4 หลักสร้างสุขให้ผู้สูงอายุ “ไม่ล้ม ไม่ลืม ไม่ซึมเศร้า กินข้าวอร่อย”

4 หลักสร้างสุขให้ผู้สูงอายุ “ไม่ล้ม ไม่ลืม ไม่ซึมเศร้า กินข้าวอร่อย”

4 หลักสร้างสุขให้ผู้สูงอายุ “ไม่ล้ม ไม่ลืม ไม่ซึมเศร้า กินข้าวอร่อย”
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

นายแพทย์อรรถพล แก้วสัมฤทธิ์ รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ประชากรสูงอายุในประเทศไทยมีจำนวนเพิ่มขึ้นด้วยอัตราที่สูงมากโดยกลุ่มอายุ 60 ปีเพิ่มขึ้นด้วยอัตราประมาณร้อยละ 5 ต่อปีกลุ่มอายุ 80 ปีขึ้นไปเพิ่มด้วยอัตราสูงมากกว่าร้อยละ 6 ต่อปีคาดว่าในปี 2564 ประเทศไทยจะเข้าสู่ "สังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์” (Complete – aged society)ที่มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป มากกว่าร้อยละ 20ของประชากรทั้งหมด หรือประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไป มากกว่าร้อยละ 14 และใน ปี 2574 ประเทศไทยจะเข้าสู่ "สังคมสูงอายุระดับสุดยอด” ส่งผลให้ 1 ใน 3 คือร้อยละ 35 ของผู้สูงอายุมีภาวะอ้วน ร้อยละ 7 เคยหกล้มภายในบ้านมากกว่าร้อยละ 60 ของผู้สูงอายุ 80 ปีขึ้นไปเป็นโรคความดันเลือดสูง มากกว่าร้อยละ 10 ของผู้สูงอายุวัยปลายเป็นโรคเบาหวานและมากกว่าร้อยละ 70 ของผู้สูงอายุวัยปลายมีฟันไม่ครบ 20 ซี่ และร้อยละ 56 รายงานว่าตนเองมีโรคเรื้อรังหรือโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ความดันเลือดสูง          

กรมอนามัยจึงได้ดำเนินงานส่งเสริมป้องกันและแก้ไขปัญหาสุขภาพผู้สูงอายุ โดยตั้งเป้าหมายให้คนไทยมีอายุขัยเฉลี่ยเมื่อแรกเกิดในอีก 20 ปีข้างหน้า อยู่ที่ 85 ปี และต้องอยู่อย่างมีสุขภาพดี ไม่น้อยกว่า 75 ปี ที่ผ่านมามีการดำเนินการส่งเสริมสุขภาพแก้ไขปัญหาสุขภาพผู้สูงอายุด้วยแนวคิด "ไม่ล้ม ไม่ลืม ไม่ซึมเศร้า กินข้าวอร่อย" หรือ "4 Smart" ได้แก่

1) Smart Walk ออกกำลังกายสม่ำเสมอเพื่อร่างกายที่แข็งแรง ไม่หกล้ม โดยให้ผู้สูงอายุออกกำลังกายอย่างน้อยสัปดาห์ละ 5 วัน วันละ 30 นาที

2) Smart Brain & Emotional ดูแลฝึกทักษะทางสมอง ส่งเสริมสุขภาพจิตและอารมณ์ โดยการเข้าร่วมกิจกรรมในชมรมผู้สูงอายุ โรงเรียนผู้สูงอายุ รณรงค์และส่งเสริมพฤติกรรมการไม่สูบบุหรี่

3) Smart Sleep คือ นอนหลับอย่างเพียงพออย่างน้อยวันละ 7-8 ชั่วโมง

4) Smart Eat กินอาหารตามหลักโภชนาการครบ 5 หมู่ ลดหวาน มัน เค็ม เน้นผัก ผลไม้ เลือกอาหารที่มีโปรตีนคุณภาพสูง เช่น ปลาทะเล ซึ่งมีกรดโอเมก้า 3 สูง ช่วยบำรุงประสาท สายตา และสมอง ส่งเสริมให้ผู้สูงอายุมีสุขภาพช่องปากที่ดี เพื่อความสามารถในการบดเคี้ยวอาหารมีฟันใช้งานได้อย่างน้อย 20 ซี่ 4 คู่สบ ตลอดจนการส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ ความรอบรู้สำหรับประชาชน ผ่านแอปพลิเคชันสูงวัย สมองดี และคู่มือส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุและป้องกันภาวะสมองเสื่อม ไม่ล้ม ไม่ลืม ไม่ซึมเศร้า กินข้าวอร่อย         

ทั้งนี้ วันที่ 13 เมษายนของทุกปีเป็นวันสงกรานต์ และวันผู้สูงอายุแห่งชาติ ประชาชนส่วนใหญ่จะเดินทางกลับภูมิลำเนาเพื่อเยี่ยมครอบครัว กรมอนามัยจึงขอสนับสนุนให้ทุกครอบครัวสร้างความสัมพันธ์ภายในครอบครัว มอบความรักต่อผู้สูงอายุด้วยการกอดพ่อแม่ ดูแลตัดเล็บมือ เล็บเท้า การรดน้ำดำหัวหรือทำกิจกรรมร่วมกันด้วยการพาผู้สูงอายุไปทำบุญ ปฏิบัติธรรมที่วัด ชวนทำงานอดิเรก เช่น ปลูกต้นไม้ อ่านหนังสือ เล่นเกมฝึกสมอง เป็นต้น เพื่อให้ผู้สูงอายุเพลิดเพลินและมีความสุขกับทุกคนในครอบครัว อันเป็นการแสดงออกถึงความรักที่มีต่อผู้สูงอายุที่เป็นบุคคลสำคัญของครอบครัว นอกจากนี้ การดูแลเยี่ยมเยียนให้กำลังใจเครือญาติที่เป็นผู้สูงอายุติดบ้าน หรือติดเตียงในชุมชน ด้วยการปั่นจักรยานเยี่ยมบ้านถือเป็นกิจกรรมที่ดีในการดูแลส่งเสริมสุขภาพของตนเองได้อีกทางหนึ่งด้วย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook