เมื่อฉันเป็นเบาหวาน! ทางออกใหม่บนโต๊ะอาหารกับการค้นพบครั้งสำคัญที่ทำให้อร่อยได้แบบไม่หวานเกิน

เมื่อฉันเป็นเบาหวาน! ทางออกใหม่บนโต๊ะอาหารกับการค้นพบครั้งสำคัญที่ทำให้อร่อยได้แบบไม่หวานเกิน

เมื่อฉันเป็นเบาหวาน! ทางออกใหม่บนโต๊ะอาหารกับการค้นพบครั้งสำคัญที่ทำให้อร่อยได้แบบไม่หวานเกิน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

      จากผลการศึกษาชิ้นล่าสุดพบว่า “เบาหวาน” ถูกจัดให้เป็นภาวะเจ็บป่วยในหมวดหมู่ของโรคระบาดเป็นที่เรียบร้อย เนื่องจากมีผู้ป่วยเป็นเบาหวานเกิดขึ้นในทุกวัน และยังมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ แบบไม่มีช่วงเว้นวรรค ส่งผลให้ในช่วงระยะเวลาไม่ถึงยี่สิบปีที่ผ่านมามีผู้ป่วยเป็นเบาหวานทั่วโลกเพิ่มขึ้นมากกว่าสองเท่า เช่นเดียวกับที่ประเทศไทยพบผู้ป่วยเป็นเบาหวานเพิ่มจาก 2 ล้านคน เป็น 4 ล้านกว่าคนในปัจจุบัน ด้วยเหตุนี้เององค์การอนามัยโลกจึงได้จัดโรคเบาหานให้อยู่ในกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง

     ที่น่ากลัวไปกว่านั้น ข้อมูลจากสหพันธ์โรคเบาหวานนานาชาติยังระบุชัดว่าปัจจุบันมีผู้หญิงมากกว่า 199 ล้านคนเป็นเบาหวาน และจะเพิ่มเป็น 313 ล้านคนในปี 2538 อีกทั้งเบาหวานยังเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 9 ของผู้หญิงทั่วโลก โดยหนึ่งในต้นเหตุหลักที่ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เป็นเบาหวานก็คือเรื่องของไลฟ์สไตล์ เพราะคนยุคนี้ที่นิยมเข้าร้านกาแฟ ดื่มน้ำหวาน กินขนมกันมากขึ้น ส่งผลให้ร่างกายได้รับน้ำตาลในปริมาณที่มากเกินความต้องการ

 

     รู้ทันเบาหวานกับการจัดการบนโต๊ะอาหาร

     “ยา” คือหัวใจหลักของการรักษาเบาหวาน และ “วินัย” ในการรักษาตัวเองคือกุญแจดอกสำคัญที่จะทำให้ผู้ป่วยโรคเบาหวานอยู่ร่วมกับโรคได้อย่างสงบและมีความสุข ไม่เกิดโรคแทรกซ้อนใดๆ

     สิ่งหนึ่งที่ต้องยอมรับให้ได้ก็คือเบาหวานต้องการการรักษาด้วยการปรับพฤติกรรมชีวิต โดยด้านที่สำคัญที่สุดก็คือเรื่องกิน “กินอาหารที่ดีต่อสุขภาพ” จะเห็นว่าผู้เป็นเบาหวานเราไม่ได้แนะนำให้อดอาหาร เพียงแต่ต้องรู้จักเลือกกินอาหารที่ดี สิ่งสำคัญในการกินอาหารที่ดีต่อสุขภาพได้แก่ ต้องกินอาหารให้ครบสามมื้อ โดยมื้อเช้าสำคัญที่สุดเพราะเป็นมื้อที่กำหนดการเผาผลาญของร่างกายในแต่ละวัน ในคนที่ไม่ได้กินอาหารเช้ามีข้อมูลพบว่าจะเสี่ยงต่อการเป็นเบาหวานมากขึ้น ส่วนชนิดอาหารที่ควรเลือกกินก็เน้นเพิ่มใยอาหารจากผัก และลดแป้งจากข้าว ข้าวเหนียว เส้นก๋วยเตี๋ยว ขนมปัง และเบเกอรี่ต่างๆ ลดผลไม้บางชนิด เช่น ทุเรียน มะม่วง มะพร้าว ลดหวาน มัน เค็ม และไม่ดื่มน้ำที่มีรสหวานในรูปแบบต่างๆ

     ทั้งหมดนี้อาจจะยากมากในช่วงเริ่มต้น แต่จะง่ายขึ้นเมื่ออดทนทำอย่างต่อเนื่อง และจะดีกับร่างกายถึงขีดสุดเมื่อทำจนกลายเป็นนิสัย

               

     นอกจากนี้ ด้วยนวัตกรรมทางการแพทย์ที่ทันสมัยขึ้นทำให้บนโต๊ะอาหารของผู้ป่วยเบาหวานยุคนี้ไม่ลำบากเหมือนเมื่อก่อนเพราะมีอาหารทางการแพทย์สำหรับโรคต่างๆ รวมทั้งโรคเบาหวานซึ่งสามารถนำมาใช้ร่วมไปกับการปรับพฤติกรรมชีวิตและการใช้ยารักษาโรคได้อย่างได้ผล อาหารทางการแพทย์ในโรคเบาหวานสามารถใช้ได้ในหลากหลายรูปแบบ โดยวิธีหนึ่งที่มีการศึกษาว่าได้ผลในการควบคุมน้ำหนักและน้ำตาลคือการใช้ในรูปแบบเพื่อทดแทนมื้ออาหาร (meal replacement therapy) ซึ่งผู้เป็นเบาหวานสามารถวางแผนร่วมกับแพทย์หรือทีมงานผู้ดูแลในการเลือกมื้ออาหารในบางมื้อของวันจำนวน 1-2 มื้อที่จะให้รับประทานอาหารทางการแพทย์ซึ่งจะช่วยให้ผู้เป็นเบาหวานสามารถควบคุมปริมาณอาหารในแต่ละมื้อได้ง่ายขึ้น

     สิ่งสำคัญในการใช้อาหารทางการแพทย์อย่างได้ผลคือต้องให้ผู้เป็นเบาหวานมีส่วนร่วมในการวางแผนในการกำหนดมื้อที่จะใช้อาหารทางการแพทย์เพื่อทดแทนอาหาร ซึ่งโดยทั่วไปอาจเริ่มจากวันละมื้อก่อน เช่น มื้อเช้าซึ่งคนส่วนใหญ่ไม่มีเวลาในการเตรียมอาหารที่ดีต่อสุขภาพเพราะต้องรีบไปเรียนหรือไปทำงานทั้งที่มื้อเช้าเป็นมื้อที่สำคัญที่สุด หรือเลือกมื้อเย็นซึ่งมักเป็นมื้อที่กินดึกหรือกินนอกบ้านทำให้ควบคุมปริมาณการกินได้ยาก

     หลังจากมีการวางแผนการทดแทนมื้ออาหารแล้วก็ต้องมีการประเมินเป็นระยะว่าผู้ป่วยสามารถกินอาหารทดแทนได้ตามที่กำหนดหรือไม่ การให้คำแนะนำการจัดการตนเองเมื่อหิว การให้กำลังใจและเสริมแรงบวก การสนับสนุนจากทีมงานผู้ดูแลและคนรอบข้าง การจัดการความเครียดและการปรับเปลี่ยนแผนอย่างเหมาะสมล้วนเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้การใช้อาหารทางการแพทย์เพื่อทดแทนมื้ออาหารสามารถใช้อย่างได้ผล เมื่อรู้เท่าทันเบาหวานเช่นนี้แล้วย่อมสามารถเข้าใจ เรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับโรคเบาหวานได้อย่างมีความสุข

 

     ปรับตัววันละนิด พิชิตเบาหวาน

     นอกเหนือจากเรื่องอาหารการกิน เรื่องของพฤติกรรมและการใช้ชีวิตก็เป็นสิ่งสำคัญที่ผู้ป่วยเบาหวานต้องปรับตัวเพื่อสู้กับเบาหวานให้ได้

  • ลดน้ำหนัก : การลดน้ำหนักในผู้เป็นเบาหวานให้ตั้งเป้าหมายให้ลดลงร้อยละ 7 ของน้ำหนักตัวตั้งต้น โดยอาจวางแผนให้ลดลงครึ่งกิโลกรัมต่อสัปดาห์ การควบคุมอาหารโดยจำกัดปริมาณอาหารหรือแคลอรีร่วมกับการออกกำลังกายอย่างต่อเนื่องเป็นวิธีที่ได้ผลดี นอกจากนั้นในรายที่น้ำหนักเกินมากหรือมีโรคร่วมอาจพิจารณารักษาด้วยการผ่าตัดลดขนาดกระเพาะอาหารซึ่งสามารถลดน้ำหนักและลดน้ำตาลได้เช่นกัน
  • เพิ่มกิจกรรมทางกาย : ปัจจุบันเราปรับคำแนะนำจากเดิมให้ออกกำลังกายมาเป็นเพิ่มกิจกรรมทางกายแทน เนื่องจากผลลัพธ์ที่ดีไม่ต้องรอให้เรามีเวลาไปออกกำลังกายเป็นเรื่องเป็นราวเพียงอย่างเดียว การเพิ่มกิจกรรมในชีวิตประจำวัน เช่น ขึ้นบันไดแทนลิฟต์ ลุกเดินบ่อยๆ ก็พบว่าได้ผลดีเช่นกัน เนื่องจากความสะดวกสบายในโลกยุคปัจจุบันทำให้มนุษย์ขยับร่างกายน้อยลงอย่างมากจึงมีการบัญญัติคำเรียกลักษณะเช่นนี้ว่าพฤติกรรมเนือยนิ่ง (sedentary lifestyle) ปัจจุบันแนะนำให้ผู้เป็นเบาหวานต้องอย่าอยู่นิ่งกับที่นานเกิน 30 นาที โดยต้องมีการลุกเปลี่ยนอิริยาบถหรือเดินในระยะสั้นๆ ซึ่งการทำเช่นนี้นอกจากลดเบาหวานแล้วยังลดโรคเรื้อรังอื่นๆ ได้อีกหลายโรค เช่น โรคปวดคอ บ่า ไหล่ โรคกระดูกพรุน โรคเวียนศีรษะ เป็นต้น
  • ปรับสมดุลอารมณ์ให้แจ่มใส ไม่เครียด : ข้อนี้มีความสำคัญมากเพราะการปรับพฤติกรรมที่ทำไปด้วยความเครียดมักได้ผลไม่นาน สุดท้ายในระยะยาวก็มักล้มเหลว ดังนั้นต้องคอยหมั่นสำรวจจิตใจตนเองอยู่ตลอด หาแรงกระตุ้นเพื่อผลักดันให้เปลี่ยนตนเองไปเป็นคนที่มีชีวิตที่ดีขึ้นจึงเป็นสิ่งสำคัญเพื่อให้สามารถปรับพฤติกรรมชีวิตได้อย่างยั่งยืน

     ทั้งนี้ต้องทำความเข้าใจว่าเบาหวานไม่ได้รักษาด้วยการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดเพียงอย่างเดียว แต่ยังต้องควบคุมความดันเลือด และลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดตีบด้วย ดังนั้นยาที่ผู้เป็นเบาหวานส่วนใหญ่ต้องรับประทานจึงมีหลายประเภท ได้แก่ ยาลดระดับน้ำตาลในเลือด ยาลดความดันเลือด ยาลดไขมันในเลือดซึ่งมีผลในการป้องกันและรักษาโรคหลอดเลือดตีบ ผู้เป็นเบาหวานบางรายที่สามารถควบคุมพฤติกรรมตนเองจนลดน้ำหนักได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ ผลตรวจต่างๆ ก็จะดีขึ้นจนแพทย์สามารถลดยาหรือหยุดยาบางตัวได้

     เมื่อรู้เท่าทันเบาหวานเช่นนี้แล้วย่อมสามารถเข้าใจ เรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับโรคเบาหวานได้อย่างมีความสุข

     ดูรายละเอียดเพิ่มเติม ได้ที่ https://goo.gl/514hFE

 

ที่มา : บทความ

นพ.เอกลักษณ์ วโนทยาโรจน์ อายุรแพทย์โรคต่อมไร้ท่อและเมแทบอลิซึม ศูนย์เบาหวานและไทรอยด์ โรงพยาบาลเทพธารินทร์

 

[Advertorial]

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook