เตือนภัย! น้ำในสระว่ายน้ำ พีเอชต่ำกว่า 5.5 เสี่ยงฟันกร่อน
กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เตือนน้ำในสระว่ายน้ำที่ไม่ได้คุณภาพ มีความเป็นกรดมากหรือ พีเอชต่ำกว่า 5.5 เสี่ยงฟันกร่อน แนะผู้ให้บริการสระว่ายน้ำใส่ใจดูแลคุณภาพน้ำและจัดการสิ่งแวดล้อมสระ ตามหลักสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อมตามข้อบังคับกรุงเทพมหานครหรือเทศบาลและท้องถิ่น ลดผลกระทบด้านสุขภาพของผู้ใช้บริการสระว่ายน้ำจากสารเคมีตกค้างและเชื้อโรค
นายแพทย์วชิระ เพ็งจันทร์ อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า ในช่วงหน้าร้อนโรงเรียนปิดเทอม ประชาชนนิยมไปคลายร้อนและพักผ่อน พาบุตรหลานไปว่ายน้ำตามสระสาธารณะที่เปิดบริการ สระของโรงแรม คอนโด สวนน้ำในสวนสนุกและห้างสรรพสินค้า ซึ่งประชาชนผู้ไปรับบริการควรใส่ใจว่า ผู้ประกอบการ และผู้ดูแลสระมีการดูแลเรื่องคุณภาพน้ำและสิ่งแวดล้อมของสระเพื่อให้ผู้ใช้บริการสระว่ายน้ำปลอดภัยจากโรคและสารเคมีที่ใช้ปรับปรุงคุณภาพน้ำ โดยที่ประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับที่ 5/2538 กำหนดให้การจัดตั้งสระว่ายน้ำเป็นกิจการค้าที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ซึ่งต้องได้รับอนุญาตจากหน่วยงานท้องถิ่นก่อนเปิดดำเนินกิจการและ ต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ หรือเงื่อนไขทางสุขลักษณะตามที่กฎหมายกำหนดไว้ ผู้ประกอบการหรือผู้ดูแลสระว่ายน้ำจึงต้องมีความรู้ ความเข้าใจในการใช้สารเคมีต่างๆ ในการปรับปรุงคุณภาพน้ำ เพราะหากมีสารเคมีตกค้างเกินกว่ามาตรฐานที่กำหนดอาจทำให้เกิดอันตราย ซึ่งในประกาศฯ ดังกล่าวได้กำหนดมาตรฐานด้านชีวภาพและเคมีของน้ำในสระว่ายน้ำ เช่น กำหนดความเป็นกรดด่างของน้ำ อยู่ที่ 7.2-8.4 เป็นต้น
ทั้งนี้ ผู้ประกอบการหรือผู้ดูแลสระว่ายน้ำต้องตรวจสอบคุณภาพน้ำ และแสดงผลให้ผู้ใช้บริการรู้ว่า มีการตรวจเฝ้าระวังอย่างสม่ำเสมอ หากผู้ประกอบการใช้สารประกอบคลอรีนที่ไม่ถูกต้องทำให้น้ำในสระมีความเป็นกรด ส่งผลให้เกิดฟันกร่อนในผู้ว่ายน้ำได้ ฟันกร่อนเป็นภาวะที่ผิวฟันหลุดหายไป มีอาการเสียวฟันเมื่อโดนน้ำหรือลม ในรายที่เป็นรุนแรงจะเห็นตัวฟันบางลงและสั้นลง ไม่สามารถเคี้ยวอาหารได้เพราะเสียวฟันอย่างมาก ผู้ประกอบการและผู้ดูแลสระว่ายน้ำต้องมีความรู้ที่ถูกต้องในการดูแลสุขลักษณะและปรับปรุงคุณภาพน้ำให้ได้มาตรฐาน ด้วยการทำความสะอาดเครื่องเล่นและอุปกรณ์ประจำสระว่ายน้ำทุกวัน ใช้เครื่องมือตรวจวัดปริมาณคลอรีนตกค้างและค่าความเป็นกรดด่างอย่างสม่ำเสมอ เพื่อสร้างความมั่นใจให้ผู้ใช้บริการ ส่วนผู้ใช้บริการ สระว่ายน้ำสามารถตรวจสอบคุณภาพน้ำในสระได้ ด้วยการสอบถามหรือตรวจดูข้อมูลของสระว่ายน้ำที่ไปใช้บริการเป็นประจำเพื่อความปลอดภัยด้วย