เห็บ หมัด ยุง พาหะนำเราก้าวสู่ "โรค" ใหม่

เห็บ หมัด ยุง พาหะนำเราก้าวสู่ "โรค" ใหม่

เห็บ หมัด ยุง พาหะนำเราก้าวสู่ "โรค" ใหม่
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เตรียมบอกลาวันสบายๆ ในฤดูร้อน หลังผู้ป่วยด้วยโรคติดต่อจากยุง เห็บ หรือหมัด ในสหรัฐฯ เพิ่มสูงขึ้นเป็น 3 เท่า ขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่สาธารณสุขของรัฐบาลกลางรายงานว่า ตั้งแต่ปี 2014 เป็นต้นมา เกิดการค้นพบโรคใหม่แล้วอย่างน้อย 9 ชนิด

แม้ทางศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐฯ Centers for Disease Control and Prevention - CDC) จะยังไม่ประกาศเตือนให้ประชาชนพักแผนผจญภัยกลางแจ้ง หรือเลื่อนทริปปาร์ตี้แคมป์ปิ้งนอนแกว่งเปลญวนกลางป่าออกไป แต่พวกเขาก็เน้นย้ำกับประชาชนเสมอว่า การป้องกันตัวเองจากการถูกแมลงสัตว์กัดต่อยเป็นสิ่งสำคัญมาก โดยเฉพาะบรรดาเด็กๆ ที่ยังไม่รู้จักว่า อะไรคือเห็บ อะไรคือหมัด

กลุ่มโรคที่เกิดจากเห็บ (Tick-Borne Diseases) เป็นโรคติดต่อที่กำลังแพร่ระบาดรุนแรง ลักษณะคล้ายๆ ไวรัสฮาร์ทแลนด์ (Heartland) ที่พบเห็นได้ในทวีปยุโรป และสหรัฐฯ บางเคสอาจดูใกล้เคียงกับโรคไลม์ (Lyme) หรือการติดเชื้ออื่นๆ ที่เติบโตในดินแดนแวดล้อมด้วยน้ำอย่างเปอร์โตรีโก ซึ่งต้องเผชิญกับภัยคุกคามจากยุงที่เป็นพาหะนำโรคไข้เลือดออก และซิกา (Zika) โดยผลการศึกษาที่เผยแพร่ผ่านรายงานอัตราการป่วย และการเสียชีวิตประจำสัปดาห์ของศูนย์ควบคุมโรคฯ ระบุว่า สภาพอากาศที่ร้อนขึ้นเป็นต้นเหตุสำคัญของการแพร่ระบาดโรค

อย่างไรก็ตาม ด็อกเตอร์ ไลล์ อาร์. ปีเตอร์เสน (Dr. Lyle R. Petersen) ผู้อำนวยการแผนกโรคติด​ต่อ​ที่​มี​แมลง​เป็น​พาหะ​ กลับไม่ต้องการเชื่อมโยงปริมาณผู้ป่วยที่เพิ่มสูงขึ้นไปสู่เป็นประเด็นทางการเมืองเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือภาวะโลกร้อน เนื่องจากยังมีปัจจัยอื่นๆ อีกมากที่ส่งผลต่อการเกิดโรคอุบัติใหม่ เช่น การท่องเที่ยวข้ามทวีปที่เพิ่มขึ้น และการขาดวัคซีน

ด้านเจ้าหน้าที่ศูนย์ควบคุมโรคฯ ต้องเรียกร้องให้มีการสนับสนุนหน่วยงานสาธารณะสุขของรัฐ และท้องถิ่นมากยิ่งขึ้น 'หน่วยงานท้องถิ่นถือเป็นด่านแรกของการป้องกัน' ด็อกเตอร์ โรเบิร์ต เรดฟิลด์ (Dr. Robert Redfield) ผู้อำนวยการคนใหม่ของศูนย์ควบคุมโรคฯ กล่าว หลังจากต้องเผชิญกับการตัดงบประมาณจากรัฐบาลทรัมป์

“เราต้องเพิ่มเงินทุนของพวกเรา เพื่อต่อสู้กับโรคเหล่านั้น”

 fleaiStockเห็บ หนึ่งในต้นตอของโรคใหม่ที่อันตราย

 

ล่าสุด การสำรวจของหน่วยควบคุมยุงพบว่า 84 เปอร์เซ็นต์ ต้องการความช่วยเหลือพื้นฐาน เช่น การตรวจตราเฝ้าระวัง และการทดสอบความต้านทานของสารกำจัดศัตรูพืช

ระหว่างปี 2004-2016 รายงานของศูนย์ควบคุมโรคฯ ระบุว่า คนอเมริกัน 643,000 ราย เจ็บป่วยจากแมลง 16 ชนิด เริ่มต้นจาก 27,000 รายในปี 2004 และพุ่งขึ้นเป็น 96,000 รายในปี 2016 ซึ่งตามความเป็นจริงแล้ว ตัวเลขของอัตราการป่วยอาจสูงกว่าที่ปรากฎในรายงาน เช่น ทางศูนย์ควบคุมโรคฯ ประมาณการว่า ทุกปีมีคนอเมริกัน 300,000 รายป่วยเป็นโรคไลม์ แต่มีเพียงแค่ 35,000 รายเท่านั้นที่เข้ารับการรักษา ผ่านการวินิจฉัย และเขียนเป็นรายงานออกมา

นั่นแสดงให้เห็นว่า การศึกษาไม่เจาะลึกถึงสาเหตุการเพิ่มขึ้น และด็อกเตอร์ปีเตอร์เสนให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า สาเหตุของโรคติดต่อจากแมลงอาจเกิดขึ้นจากหลายปัจจัย เช่น ช่วงรอยต่อของ 2 ฤดู ที่ทำให้เห็บเจริญเติบโตรวดเร็ว หรือฤดูร้อนที่มักเกิดโรคติดต่อจากยุง บวกกับปัจจัยร่วมอื่นๆ อย่างการเดินทางของมนุษย์ การปลูกป่าชานเมือง และการขาดแคลนวัคซีนชนิดใหม่ๆ มาช่วยหยุดการระบาด

ปัจจุบัน ผู้คนจำนวนมากท่องเที่ยวด้วยการนั่งเครื่องบินออกจากพื้นที่เขตร้อน และมันหมายถึงไวรัสโรคไข้เลือดออก หรือซิกา กำลังเคลื่อนที่ด้วยรวดเร็ว และระยะทางไกล อยู่ภายในเลือดมนุษย์ เช่นเดียวกับโรคมาลาเรีย และไข้เหลือง ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่า มันเดินทางมาจากทวีปยุโรปสู่การแพร่ระบาดบนโลกใหม่ในอเมริกาด้วยเรือขนทาส เมื่อ 3 ศตวรรษก่อน

นอกจากนั้น ด็อกเตอร์ปีเตอร์เสนยังระบุว่า ตัวอย่างที่เห็นชัดคือ ชิคุนกุนยา (Chikungunya) ไวรัสชนิดหนึ่งที่ยุงเป็นพาหะทำให้เกิดอาการปวดข้อรุนแรง และช่วงปลายปี 2013 ชิคุนกุนยาเดินทางเข้าสู่เกาะเซนต์มาร์ตินแถบทะเลแคริบเบียนเป็นครั้งแรก ต่อมาเพียง 1 ปี มันก็แพร่กระจายตัวไปทั่วประเทศ จนเกิดผู้ป่วยหลายแสนราย ก่อนความชุกจะก้าวกระโดดเข้าสู่ดินแดนยุโรป อเมริกาเหนือ อเมริกาใต้ ยกเว้นแค่แคนาดา ชิลี เปรู และโบลิเวีย

ส่วนโรคที่เห็บเป็นพาหะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อัปเปอร์มิดเวสต์ และแคลิฟอร์เนีย โดยเห็บแพร่กระจายโรคไลม์ (Lyme) โรคอะนาพลาสโมซิส (Anaplasmosis) โรคบาบีซิโอซิส (Babesiosis) โรคไข้พุพองเทือกเขาร็อกกี (Rocky Mountain spotted fever) โรคไข้กระต่าย (Rabbit Fever) และการติดเชื้อไวรัสโปวาสสัน (Powassan)

โรคส่วนใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับยุงแพร่ระบาดหนักในปี 2004 ที่เปอร์โตริโก หมู่เกาะเวอร์จิน และอเมริกันซามัว แต่ความจริงเชื้อไวรัสเวสต์ไนล์ (West Nile) มาเยือนตั้งแต่ปี 1999 แล้ว ทว่าทุกอย่างดูเหมือนไม่สามารถคาดเดาการแพร่ระบาดได้อีกต่อไป เพราะเมืองแดลลัสในปี 2012 ก็เคยเผชิญการระบาดรุนแรงของไวรัสเวสต์ไนล์ที่ยุงเป็นพาหะนำโรค จนมีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก และนายกเทศมนตรีต้องประกาศภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระดับท้องถิ่น

ข่าวร้ายคือ โรคติด​ต่อ​ที่​มี​แมลง​เป็น​พาหะส่วนใหญ่ มันยังไม่มีวัคซีน และหนทางการรักษา ดังนั้น วิธีเดียวที่จะต่อสู้คือ การควบคุม และกำจัดยุง ซึ่งต้องยอมรับว่า มันราคาสูง และหยุดการระบาดได้ไม่ดีนัก เช่น เมืองไมอามี นับเป็นเมืองเดียวในซีกโลกตะวันตกที่หยุดการระบาดของซิกาได้ด้วยสารกำจัดศัตรูพืช

ขณะที่ตามรายงานของศูนย์ควบคุมโรคฯ มีเพียงโรคเดียวเกิดจากหมัดคือ กาฬโรค (Plague) เกิดจากเชื้อแบคทีเรียเยอร์ซีเนีย เพสติส (Yersinia Pestis) โดยระหว่างปี 2004-2016 รายงานเคสผู้ป่วยจากกาฬโรคปรากฎให้เห็นประมาณ 17 ราย ส่วนใหญ่เกิดในภาคตะวันตกเฉียงใต้ ซึ่งการติดเชื้อสามารถรักษาให้หายขาดได้ด้วยยาปฏิชีวนะ

ด็อกเตอร์ นิโคลาส วัตต์ส (Dr.Nicholas Watts) ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพโลก จากมหาวิทยาลัยคอลเลจลอนดอน และเป็นผู้ร่วมเขียนรายงานชิ้นสำคัญเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และสุขภาพประจำปี 2017 กล่าวว่า

“สภาพอากาศร้อนขึ้นเป็นตัวแพร่กระจายโรคในหลายประเทศ ไม่ใช่แค่สหรัฐอเมริกาเท่านั้น”

 

ในอังกฤษ โรคจากเห็บกำลังขยายตัวตามตามช่วงฤดูร้อนที่นานขึ้น และโรคมาลาเรียพบบ่อยมากทางตอนเหนือของประเทศออสเตรเลีย

ด้านพอล รอยเตอร์ (Paul Reiter) นักกีฏวิทยาทางการแพทย์ จากสถาบันปาสเตอร์ (Pasteur Institute) เถียงนักสิ่งแวดล้อมบางคนพูดเกินจริงเรื่องโรคภัยคุกคามจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพราะระหว่างปี 2004-2017 เป็นช่วงเวลาที่เขาอธิบายว่า ‘ภาวะโลกร้อนหยุดชั่วคราว’ แม้แนวคิดดังกล่าวจะเกิดข้อโต้แย้งจากผู้เชี่ยวชาญหลายคนก็ตาม

ทั้งนี้ ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า โรคไลม์ทำให้บรรดาคณะแพทย์เริ่มตั้งข้อสงสัยว่า เกิดจากเห็บกัดผู้ป่วยเป็นไข้ ทางห้องปฏิบัติการจึงเริ่มมองหาเชื้อโรคต่างๆ ในตัวอย่างเลือด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ป่วยที่ไม่มีโรคไลม์ ซึ่งอาจนำไปสู่การค้นพบโรคใหม่ที่ไม่เคยทราบมาก่อนหน้านี้

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook