลายแห้ง เพราะต่อมน้ำลายถูกทำลาย รวมไปถึงยังมีอาการตาแห้ง แสบตาด้วย นอกจากนี้ครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยในกลุ่มอาการโจเกรน ยังมักมีโรคข้ออักเสบชนิดรูห์มาตอยด์และโรคลูปัสร่วมด้วย จึงมักปัญหาเกี่ยวกับการกลืน การพูด และการรับรส สืบเนื่องจากความผิดปกติของส่วนข้อต่อขากรรไกร
- แพ้กลูเตน (Coeliac Disease) กลูเตน เป็นโปรตีนที่มีอยู่ในพืชจำพวกข้าวสาลี ข้าวไรย์ และข้าวบาร์เลย์ คนที่มีอาการแพ้คือร่างกายไม่สามารถย่อยกลูเตนได้ หากทานเข้าไปก็จะก่อให้เกิดการระคายเคือง ส่งผลได้ตั้งแต่ลำไล้เล็ก มาจนถึงในช่องปาก ซึ่งทันตแพทย์สามารถสังเกตอาการได้ ไม่ว่าจะเป็นการมีแผลเปื่อยภายในปาก ปัญหาเคลือบฟัน ไปจนถึงลิ้นแห้งหรือแสบร้อน
- โลหิตจาง (Anemia) คือภาวะที่เม็ดเลือดแดงในร่างกายน้อยหรือทำงานผิดปกติ โดยทั่วไปอาการบ่งชี้ของโลหิตจางคืออ่อนเพลียง่าย ซึ่งอาจระบุเจาะจงได้ไม่ชัดเจนนัก แต่ทันตแพทย์สามารถบอกคุณได้มากกว่านั้น เนื่องจากเนื้อเยื่อช่องปากมีความโปร่งใสมากกว่าเนื้อเยื่อผิวทั่วไป หมอจึงสามารถเห็นถึงสีที่ซีดจางของปากและลิ้น รวมถึงส่วนอื่นๆ ในช่องปากได้อย่างชัดเจนหากผู้ป่วยมีอาการโลหิตจาง
- ไตเรื้อรัง (Chronic kidney disease) ไต ทำหน้าที่กำจัดสิ่งสกปรกในร่างกาย หากไตทำงานผิดปกติ ย่อมก่อให้เกิดสารพิษสะสมในร่างกาย และส่งผลต่อระบบอวัยวะอื่นๆ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เช่น ในช่องปาก ผู้ที่มีปัญหาโรคไต มักมีลมหายใจกลิ่นคล้ายปัสสาวะหรือไม่ก็เป็นกลิ่นหวานเลี่ยน ปากแห้งอย่างผิดปกติ ซึ่งทันตแพทย์จะสังเกตและสอบถามคุณได้ทันที หากคุณมีอาการดังกล่าว
รู้แบบนี้แล้ว อย่าลืมไปหาหมอฟันกันด้วยนะ