เด็กเล็กควรระวัง 4 โรคร้ายหน้าร้อน ช่วงปิดเทอม

เด็กเล็กควรระวัง 4 โรคร้ายหน้าร้อน ช่วงปิดเทอม

เด็กเล็กควรระวัง 4 โรคร้ายหน้าร้อน ช่วงปิดเทอม
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เมื่อเข้าหน้าร้อน เด็กๆ ท่องเที่ยวช่วงปิดเทอม ร่วมกับอากาศที่เปลี่ยนแปลงเร็ว ถ้าไม่ได้พักผ่อนและดูแลสุขอนามัย เชื้อโรคก็เข้าสู่ร่างกายได้ง่ายขึ้น เด็กเล็กซื่งมีระบบภูมิคุ้มกันไม่แข็งแรงเท่าผู้ใหญ่ จึงมีโอกาสเจ็บป่วยได้ง่าย การดูแลสุขภาพจึงเป็นสิ่งสำคัญ พ่อแม่ผู้ปกครองควรใส่ใจให้มาก เพื่อป้องกันโรคที่อาจเกิดขึ้นกับบุตรหลานที่ท่านรัก

โรคในเด็กที่พบได้บ่อยในช่วงหน้าร้อนแบ่งออกเป็น 4 กลุ่มใหญ่ คือ

1. โรคระบบทางเดินอาหาร เป็นโรคที่พบบ่อยโดยเฉพาะในช่วงหน้าร้อน อากาศอบอ้าว อาหารบูดเสียได้ง่าย เด็กเล็กมีระบบภูมิคุ้มกันในลำไส้ไม่ได้แข็งแรงนัก หากไปรับประทานอาหารผิดสำแดงหรือไม่สะอาด ทำให้เกิดการติดเชื้อได้ง่าย เช่น โรคลำไส้อักเสบ อาหารเป็นพิษ ที่มีสาเหตุมาจากเชื้อโรค ไม่ว่าจะเป็นเชื้อแบคทีเรียและไวรัส ลักษณะอาการมีตั้งแต่คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย ถ่ายเหลว ปวดท้อง ในเด็กเล็กๆ หากถ่ายเหลวมากทำให้เกิดภาวะขาดน้ำได้ง่าย เนื่องจากรับประทานอาหารไม่ได้ร่วมกับเบื่ออาหาร อาเจียน สังเกตได้จาก ปัสสาวะสีเข้ม เล่นน้อยลง ถ้าปล่อยไว้ไม่รีบรักษา อาจช็อกถึงขั้นหมดสติได้ ในบางรายอาการค่อยเป็นค่อยไปไม่เฉียบพลัน ผู้ปกครองไม่ทันได้สังเกต เห็นเพียงแค่อาเจียน ถ่ายบ้างเล็กน้อย คิดว่าคงหายได้เอง ที่สำคัญคือไม่ได้ดื่มน้ำเกลือแร่ที่เพียงพอ ให้ดื่มเพียงแค่น้ำเปล่า ซึ่งไม่สามารถชดเชยเกลือแร่ที่สูญเสียไปได้ ทำให้เด็กอ่อนเพลีย ซึมลงเรื่อยๆ ดังนั้นผู้ปกครองควรสังเกตอาการเด็ก หากมีอาการอ่อนเพลีย ซึม เล่นน้อยลง ควรรีบมาปรึกษาแพทย์ ทางที่ดีควรพามาพบแพทย์ก่อนมีอาการซึม หรือมีไข้สูง วิธีการป้องกันคือ เลือกรับประทานอาหารและเครื่องดื่มที่สะอาด ปรุงสุกใหม่ๆ หลีกเลี่ยงการรับประทานน้ำแข็งที่นิยมในช่วงอากาศร้อนซึ่งอาจปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรียได้ง่าย

2. โรคระบบทางเดินหายใจ ในช่วงหน้าร้อน อากาศมีการเปลี่ยนแปลงเร็ว อากาศร้อนๆ ภายนอก เดินเข้าห้างสรรพสินค้าเจออากาศเย็นทันที ร่วมกับสถานที่มีคนจำนวนมากแออัด อาจทำให้เด็กติดเชื้อทางเดินหายใจเกิดโรคต่างๆ ได้ เช่น ไข้หวัดธรรมดา ตลอดจนไข้หวัดใหญ่ ซึ่งเป็นโรคที่พบได้ตลอดปีในประเทศไทย แม้แต่ในหน้าร้อนก็ยังเป็นได้ ถือเป็นโรคที่ติดต่อง่ายอีกโรคหนึ่ง ยิ่งในเด็กเล็กมักมีอาการรุนแรงได้มากกว่าในวัยอื่น และมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น ปอดอักเสบ ผู้ปกครองที่พาเด็กไปเที่ยวนอกบ้านอาจเจอการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ อากาศร้อนๆ พาไปลงสระว่ายน้ำทันที หรือเข้าไปในลานไอซ์สเกตที่อากาศเย็นจัดๆ ทันที พอเดินออกมาเจออากาศร้อนอีกครั้ง ภูมิคุ้มกันของเด็กยังไม่ค่อยแข็งแรงเท่าผู้ใหญ่ ทำให้เจ็บป่วยได้ง่าย วิธีป้องกันคือ ไม่ปรับสภาพแวดล้อมแบบทันที ควรนั่งพักให้ร่างกายค่อยๆ ปรับอุณหภูมิก่อน และที่สำคัญคือ การล้างมือให้สะอาด หมั่นทำเป็นกิจวัตร

3. โรคผิวหนัง เมื่อเหงื่อออกมากเปียกเสื้อผ้าที่สวมใส่ เกิดความอับชื้น ตามซอกข้อพับผิวหนังต่างๆ  ยิ่งอุณหภูมิสูงยิ่งทำให้เกิดผดผื่นได้ง่าย หรือเด็กๆ มักชอบออกไปวิ่งเล่นกลางแจ้ง ผิวหนังสัมผัสกับสิ่งสกปรก เกิดผิวหนังอักเสบ ผู้ปกครองควรดูแลความสะอาดหรือหมั่นชำระล้างสิ่งสกปรกออกจากผิวหนัง เพื่อช่วยลดการเกิดโรคผิวหนัง และโดยเฉพาะอย่างยิ่งแดดในช่วงหน้าร้อนค่อนข้างแรง หากเล่นตากแดดอาจทำให้ผิวหนังเกิดการแพ้แดด เนื่องจากผิวเด็กนั้นบอบบางและไวต่อแสงแดด อาจทำให้ถูกเผาไหม้ได้ง่ายกว่าผู้ใหญ่ อาการเมื่อได้รับแสงแดดมากๆ จะเกิดอาการแสบร้อนผิว เป็นผื่นแดง ผิวหนังไหม้ แต่อาการเหล่านี้สามารถลดลงได้ อาจนำผ้าเย็นมาประคบผิวจนอาการแสบร้อนบรรเทาลง หมั่นใช้ครีมกันแดด และระวังบุตรหลานให้หลีกเลี่ยงการออกไปวิ่งเล่นกลางแสงแดดจัด

4. โรคพิษสุนัขบ้า เป็นโรคที่พบไม่บ่อยหากแต่อันตรายถึงชีวิต สถิติระบาดวิทยาของประเทศไทย พบจำนวนผู้ป่วยต่อปีไม่เกิน 10 ราย ข้อมูลปี 2561 มีจำนวนผู้ป่วยโรคพิษสุนัขบ้าสูงมากขึ้น นับถึงสิ้นเดือนมีนาคม 61 มีผู้ป่วยเสียชีวิตแล้ว 7 ราย สาเหตุจากในช่วงอากาศร้อน สัตว์มีความดุร้ายและหงุดหงิดได้ง่ายขึ้น เมื่อเด็กไปเล่นหรือไปแหย่หมาแมวเหล่านั้น ทำให้มีโอกาสถูกสัตว์กัดได้ง่าย เมื่อไหร่ที่สัตว์กัดอย่าไว้วางใจ ควรรีบทำความสะอาดแผลเบื้องต้น ล้างแผลด้วยน้ำสะอาดหรือน้ำสบู่ ทายาฆ่าเชื้อเบตาดีน หรือแอกอฮอล์ แล้วรีบมาพบแพทย์ เพราะต้องประเมินบาดแผลในการให้วัคซีนและเซรุ่มร่วมด้วย เพราะสัตว์เลี้ยงของเราไม่ได้เลี้ยงอยู่ในบ้านตลอด อาจมีการปล่อยออกไปนอกบ้านบ้าง และถึงแม้จะฉีดวัคซีนแล้วแต่บางทีไปโดนสัตว์อื่นกัดมาก็ต้องนึกไว้เสมอว่าไม่ปลอดภัย เพราะหากป่วยเป็นโรคพิษสุนัขบ้าแล้วโอกาสเสียชีวิตสูง

การป้องกันในเรื่องสุขอนามัยให้กับเด็กๆ เป็นสิ่งจำเป็น ควรสอนให้เด็กๆ ล้างมือ ทำให้เป็นกิจวัตร หลังจากไปเล่นหรือเข้าห้องน้ำ เวลารับประทานอาหารให้พยายามใช้ช้อน ผู้ปกครองอย่าไว้วางใจว่าเด็กเกิดอาการแล้วจะหายได้เอง ทางที่ดีควรพาบุตรหลานมาพบแพทย์ เพื่อเข้ารับการรักษาและตรวจอาการให้แน่ใจ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook