เตือนเผา′โฟม-พลาสติก′อันตรายรับก๊าซพิษ′สไตรีน-ไดออกซิน′
ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ประเทศไทยมีปริมาณขยะเกิดขึ้นกว่า 15 ล้านตันต่อปี แบ่งเป็นขยะที่เกิดขึ้นในกรุงเทพมหานคร ประมาณ 8,766 ตัน ในเขตเทศบาลเมืองและเมืองพัทยาประมาณ 16,620 ตัน และนอกเขตเทศบาลประมาณ 16,146 ตัน ขยะที่เกิดขึ้นในแต่ละวันส่วนใหญ่เป็นเศษอาหารและอินทรีย์สารร้อยละ 64 รองลงมาคือ ขยะมูลฝอยที่สามารถนำไปรีไซเคิลได้ ร้อยละ 30 แต่กลับมีการนำไปใช้ประโยชน์หรือรีไซเคิลเพียง 3.91 ล้านตัน คิดเป็นร้อยละ 26 หรือแค่ 1 ใน 4 เท่านั้น และที่สำคัญยังมีการกำจัดขยะแบบไม่ถูกต้อง เช่น เทกองกลางแจ้ง การเผาในที่โล่ง อยู่ถึงร้อยละ 81 ของสถานที่ที่มีการกำจัดขยะ
ทั้งนี้ การเผาขยะในบริเวณบ้านเป็นวิธีการกำจัดขยะที่ค่อนข้างพบมากในพื้นที่ชนบท ขยะที่นำมาเผาส่วนใหญ่เป็นกระดาษ เศษกิ่งไม้ใบไม้ และพลาสติก เมื่อเผาแล้วจะปล่อยสารหลายชนิดออกมาโดยไม่มีกระบวนการบำบัดแต่อย่างใด ทำให้มลพิษแพร่กระจายเข้าไปในบ้านและในบรรยากาศ นำไปสู่การปนเปื้อนแหล่งน้ำและดิน ซึ่งประชาชนจะได้รับสารพิษผ่านการสูดดม การดื่มน้ำและรับประทานอาหารที่ปนเปื้อนด้วย
ศ.นพ.รัชตะ กล่าวต่อว่า สารพิษที่เกิดขึ้นจากการเผาขยะประเภทแก้วโฟมหรือถ้วยโฟม โฟมกันกระแทก กล่องโฟมบรรจุอาหาร จะทำให้เกิดการปล่อยก๊าซสไตรีน (Styrene) สามารถถูกดูดซึมผ่านผิวหนังและปอดได้ หากได้รับสารสไตรีนในระดับที่สูงจะทำอันตรายต่อตา และถ้าได้รับสไตรีนในระยะยาวจะมีผลต่อระบบประสาทส่วนกลาง ทำให้ปวดหัว อ่อนเพลีย อ่อนแอ และเกิดภาวะซึมเศร้า
ส่วนการเผาไหม้พลาสติกประเภทพีวีซีทำให้เกิด การปล่อยก๊าซไดออกซิน เป็นสารพิษต่อระบบต่างๆ ในร่างกายของคน เป็นสารก่อมะเร็ง และรบกวนการทำงานของระบบฮอร์โมน สามารถสะสมในร่างกายและถ่ายทอดจากแม่ไปสู่ลูกได้ผ่านทางรก
ทางด้าน ดร.นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า การเผาขยะและพลาสติกในบริเวณบ้าน เป็นวิธีที่ง่าย แต่เป็นวิธีที่ไม่ได้คำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ มวลสารที่เกิดขึ้นจากการเผาสามารถเพิ่มความเสี่ยงของการเป็นโรคหัวใจ โรคระบบทางเดินหายใจ เช่น โรคหอบหืด และเป็นสาเหตุของการเกิดผื่น มีอาการคลื่นไส้ ปวดหัว ทำลายระบบประสาท ตับ ไต ระบบสืบพันธุ์ ดังนั้น ประชาชนควรลดการปล่อยมลพิษ
1) ห้ามเผาพลาสติกและขยะภายในบ้านหรือในบริเวณบ้าน ซึ่งจะทำให้เกิดสารพิษที่เป็นผลกระทบต่อสุขภาพแก่คนในครอบครัว และผู้ที่อาศัยอยู่ในบริเวณใกล้เคียง อีกทั้งเป็นการสร้างความเดือดร้อนรำคาญให้แก่ผู้อื่น
2) คัดแยกขยะ โดยเฉพาะขยะประเภทพลาสติก และขยะที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ ออกจากขยะที่ต้องนำไปกำจัด โดยอาจนำไปขายให้กับ ผู้ที่รับซื้อหรือนำไปใช้ใหม่
3) ลดการใช้ถุงพลาสติก ไม่ใช้ภาชนะบรรจุอาหารประเภทกล่องโฟม หรือเลี่ยงการใช้บรรจุภัณฑ์ที่มีพีวีซีเป็นองค์ประกอบ ซึ่งปล่อยสารพิษได้หากนำมาเผา
4) ซื้อสินค้าที่ใช้บรรจุภัณฑ์ที่มีความปลอดภัยและสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ เช่น แก้ว ขวดแก้ว เป็นต้น
5) ขยะอินทรีย์ที่เกิดขึ้น เช่น เศษอาหาร เศษกิ่งไม้ใบไม้สามารถนำมาหมักทำปุ๋ย เพื่อลดการกำจัดด้วยการเผาในบริเวณบ้าน