อาการ “ปวดหัว” บอกโรคอะไรเราบ้าง?
อาการปวดหัว นอกจากจะส่งผลเสียต่อร่างกายแล้ว ยังส่งผลให้คุณภาพชีวิตแย่ลงอีกด้วย การปวดหัว เกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น การเจ็บป่วย ความเครียด การอดอาหาร พักผ่อนไม่เพียงพอ การออกกำลังกายมากไป สภาพแวดล้อม เช่น อากาศ แสงสว่าง
อาการปวดหัวแบ่งเป็นหลายประเภท โดยแต่ละประเภทมีสาเหตุของโรค อาการ และการรักษาหรือการใช้ยาเบื้องต้นที่แตกต่างกันไป ดังนั้นการสังเกตตนเองว่ามีอาการปวดหัวแบบไหน ถือเป็นสิ่งสำคัญอย่างมาก ซึ่งอาการปวดหัวที่พบบ่อย ได้แก่
- ปวดศีรษะจากความเครียด
พบบ่อยสุด ลักษณะการปวด คือ กด บีบ หรือรัดแน่นทั้ง 2 ข้าง กินยาแก้ปวดธรรมดา เช่น ยาพาราเซตามอล หรือยาแก้อักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ได้ เช่น ยาไอบูโพรเฟน แต่หากปวดบ่อกว่า 15 วันต่อเดือน นาน 6 เดือน หรือนานกว่า ควรปรึกษาแพทย์
- ปวดศีรษะไมเกรน
พบในผู้หญิงมากกว่า มีความสัมพันธ์กับรอบเดือน และมีปัจจัยกระตุ้น เช่น แสงจ้า เสียงดัง มักปวดหัวข้างเดียวแบบตุบ ๆ อาจมีอาการคลื่นไส้ หรืออาเจียนร่วมด้วย ปวดนาน 4-72 ชั่วโมง อาจใช้ยา พาราเซตามอล หรือยาแก้อักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ หากไม่ได้ผลควรปรึกษาแพทย์
- อื่น ๆ
- ปวดหัว แบบคลัสเตอร์ ปวดหัวเป็นชุด ๆ มักปวดรุนแรงเวลาเดิมของทุกวัน ร่วมกับปวดบริเวณเบ้าตา อาจมีตาแดง หรือน้ำตาไหลร่วมด้วย ควรปรึกษาแพทย์
- ปวดหัว จากไซนัสอักเสบ ปวดหัวร่วมกับมีอาการไซนัส ปวดบริเวณโหนกแก้ม และหน้าผาก ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรักษาอาการไซนัสอักเสบที่เป็นต้นเหตุ และอาจใช้ยาพาราเซตามอลเพื่อบรรเทาอาการปวด
- ปวดหัว จากฮอร์โมน เกิดจากฮอร์โมนที่มีการเปลี่ยนแปลงของเพศหญิง เช่น ช่วงตั้งครรภ์ ช่วงที่กินยาคุมกำเนิด หรือช่วงวัยทอง ใช้ยาแก้อักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์เพื่อบรรเทาอาการปวด และอาจปรึกษาแพทย์เพื่อใช้ยาป้องกัน
หากรู้สึกว่าปวดหัวมากกว่าปกติ ไม่ควรทานยาเพียงอย่างเดียว ควรรีบมาพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุของอาการปวดหัวให้ชัดเจน และทำการรักษาอย่างตรงจุดจะดีที่สุด