ทำไมเราถึง “นอนละเมอ”? ควรปลุกให้ตื่นหรือไม่?
แม้ว่าจะเป็นเรื่องหน้าอายที่บางคนมีอาการนอนละเมอในตอนเด็ก หรือบางคนอาจจะยังนอนละเมออยู่แม้ว่าจะอยู่ในวัยผู้ใหญ่แล้ว และทุกคนรู้จักกับอาการนอนละเมอกันเป็นอย่างดี ทั้งเป็นเอง หรือเห็นคนรอบข้างเป็น แต่เชื่อว่าหลายคนน่าจะยังไม่ทราบเหตุผลว่าทำไมเราถึงนอนละเมอ ลุกขึ้นมาทำนู่นนี่ได้มากมาย และเราควรปฏิบัติตัวอย่างไรกับคนที่นอนละเมอ รวมถึงวิธีป้องกันการนอนละเมออีกด้วย เห็นไหมว่าแม้ว่าทุกคนจะรู้จักอาการละเมอ แต่ก็ยังไม่ทราบเรื่องของการละเมออีกมากมายเลยทีเดียว
นอนละเมอ เกิดจากอะไร?
สาเหตุของการนอนละเมอยังไม่สามารถระบุได้อย่างชัดเจนว่าเกิดจากอะไร แต่สันนิษฐานว่าอาจเกิดจากการนอนหลับไม่สนิท ถูกรบกวนขณะนอน ความเครียด วิตกกังวล อาการเป็นไข้ไม่สบาย อยู่ในภาวะซึมเศร้า เมาค้าง หรือเป็นผลข้างเคียงจากการใช้ยาระงับ หรือกล่อมประสาท
ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว อาจมีความเสี่ยงในการนอนละเมอจากอาการข้างเคียงของโรคต่างๆ ที่เป็นอยู่ เช่น ภาวะการหยุดหายใจขณะหลับ ผู้ป่วยที่อยู่ในภาวะง่วงนอนมากเกินไป (Narcolepsy) กลุ่มอาการขาอยู่ไม่สุข (Restless Legs Syndrome) ที่ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกรำคาญขาของตัวเองจนนอนไม่ค่อยหลับ โรคกรดไหลย้อน ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน (Hyperthyroidism) หรือปวดหัวไมเกรน เป็นต้น
นอกจากนี้ กรรมพันธุ์ก็เป็นส่วนหนึ่งของอาการนอนละเมอได้ เพราะหากมีคนในครอบครัวที่มีอาการนอนละเมอ จะทำให้เรามีความเสี่ยงในการนอนละเมอมากขึ้นถึง 10 เท่า รวมไปถึงสิ่งเร้าใจภายนอกที่กระตุ้นให้เกิดอาการนอนละเมอได้ อาจมีตั้งแต่การอ่าน ชมละคร ภาพยนตร์สยองขวัญ หรือภาพน่ากลัวก่อนนอน ที่ทำให้สมอง และจิตใจถูกรบกวนจนทำให้นอนหลับไม่สนิท จนเกิดอาการนอนละเมอได้เช่นกัน
นอนละเมอ มีอาการอย่างไร?
ผู้ที่มีอาการนอนละเมอจะเริ่มมีอาการละเมอหลังจากนอนหลับไปแล้ว 1-3 ชั่วโมง และจะเริ่มมีอาการละเมอหลังจากนอนหลับไปแล้ว 1-3 ชั่วโมง หรือเกิดอาการนอนละเมอในช่วงหลับลึก (Non-REM sleep) อาการของการนอนละเมอ มีตั้งแต่อาการเล็กๆ น้อยๆ อย่างการพูดพึมพำขณะหลับ ละเมอฝันผวาขยับร่างกายไปมา ส่งเสียงร้องขณะที่ตายังหลับอยู่ รู้สึกเหมือนอยู่ในภาวะกึ่งหลับกึ่งตื่นแต่ขยับร่างกายไม่ได้เหมือนถูกผีอำ ละเมอพูดไปเรื่อยๆ ไปจนถึงลุกขึ้นเดินไปเดินมา ย้ายสิ่งของ พูดคุย ทำกิจกรรมต่างๆ จนเหมือนกำลังใช้ชีวิตตามปกติ บางรายอาจถึงขั้นลุกขึ้นมาแต่งตัว ทานอาหารได้เช่นกัน แต่ระยะเวลาในการละเมอจะไม่นานนัก ราวๆ ไม่กี่นาที และส่วนใหญ่คนที่นอนละเมอจะสามารถเดินกลับไปนอนต่อที่เตียงได้เอง
นอนละเมอ อันตรายหรือไม่?
ปกติแล้วอาการนอนละเมอมักเกิดขึ้นในช่วงวัยเด็ก และจะค่อยๆ หายได้เองเมื่อโตเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น แต่ก็มีบางรายที่ยังมีอาการนอนละเมอในวัยผู้ใหญ่ การนอนละเมอเป็นเพียงความผิดปกติของการนอนหลับเท่านั้น ไม่มีอันตรายอะไรต่อร่างกายร้ายแรงมาก เพียงแต่อันตรายที่เกิดขึ้น อาจมาจากอาการที่เกิดหลังจากนอนละเมอ นั่นคือ การออกมาเดินในที่ที่อันตราย เช่น ใช้มีดในห้องครัว ละเมอปีนหน้าต่าง ระเบียงบ้าน เดินลงบันได เปิดประตูเดินออกจากบ้าน เป็นต้น ดังนั้นควรเฝ้าระวังอากัปกิริยาของคนที่ละเมอเอาไว้ให้ดี
ปลุกคนนอนละเมอกลางคันเลยดีไหม?
คำถามนี้น่าจะอยู่ในความสงสัยของใครหลายคน ว่าเราสามารถปลุกให้เขาตื่นจากการนอนละเมอในขณะที่เขากำลังทำกิจกรรมอยู่ได้หรือไม่ คำตอบคือ ได้ แต่ไม่ควร เพราะเขาอาจไม่ตื่น และหากเขาตื่น อาจทำให้เขามีอาการมึนงงจนกว่าจะหลับลงได้อีกครั้งก็ใช้เวลานานกว่าเดิม หรืออาจจะนอนไม่หลับไปตลอดคืน โดยเฉพาะเด็กเล็กอาจจะร้องไห้งอแงอีกนานกว่าจะหลับอีกครั้ง เพราะอาจเกิดความกลัวขึ้นได้ ดังนั้นทางที่ดีที่สุด คือระมัดระวังความปลอดภัยให้เขา แล้วพยายามพาเขากลับมานอนที่เตียงโดยไม่ต้องปลุกให้ตื่น จะทำให้เขากลับมานอนหลับต่อได้ง่าย และรวดเร็วกว่า
ข้อปฏิบัติต่อคนที่มีอาการนอนละเมอเป็นประจำ
ส่วนใหญ่อาการนอนละเมอจะไมได้เกิดเพียงครั้งสองครั้งแล้วหยุด อาจจะมีอาการนอนละเมอเรื่อยๆ ราวๆ 2-4 ครั้งต่อสัปดาห์ หรืออาจจะน้อยหรือมากกว่านั้น สิ่งที่เราควรทำคือ จดบันทึกเวลาเข้านอน และเวลาที่เริ่มมีอาการนอนละเมอ จากนั้นในคืนอื่นๆ ให้ลองปลุกให้เขาตื่นก่อนที่จะเริ่มมีอาการนอนละเมอราว 30 นาที แล้วให้เขาหลับต่ออีกครั้ง วิธีนี้จะช่วยลดอาการนอนละเมอเป็นประจำได้
หากการนอนละเมอรบกวนคุณภาพชีวิต ทำให้นอนหลับไม่เพียงพอ หรือนอนหลับคนเดียว ไม่มีใครช่วยดูแล และเริ่มได้รับอันตรายจากการนอนละเมอ ควรปรึกษาแพทย์ที่โรงพยาบาล หรือติดต่อ ศูนย์นิทราเวช โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์