ข้อดี-ข้อเสียของแต่ละท่านอน นอนท่าไหนหลับสบายที่สุด

ข้อดี-ข้อเสียของแต่ละท่านอน นอนท่าไหนหลับสบายที่สุด

ข้อดี-ข้อเสียของแต่ละท่านอน นอนท่าไหนหลับสบายที่สุด
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ปกติชอบนอนท่าไหนกันคะ? แล้วหลับสบายหรือเปล่า? ว่ากันว่าท่านอนสามารถบอกลักษณะนิสัยของคนเราได้ แต่นอกจากนั้นท่านอนยังอาจเป็นตัวกำหนดคุณภาพในการนอน รวมถึงคุณภาพชีวิตในแต่ละวันที่เหลือได้ด้วย เพราะหากนอนไม่ถูกท่าตลอดทั้งคืน ความปวดเมื่อยย่อมตามมาจนอาจรบกวนการใช้ชีวิตไปตลอดทั้งวันได้

แล้วแต่ละท่านอนมีข้อดี ข้อเสียอย่างไร เราควรเลือกนอนท่าไหน มาดูกันเลยดีกว่า

 

  1. นอนหงาย

    1

นอนหงาย คือการนอนเอาแผ่นหลังแนบไปที่นอน เหยียดขาตรง แขนแนบข้างลำตัว หากคุณไม่มีปัญหาสุขภาพอะไรเป็นพิเศษ ท่านอนหงายดูจะเป็นท่านอนที่เหมาะสมที่สุด เพราะจะช่วยให้สรีระร่างกายอยู่ในแนวตรงไปตลอดทั้งคืน จึงป้องกันอาการปวดเมื่อยคอ และหลังได้ นอกจากนี้ใครที่เป็นผู้ป่วยโรคไหลย้อน รวมถึงใครที่อยากดูแลผิวพรรณให้เต่งตึงไร้ริ้วรอย รักษาหน้าอกให้อยู่ทรงสวย ต้องเลือกท่านอนหงายนี่แหละ แต่สรีระของคนที่มีสะโพกอาจทำให้เกิดอาการปวดหลังได้ เพราะมีช่องว่างระหว่างแผ่นหลังส่วนล่างเมื่อนอนแนบไปกับที่นอน ดังนั้นจึงแนะนำให้หาหมอนบางๆ มาหนุนบริเวณขาเล็กน้อย เพื่อให้แผ่นหลังแนบกับที่นอนได้สนิทมากขึ้น รู้สึกสบายมากขึ้น

 

  1. นอนตะแคง

    2

ท่านอนตะแคง คือการนอนเอาด้านข้างลำตัวแนบกับที่นอน ไม่ว่าจะเป็นด้านซ้ายหรือด้านขวา ตำแหน่งของแขน และขาแตกต่างกันไปตามแต่ละคน เป็นท่านอนอีกหนึ่งท่าที่หลายคนชอบ เพราะช่วยรักษาแนวกระดูกสันหลัง และคอให้ตรงตลอดทั้งคืนได้เช่นกัน นอกจากนี้ยังช่วยลดอาการกรน ภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ และเหมาะสำหรับผู้ป่วยโรคกรดไหลย้อน และหญิงตั้งครรภ์อีกด้วย แต่ใบหน้าด้านที่แนบหมอนอาจมีความเสี่ยงในการเกิดริ้วรอยได้ และอาจจะต้องใช้หมอนบางๆ คั่นระหว่างเข่าทั้งสองข้าง เพื่อช่วยลดแรงกดบริเวณสะโพก ป้องกันอาการเมื่อยหลังได้

5

วิธีนอนหงาย และนอนตะแคงที่ถูกต้อง

 

  1. นอนขดตัว

    3

การนอนขดตัว คือท่านอนตะแคงที่งอเข่าขึ้นมาชิดหน้าอก และก้มหน้า แม้ว่าจะดูว่าเป็นท่านอนที่ดูไม่ปกตินัก แต่ท่านี้ช่วยลดอาการนอนกรน และเหมาะกับหญิงตั้งครรภ์ เพราะช่วยให้เลือดไหลเวียนไปสู่ทารกได้ดี และช่วยลดแรงกดของมดลูกลงสู่บริเวณตับได้ ท่านอนนี้ยังเหมาะสำหรับผู้ป่วยอัลไซเมอร์ หรือผู้ป่วยพาร์กินสันด้วย เพราะมีงานวิจัยสนับสนุนว่าการนอนขดตัวช่วยให้ของเสียจากสมองที่ทำให้เกิดโรคในระบบประสาทถูกกำจัดออกไปได้ดีกว่าการนอนท่าอื่นๆ แต่ท่านอนขดตัวอาจเสี่ยงมีอาการปวดหลัง ปวดคอ เกิดริ้วรอยบใบหน้า รวมไปถึงหน้าอกหย่อนคล้อยด้วย และข้อควรระวังคือ ไม่ควรขดตัวจนหลัง และคอให้งอจนเกินไป เพื่อให้หายใจได้สะดวกยิ่งขึ้น

 

  1. นอนคว่ำ

    4

การนอนคว่ำ คือการนอนเอาลำตัวด้านหน้าแนบไปกับที่นอน โดยเอียงใบหน้าไปด้านข้างแนบกับหมอน แม้ว่าจะเป็นท่านอนที่เหมาะกับคนที่นอนกรน เพราะเป็นท่าที่ช่วยให้หายใจได้ค่อนข้างสะดวก แต่ก็เป็นท่านอนที่อาจเสี่ยงต่อการนอนหลับไม่สนิทตลอดทั้งคืน เพราะอาจทำให้ไม่สบายตัวนัก โดยเฉพาะคอ และหลัง อาจต้องขยับร่างกายเปลี่ยนท่านอนบ่อยๆ นอกจากนี้ยังเสี่ยงเกิดริ้วรอยบนใบหน้า รวมถึงหน้าอกหย่อนคล้อยได้ ดังนั้นอาจใช้หมอนนุ่มๆ ที่รับกับสรีระของตัวเองเพื่อช่วยให้การนอนท่านี้สบายมากยิ่งขึ้น

 

การเลือกท่านอนให้เหมาะสมกับสุขภาพของตัวเอง นอกจากลองเลือกท่านอนที่ช่วยแก้ปัญหาสุขภาพตามที่กล่าวไปแล้ว ก็ยังสามารถลองเปลี่ยนท่านอนไปเรื่อยๆ เพื่อหาท่านอนที่เหมาะสมได้ด้วยตัวเองได้ เพราะท่านอนอาจจะขึ้นอยู่กับสรีระของแต่ละคน เช่น ผู้หญิงที่เนื้อสะโพกเยอะ (ก้นงอน) อาจจะนอนตะแคงข้างสบายว่านอนหงาย อย่างไรก็ตามหากมีปัญหาในการนอน ไม่ว่าจะนอนท่าไหนก็ไม่สบาย นอนไม่หลับ หลับไม่สนิท เกิดภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ นอนละเมอ หรือปัญหาอื่นๆ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อหาทางแก้ไขต่อไป

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook