ปวดท้องแบบไหน เป็นโรค “กระเพาะอาหารอักเสบ”
อาการปวดท้องสามารถเกิดขึ้นกับเราได้ทุกเมื่อ ไม่ว่าจะเป็นอาการปวดท้องเล็กๆ อย่าง ปวดท้องเพราะท้องเสีย ปวดท้องเพราะท้องอืด หรือปวดท้องเพราะหิวข้าว แต่อาการปวดท้องก็มีอยู่หลายประเภทที่สามารถบ่งบอกได้ว่าอาการปวดท้องแบบไหน เป็นโรคอะไร โรคที่คนมักถึงทุกครั้งเมื่อมีอาการปวดท้อง ก็คงเป็นอะไรไปไม่ได้นอกจาก “โรคกระเพาะอักเสบ” โรคนี้เป็นอย่างไร มีอาการปวดท้องแบบไหนที่บ่งบอกถึงโรคนี้ได้อย่างชัดเจน มาศึกษากัน
กระเพาะอาหารอักเสบ คืออะไร?
โรคกระเพาะอาหารอักเสบ หรือที่นิยมเรียกโดยทั่วไปว่าเป็นโรคกระเพาะ เกิดจากอาการอักเสบ หรือระคายเคืองเฉียบพลันของเยื่อบุในกระเพาะอาหาร เป็นเพราะชั้นเยื่อเมือกเคลือบกระเพาะอาหารที่เอาไว้ป้องกันกรดจากน้ำย่อยทำลายเยื่อบุในกระเพาะอาหารน้อยลง จากการที่กระเพาะอาหารอยู่ในภาวะอักเสบ จึงทำให้เยื่อบุกระเพาะอาหารถูกกรดทำลายจนมีแผลในกระเพาะอาหาร เกิดอาการอักเสบมากยิ่งขึ้น และทำให้เกิดอาการปวดแสบท้อง
โรคกระเพาะอาหารอักเสบ สามารถเป็นได้ทั้งแบบเฉียบพลัน สามารถหายได้ใน 1-2 สัปดาห์ หรืออักเสบเรื้อรังยาวนาน จนอาจกลายเป็นการเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคมะเร็งกระเพาะอาหารได้
สาเหตุของโรคกระเพาะอาหารอักเสบ
ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดของโรคกระเพาะอาหาร แต่มีข้อสันนิษฐานหลายประการ เช่น
- การติดเชื้อแบคทีเรีย เฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลไร หรือ เอช ไพโลไร (Helicobacter pylorior หรือ H. pylori) ซึ่งเป็นเชื้อที่พบได้ในอาหาร และน้ำดื่ม
- การรับประทานในกลุ่มยาต้านการอักเสบหรือยาแก้ปวด (Non-Steroidal Anti-Inflammatory Drugs: NSAIDs)
- การติดเชื้อราบางประเภท
- การสูบบุหรี่
- การดื่มแอลกอฮอล์ และเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เช่น กาแฟ น้ำอัดลม
- ระบบภูมิคุ้มกันตนเองบกพร่องจากโรคบางชนิด เช่นโรคโครห์น (Crohn's disease) โรคซาคอยโดซิส (Sarcoidosis)
- ภาวะอักเสบเรื้อรังทางกระเพาะอาหารอื่นๆ
เป็นต้น
อาการของโรคกระเพาะอาหารอักเสบ
โดยทั่วไปแล้วอาการที่แสดงออกได้อย่างชัดเจน คืออาการปวดท้อง โดยลักษณะการปวดท้องจะแตกต่างจากการปวดท้องตามปกติ ได้แก่
- ปวดท้องส่วนบน (เหนือสะดือ) และอาจปวดร้าวไปถึงหลังได้
- ปวดท้องแบบจุกเสียด แน่นท้อง เรอบ่อย
- มักมีอาการปวดในช่วงก่อน หรือหลังรับประทานอาหาร ที่เรียกกันว่า หิวก็ปวด อิ่มก็ปวด
- อาจปวดท้องด้วย และมีอาการอื่นๆ ด้วย เช่น คลื่นไส้ อาเจียน อาหารไม่ย่อย
นอกจากนี้ ในบางรายยังอาจมีอาการอาเจียนเป็นเลือด ถ่ายเป็นเลือด หรือมีสีดำเข้มผิดปกติ ซึ่งเป็นอาการที่ค่อนข้างหนัก ควรรีบพบแพทย์ทันที
การรักษาโรคกระเพาะอาหารอักเสบ
แพทย์อาจพิจารณาก่อนว่ามีอาการหนักมากน้อยแค่ไหน จากนั้นถึงพิจารณาวิธีการรักษา อาจให้ยาปฏิชีวนะ เช่น ยาคลาริโธรมัยซิน (Clarithromycin) ยาอะมอกซิซิลลิน (Amoxicillin) หรือยาเมโทรนิดาโซล (Metronidazole) เพื่อช่วยในการการฆ่าเชื้อ ในกรณีที่ตรวจพบว่าเป็นการอักเสบจากการติดเชื้อเฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลไร ซึ่งเป็นสาเหตุที่พบได้บ่อย
อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่เป็นโรคกระเพาะอาหารอักเสบจากสาเหตุอื่นๆ แพทย์อาจให้การรักษาตามอาการแบบประคับประคองให้อาการของผู้ป่วยค่อยๆ ดีขึ้นทีละอย่าง เช่น ให้ยาลดกรดในกระเพาะอาหาร รักษาแผลในกระเพาะอาหาร หรือผู้ที่เป็นโรคกระเพาะอาหารอักเสบเรื้อรัง อาจต้องหยุดการทานยาแก้ปวด และเปลี่ยนตัวยาเป็นตัวอื่นที่มีคุณสมบัติใกล้เคียงกันแทน
นอกจากนี้ยังอาจขอให้ลดพฤติกรรมที่อาจทำให้อาการแย่ลง เช่น ลดการดื่มแอลกอฮอล์ เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน และงดการสูบบุหรี่ เป็นต้น
อันตรายจากภาวะแทรกซ้อนของโรคกระเพาะอาหารอักเสบ
หากปล่อยให้อาการของโรคกระเพาะอาหารอักเสบแย่ลง อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนที่อันตรายต่อร่างกายได้ เช่น ภาวะเลือดออกในกระเพาะอาหาร และกระเพาะอาหารอุดตัน ซึ่งอาจทำให้ผู้ป่วยมีอันตรายจนถึงชีวิตได้
การป้องกันโรคกระเพาะอาหารอักเสบ
- รักษาสุขอนามัยต่ออาหาร น้ำดื่ม รวมไปถึงภาชนะบรรจุอาหาร และมือที่หยิบจับอาหารให้สะอาด เพื่อลดการติดเชื้อเฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลไร ที่มักพบได้จากการปะปนในอาหาร และน้ำดื่ม
- หลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่กระตุ้นให้กระเพาะอาหารมีความเสี่ยงต่อการอักเสบ เช่น ดื่มแอลกอฮอล์ เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน สูบบุหรี่ และภาวะเครียด เป็นต้น
- ไม่ควรซื้อยาที่ออกฤทธิ์ต่อระบบทางเดินอาหารหรือยาในกลุ่มลดอาการปวดรับประทานเองโดยไม่ปรึกษาแพทย์ เภสัชกร หรือพยาบาล
- ทานอาหารปรุงสุก ในปริมาณที่ไม่มาก และไม่น้อยเกินไป
- ไม่ทานอาหารรสจัดมากจนเกินไป หรือทานอาหารรสจัดติดต่อกันเป็นเวลานาน เพราะอาจทำให้กระเพาะอาหารผลิตน้ำย่อยออกมามากเกินไป จนเกิดอาการระคายเคืองเยื่อบุกระเพาะอาหารได้