“พยาธิในอาหาร” มีกี่ชนิด? ปนเปื้อนในอาหารชนิดใดบ้าง?
หลายครั้งหลายหนที่เราอ่านข่าว หรือเห็นโพสต์ในโซเชียลมีเดียว ถึงสิ่งแปลกปลอมที่เข้าใจกันว่าเป็น “พยาธิ” ในอาหารที่เราทานเข้าไป ส่วนใหญ่มีลักษณะเป็นเส้นๆ ที่เราไม่รู้ว่ามันคืออะไร แต่ก็สันนิษฐานว่าเป็นพยาธิเอาไว้ก่อน เพราะมีความเสี่ยงที่อาหารที่เราทานจะมีพยาธิอยู่ในนั้น แต่ที่จริงแล้วพยาธิในอาหารมีกี่ชนิด อยู่ในอาหารอะไรบ้าง แล้วอันตรายต่อร่างกายของเรามากน้อยแค่ไหนหากเราเผลอทานเข้าไปในร่างกาย Sanook! Health มีคำตอบจาก สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย. มาฝากกันค่ะ
พยาธิที่พบในอาหาร มีกี่ชนิด พบในอาหารชนิดใดบ้าง
- พยาธิใบไม้ตับ
พยาธิใบไม้ตับ พบในอาหารที่ทำจากปลาน้ำจืดที่ไม่สุก เช่น ปลาร้าดิบ ส้มปลา เป็นต้น
- พยาธิตัวตืด
พยาธิตัวตืด พบในเนื้อหมู วัว ที่ปรุงไม่สุก สามารถมองเห็นตัวอ่อนของพยาธิตัวตืด ซึ่งมีลักษณะเป็นเม็ดสาคู หรือผักสดที่ล้างไม่สะอาดและมีไข่พยาธิปนเปื้อน
- พยาธิไส้เดือน และพยาธิแส้ม้า
พยาธิไส้เดือน และพยาธิแส้ม้า พบในผักผลไม้ที่ล้างไม่สะอาด อาหารไม่สะอาดปนเปื้อนไข่พยาธิ มีแมลงวันตอม หรือหยิบของที่ตกบนพื้นดินเข้าปาก
- พยาธิตัวจี๊ด
พยาธิตัวจี๊ด พบในเนื้อสัตว์ที่ปรุงไม่สุก เช่น ปลา ไก่ กบ เป็นต้น
- พยาธิอะนิซาคิส
พยาธิอะนิซาคิส พบในอาหารประเภทปลาทะเลที่ไม่สุก ปลาดิบ
วิธีหลีกเลี่ยงพยาธิจากอาหาร
- เลือกซื้ออาหารที่สดใหม่สะอาด หากเป็นเนื้อสัตว์ต้องสังเกตดูว่ามีตัวอ่อนพยาธิซึ่งมีลักษณะเป็นเม็ดสาคูปนเปื้อนหรือไม่ และไม่หยิบของที่ตกบนพื้นแล้วเข้าปาก
- หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารดิบ หรือทำให้สุกด้วยความร้อนที่ไม่เพียงพอ และการบีบมะนาวไม่มีผลในการฆ่าตัวอ่อนพยาธิ เพียงแค่ทำให้เนื้อสัตว์เปลี่ยนสีเท่านั้น
- ผักสดหากจะรับประทานดิบ ๆ ควรจะล้างด้วยน้ำสะอาดหลาย ๆ ครั้ง
- ล้างมือให้สะอาดก่อนทำอาหารและรับประทานอาหาร
ยาถ่ายพยาธิจำเป็นหรือไม่?
หลายคนคิดว่าน่าจะทานอาหารที่มีพยาธิเข้าไปในร่างกายบ้างไม่มากก็น้อย อาจจะด้วยชอบทานอาหารกึ่งสุกกึ่งดิบอยู่บ่อยๆ หรือโดนเพื่อนแซวว่าทานเท่าไรก็ไม่อ้วน เพราะมีพยาธิอยู่ในท้อง จึงมีความคิดที่จะหายาถ่ายพยาธิมาทาน
อย่างไรก็ตาม ขอยืนยันว่า ไม่จำเป็นต้องใช้ยาถ่ายพยาธิ หากไม่ได้มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคพยาธิ เช่น อยู่ในพื้นที่ที่มีความชุกของโรคสูง หรือมีพฤติกรรมเสี่ยงสูงต่อการได้รับพยาธิ (เช่น รับประทานเนื้อสัตว์ที่สุกๆ ดิบๆ เป็นประจำ) แต่หากมีอาการผิดปกติที่สงสัยว่าได้รับพยาธิเข้าสู่ร่างกาย เช่น ท้องอืด ปวดท้อง คลื่นไส้อาเจียน เบื่ออาหาร น้ำหนักลด อ่อนเพลีย มีรอยบวมแดงบนผิวหนังที่เคลื่อนตำแหน่งไปเรื่อยๆ หรืออาการคันก้นเนื่องจากพยาธิบางชนิดจะออกมาวางไข่รอบๆ ทวารหนักตอนกลางคืน เป็นต้น ควรไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยและรักษาด้วยยาถ่ายพยาธิที่เหมาะสมกับชนิดของพยาธิที่ได้รับ