5 สัญญาณอันตราย “เส้นเลือดในสมองตีบ”

5 สัญญาณอันตราย “เส้นเลือดในสมองตีบ”

5 สัญญาณอันตราย “เส้นเลือดในสมองตีบ”
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

มีอยู่ไม่กี่โรคที่สามารถคร่าชีวิตของเรา หรือคนที่เรารักไปได้ภายในไม่กี่วินาที หนึ่งในนั้นอาจจะเป็นโรคหัวใจวาย หลอดเลือดสมองแตก หรือโรคอื่นๆ ที่ทำให้ระบบการทำงานของหัวใจ หรือระบบทางเดินหายใจล้มเหลวเฉียบพลัน แต่อีกหนึ่งโรคที่อันตรายไม่แพ้กัน และยังสามารถคร่าชีวิตเราไปได้ภายในเวลาไม่นาน คือ “เส้นเลือดในสมองตีบ”

อ่านต่อ >> "โจอี้ บาซู" เส้นเลือดในสมองตีบ ป่วยอัมพาตซีกขวาหยุดนิ่ง แพทย์ชี้หายเป็นปกติยาก

เส้นเลือดในสมองตีบ คืออะไร?

เส้นเลือดในสมองตีบ เป็นความผิดปกติของหลอดเลือดสมองอย่างหนึ่ง เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคหลอดเลือดสมอง สิ่งที่ทำให้เส้นเลือด หรือหลอดเลือดตีบ คือการที่มีลิ่มเลือดเข้าไปอุดตันในเส้นเลือดระหว่างที่เลือดกำลังไหลไปตามกระแสเลือดเข้าสู่สมอง หรืออาจจะมีลิ่มเลือดก่อตัวขึ้นในหลอดเลือดสมอง และขยายใหญ่ขึ้นจนอุดตันเส้นเลือดในสมอง หรือทำให้เส้นเลือดในสมองตีบจนเลือดไหลเวียนได้ไม่สะดวก นอกจากนี้ยังอาจเกิดจากการสะสมของไขมันในเส้นเลือด ทำให้หลอดเลือด หรือเส้นเลือดตีบแคบลง มีความยืดหยุ่น และมีประสิทธิภาพในการลำเลียงเลือดลดลง เหมือนท่อน้ำที่ตันจากเศษอาหาร

 

ปัจจัยเสี่ยงของเส้นเลือดในสมองตีบ

- อายุที่มากขึ้น ทำให้หลอดเลือดเสื่อมสภาพลงไปด้วย ผิวชั้นในของผนังหลอดเลือดด้านในอาจจะหนา หรือแข็งขึ้นจากการที่มีไขมัน หรือหินปูนมาเกาะ ทำให้รูในเส้นเลือดแคบลง เลือดก็ไหลเวียนได้น้อยลง

- เพศชาย มีความเสี่ยงต่อโรคเส้นเลือดในสมองตีบ รวมไปถึงโรคในตระกูลหลอดเลือดสมองมากกว่าผู้หญิง

- อยู่ในภาวะพบการแข็งตัวของเลือดเร็วกว่าปกติ ทำให้มีความเสี่ยงของการที่เม็ดเลือดจับตัวกัน หรือเกิดลิ่มเลือดได้ง่ายกว่าคนทั่วไป

- ความดันโลหิตสูง เป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญของผู้ป่วยเส้นเลือดในสมองตีบ

- เบาหวาน เป็นสาเหตุที่ทำให้หลอดเลือดแข็งทั่วร่างกาย หากเกิดอาการหลอดเลือดแข็งที่สมอง ก็จะมีภาวะเสี่ยงที่จะเกิดโรคเส้นเลือดในสมองอุดตัน และโรคหลอดเลือดสมองอื่นๆ มากกว่าคนทั่วไปถึง 2-3 เท่า

- ไขมันในเลือดสูง เป็นปัจจัยที่สำคัญของโรคเส้นเลือดในสมองตีบ เพราะอยู่ในภาวะไขมันสะสมอยู่ในผนังหลอดเลือดมากเกินไป จนทำให้เข้าไปกีดขวางการลำเลียงเลือดเข้าสู่สมอง

- โรคหัวใจ เช่น ลิ้นหัวใจผิดปกติ หรือหัวใจเต้นผิดจังหวะ อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดลิ่มเลือด และอาจเข้าไปอุดตันที่เส้นเลือดในสมอง จนทำให้สมองขาดเลือดได้

- สูบบุหรี่ เพราะนิโคติน และคาร์บอนมอนอกไซด์ทำให้ปริมาณออกซิเจนลดลง เป็นตัวทำลายผนังหลอดเลือด ทำให้ผนังหลอดเลือดแข็งตัว เพียงแค่สูบบุหรี่ทำให้มีความเสี่ยงในการเป็นโรคที่เกี่ยวกับหลอดเลือดสมองมากถึง 3.5 %

- ยาคุมกำเนิด ผู้หญิงที่ใช้ยาคุมกำเนิดที่มีฮอร์โมนเอสโตรเจนสูงเป็นเวลาติดต่อกัน อาจมีความเสี่ยงในการเป็นโรคหลอดเลือดสมองมากกว่าผู้หญิงที่ไม่ได้ใช้ยาคุมกำเนิด

- โรคซิฟิลิส เป็นสาเหตุของอาการหลอดเลือดอักเสบ และหลอดเลือดแข็ง

- ขาดการออกกำลังกายอย่างพอเพียง และเหมาะสม

สัญญาณอันตราย “เส้นเลือดในสมองตีบ”

  1. มีอาการชา หรืออ่อนแรงที่ใบหน้า และ/หรือบริเวณแขนขาครึ่งซีกของร่างกาย

  2. พูดไม่ชัด ปากเบี้ยว ขยับปากได้ไม่ปกติ น้ำลายไหล กลืนลำบาก
  3. ปวด หรือเวียนศีรษะเฉียบพลัน

  4. ตาพร่ามัว มองเห็นภาพซ้อน หรือเห็นเพียงครึ่งซีก หรืออาจจะตาบอดข้างเดียวเฉียบพลัน

  5. เดินเซ ทรงตัวลำบาก

อาการเหล่านี้อาจเกิดเพียงชั่วคราวแล้วหายไป อาจจะเกิดขึ้นหลายครั้งเป็นๆ หายๆ หรืออาจจะมีอาการตอนที่หลอดเลือดอุดตันจนมีเลือดไปหล่อเลี้ยงสมองไม่เพียงพอกะทันหัน จนทำให้สมองขาดเลือดถาวร ดังนั้นหากมีสัญญาณตามอาการดังกล่าวแม้เพียงครั้งเดียว ก็ควรพบแพทย์เพื่อตรวจร่างกายอย่างละเอียดโดยทันที เพราะหากไม่ถึงชีวิต ก็อาจมีความเสี่ยงเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาตได้เช่นกัน

 

การรักษาโรคเส้นเลือดในสมองตีบ

แพทย์อาจทำการสั่งยาสลายลิ่มเลือดให้ทาน เพื่อช่วยให้เลือดไหลเวียนได้อย่างสะดวกมากยิ่งขึ้น วิธีนี้จะได้ผลดีกับผู้ป่วยที่มีอาการแล้วรีบมาพบแพทย์ภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมง (ไม่เกิน 4.5 ชั่วโมง) แต่หากถึงขั้นเส้นเลือดในสมองปริ หรือแตกจนเลือดออก แพทย์อาจพิจารณาการผ่าตัด เพื่อป้องกันความเสียหายต่อสมองที่อาจเกิดขึ้นเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงของความดันโลหิต

 

วิธีป้องกันโรคเส้นเลือดในสมองตีบ

  1. ตรวจสุขภาพประจำปีเพื่อค้นหาปัจจัยเสี่ยงก่อนเกิดอาการ

  2. ควบคุมระดับความดันโลหิต ปริมาณไขมัน และน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติตลอดเวลา

  3. ควบคุมอาหาร โดยลดอาหารรสเค็ม หวาน และมัน

  4. ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อย 3-4 วันต่อสัปดาห์ และอย่างน้อย 30 นาทีต่อครั้ง

  5. งดการสูบบุหรี่ และดื่มแอลกอฮอล์

  6. หากมีอาการตามที่กล่าวเอาไว้ใน “สัญญาณอันตราย เส้นเลือดในสมองตีบ” ควรรีบพบแพทย์โดยเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้

 

>> "ตีบ ตัน แตก" อันตรายจากโรคหลอดเลือดสมอง

>> 10 สิ่งควรรู้เกี่ยวกับ “ความดันโลหิตสูง” สาเหตุโรคหัวใจ-ไต-หลอดเลือดสมอง

>> จริงหรือไม่? อาบน้ำผิดวิธี เสี่ยงเส้นเลือดในสมองแตกในห้องน้ำ

>> วิธีปฐมพยาบาลผู้ป่วย "หลอดเลือดสมองแตก

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook