จริงหรือไม่? กินผักเยอะๆ เพิ่มสมรรถภาพทางเพศชาย
จากรายงานของ CDC หรือ ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา เปิดเผยข้อมูลที่หลายคนอาจจะคาดเดาได้อยู่แล้ว นั่นคือ “คนอเมริกันทานผักผลไม้ไม่เพียงพอ” คำว่า “เพียงพอ” ที่ว่านี้ กระทรวงเกษตรสหรัฐ หรือ USDA เคยแนะนำว่า ควรทานประมาณ 1.5 - 2 ถ้วยตวง แต่ปัจจุบันแนะนำอยู่ที่ 2-3 ถ้วยตวง
จากการวิจัยพบว่า เมืองที่คนกินผักมากที่สุดคือ วอชิงตันดีซี ส่วนเมืองที่กินผักน้อยคือในย่านแถบเวสต์เวอร์จิเนีย ซึ่งเป็นย่านมีอัตราคนเสียชีวิตเพราะมะเร็งสูงที่สุดอันดับสอง และสามของประเทศ หรือหากจะพูดก็คือ มีคนอเมริกันเพียง 1 ใน 10 เท่านั้น ที่กินอาหารที่มีคุณภาพเพียงพอต่อร่างกาย ผลงานวิจัยชิ้นนี้ยังศึกษาพบด้วยว่า ผู้หญิงกินผักมากกว่าผู้ชาย และวัยรุ่นหนุ่มสาว (Young adults) กินผักผลไม้น้อยกว่าช่วงวัยอื่นๆ
ก่อนหน้านี้เคยมีงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่เกี่ยวกับสุขภาพของท่านชาย ทำการวิจัยจากกลุ่มตัวอย่างชายวัยต่ำกว่า 40 ปี ที่เคยมีอาการหย่อนสมรรถภาพทางเพศ (ED) กับชายวัยต่ำกว่า 40 ปี ที่ไม่มีอาการในระดับที่จะนำไปสู่การหย่อนสมรรถภาพทางเพศ (ED) ก่อนสรุปว่า ประเด็นความต่างระหว่างคนหนุ่มสองกลุ่มนี้ คือวิถีชีวิต ไม่ว่าจะเป็นการสูบบุหรี่ การดื่มเหล้า การพักผ่อนไม่เพียงพอ และการกินที่ผิดสุขลักษณะ ซึ่งผลการวิจัยในลักษณะนี้ มักทำให้เราชี้ตัวผู้ก่อเหตุไปที่อาหารฟาสต์ฟูด ว่าเป็นต้นเหตุที่ทำให้คนหนุ่มเหล่านี้ ต้องเสื่อมสมรรถภาพก่อนวัยอันควร
แต่การการวิจัยใหม่ พบว่า สาเหตุสำคัญที่ส่งผลต่อการหย่อนสมรรถภาพ ไม่ใช่เพราะคนบริโภคอาหารฟาสต์ฟูดมากเกินไป แต่เพราะคนบริโภคสารตัวหนึ่งน้อยเกินไปต่างหาก ซึ่งสารตัวนั้นก็คือ ฟลาโวนอยด์ (Flavonoids)
ฟลาโวนอยด์ เป็นสารชนิดหนึ่งพบได้ในผักและผลไม้เกือบทุกชนิด รวมไปจนถึง แคโรทีนอยด์ (Carotenoids) ที่พบมากในผักและผลไม้ที่มีสีส้ม เหลือง แดง และเขียว
มีงานวิจัยมากมายที่ชี้ให้เห็นว่า การบริโภคฟลาโวนอยด์นั้น มีความสัมพันธ์กับอัตราการลดลงของโรคหลายโรค ไม่ว่าจะเป็นโรคอ้วน, โรคหัวใจและหลอดเลือด, โรคเบาหวาน, โรคมะเร็งบางชนิด รวมถึงโรคเกี่ยวกับความผิดปกติของระบบประสาท ซึ่งจะส่งผลให้อายุยืนยาวขึ้น
วารสารด้านการแพทย์อย่าง Journal of Sexual Medicine เอง ก็เคยตีพิมพ์งานวิจัยที่ระบุความเกี่ยวข้องระหว่างการกินมะเขือยาวกับความตื่นตัวของอวัยวะเพศชาย นอกจากนี้ในปี 2016 ก็ยังมีการวิจัยที่กล่าวว่า การบริโภค ฟลาวาโนน (Flavanones) แอนโทไซยานิน (Anthocyanins) และ ฟลาโวน (Flavones) 3 ใน 6 ประเภทสารประกอบสำคัญของกลุ่มฟลาโวนอยด์ สามารถช่วยลดความเสี่ยงของอาการหย่อนสมรรถภาพทางเพศในเพศชายอายุต่ำกว่า 70 ปีได้
นักวิจัยยังพบอีกว่า กลุ่มเพศชายที่บริโภคสารฟลาโวนอยด์น้อย มีแนวโน้มที่จะมีปัญหาหย่อนสมรรถภาพทางเพศมากขึ้น ส่วนผักผลไม้ที่แนะนำหากต้องการผลต่อร่างกายในด้านนี้โดยตรง ก็คือ พริกไทย มะเขือเทศ และมะเขือยาว รวมไปถึงผักชีฝรั่งด้วย
แม้ข้อสันนิษฐานที่ว่าสารฟลาโวนอยด์ส่งผลต่อสมรรถภาพทางเพศหรือไม่นั้น จะยังไม่สามารถระบุได้แน่นอนร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่รายงานผลวิจัยก็มีการกล่าวอย่างต่อเนื่องว่า สารฟลาโวนอยด์สามารถช่วยให้ระบบไหลเวียนโลหิตในร่างกายทำงานได้ดียิ่งขึ้น บางรายงานก็กล่าวว่า สารฟลาโวนอยด์ จะส่งผลดีต่อหัวใจและหลอดเลือด ซึ่งปัญหาการแข็งตัวของอวัยวะเพศนั้น ก็เป็นตัวชี้วัดอย่างดีถึงความบกพร่องของระบบหลอดเลือดระยะเริ่มต้น ซึ่งเพศชายสามารถสังเกตเห็นได้ตั้งแต่เนิ่นๆ
ถึงจะยังไม่ได้ยืนยันผลอย่างเป็นทางการ แต่การกินผักผลไม้ให้เพียงพอ ก็ย่อมปลอดภัยต่อสุขภาพและเสี่ยงน้อยกว่าการสูบบุหรี่ ดื่มเหล้า ติดยา หรือพักผ่อนไม่พอแน่ๆ