วิตามิน อาหารเสริม บำรุง-รักษาโรคเกี่ยวกับ “ตา” ได้จริงหรือ?
นอกจากผู้หญิงจะสนใจทานอาหารเสริม และวิตามินเพื่อความสวยงามของผิวพรรณแล้ว ก็จะมีอีกกลุ่มหนึ่งที่เป็นเป้าหมายหลักของผู้ผลิตอาหารเสริม และวิตามินต่างๆ นั่นคือ กลุ่มผู้สูงอายุ ที่เป็นกลุ่มที่มีกำลังทรัพย์ และที่สำคัญคือมีความกังวลในเรื่องของสุขภาพ เพราะเป็นช่วงอายุที่มีโรคร้ายเริ่มรุมล้อมนั่นเอง
ปัญหาสุขภาพตา ก็เป็นปัญหาอันดับต้นๆ ของผู้สูงอายุที่เริ่มมีดวงตาฝ้าฟาง มองเห็นไม่ชัด บ้างก็อาจกลัวว่าจะเป็นต้อกระจก ต้อหิน และอาการอื่นๆ ดังนั้นอาหารเสริมบำรุงดวงตาจึงเริ่มวางขายกันเกลื่อนทั้งตามแผงลอยต่างๆ และในออนไลน์
อย่างไรก็ตาม เช่นเดียวกับอาหารเสริมบำรุงผิว หรือยาลดความอ้วนยี่ห้อต่างๆ วิตามินเหล่านี้จะช่วยบำรุงดวงตา หรือช่วยรักษาโรคที่เกี่ยวกับตาได้จริงหรือไม่ เรามีคำตอบจาก อ.นพ.ณวัฒน์ วัฒนชัย อาจารย์ภาควิชาจักษุวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และจากเฟซบุ๊ค สุขภาพตา โดย ราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทย All About Eye by RCOPT มาฝากกัน
อ่านต่อ >> ตรวจ "ต้อหิน" รู้ทันก่อนสายเกินไป
วิตามิน รักษาต้อกระจก ต้อหิน?
ก่อนอื่นต้องมาดูว่าสาเหตุของโรคต้อกระจก และต้อหิน คืออะไร ส่วนใหญ่แล้วโรคต้อกระจก และต้อหิน เกิดจากความเสื่อมของร่างกาย โดยเฉพาะขั้วประสาทตาที่ถูกทำลายไปตามกาลเวลา ไม่มีสาเหตุ และปัจจัยภายนอกที่เฉพาะเจาะจง และผู้ป่วยส่วนใหญ่จำไม่ทราบว่าตัวเองกำลังป่วยเป็นโรคเหล่านี้ เพราะเป็นโรคที่ไม่มีอาการบอกล่วงหน้า และมีแนวโน้มว่าจะพบในคนอายุที่น้อยลง โดยเฉพาะกลุ่มวัยทำงานอายุ 30 ปีขึ้นไป
แม้ว่าการรักษาของโรคต้อกระจก และต้อหินในระยะแรก จะมีการใช้ยาหยอดตา ยารับประทาน รวมถึงยาฉีดเข้าช่วย แต่หากจะกล่าวว่าโรคต้อกระจก และต้อหิน สามารถหายได้เองด้วยการทานอาหารเสริม หรือวิตามิน คำตอบคือ “เป็นเรื่องไม่จริง” การทานอาหารเสริม หรือวิตามินที่อ้างสรรพคุณว่าทานแล้วจะทำให้ตามองเห็นชัดขึ้น หรือหายจากโรคตาที่กำลังเป็นอยู่ ไม่สามารถเป็นไปได้ เพราะโรคทุกโรค ต้องการการป้องกันและรักษาด้วยวิธีการเฉพาะอย่าง หรือบางอย่างก็ป้องกันไม่ได้ มีแต่รักษาด้วยวิธีการเฉพาะโรคนั้นๆ
อ.นพ.ณวัฒน์ วัฒนชัย กล่าวว่า “ข้อมูลทางการแพทย์ที่น่าเชื่อถือในปัจจุบัน พบว่าวิตามินหรือสารอาหารหลายตัว มีประโยชน์ในการป้องกัน รักษาบำรุงสุขภาพจริง แต่จริงเฉพาะบางภาวะ และจริงเฉพาะกับบางโรคเท่านั้น อันที่จริงแล้ว ที่จักษุแพทย์ส่วนใหญ่ยอมรับ มีแค่ 1โรค เท่านั้น โรคนั้นคือ โรคจุดรับภาพเสื่อมในผู้สูงอายุ (age-related macular degeneration)” โดยโรคนี้สามารถบรรเทาได้ด้วยวิตามินรวม ที่ช่วยลดความเสี่ยงของการลุกลามของโรคจุดรับภาพเสื่อมได้ 25% เฉพาะผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูงเท่านั้น แต่ไม่ช่วยชะลอหรือลดต้อกระจกที่มีอยู่ และไม่ให้ผลอะไรกับผู้ที่ไม่มีความเสี่ยงกับโรคจุดรับภาพเสื่อมเลย นอกจากนี้คนที่ยังมีการมองเห็นปกติ ไม่มีโรคนี้อยู่ แม้จะทานวิตามิน ก็ไม่ได้ช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคนี้ขึ้น
อ่านต่อ >> 5 สัญญาณอันตราย โรค “ต้อกระจก” ภัยร้ายคุกคามสุขภาพผู้สูงอายุ
อาหารเสริม วิตามิน บำรุงตา มีจริงหรือไม่?
อย่างไรก็ตาม หากพูดถึงโรคเกี่ยวกับดวงตาอื่นๆ ที่ไม่ใช่ต้อกระจก และต้อหิน มีรายงานการวิจัยที่กำลังศึกษาอยู่ และดูจะมีแนวโน้มที่ดี คือการทานโอเมก้า-3 เพื่อช่วยในผู้ป่วยที่มีอาการตาแห้ง หรือน้ำตาบกพร่อง โดยมีรายงานว่า “หากใช้เป็นตัวช่วย ผู้ป่วยโรคตาแห้งบางรายจะสบายตาขึ้นเคืองและแดงลดลง”
สำหรับโรคต้อกระจก และต้อหิน ผู้ผลิตอาจเลี่ยงไปใช้คำว่า “อาจจะ” เช่น อาจช่วยชะลอต้อกระจก, อาจมีส่วนช่วยการมองเห็น, อาจช่วยส่งเสริมสุขภาพตา แต่ยังไม่มีงานวิจัยที่น่าเชื่อถือยืนยันเลยว่า การทานวิตามินใดใดจะช่วยทำให้การมองเห็นดีขึ้นได้
ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ลดเสี่ยงโรคตา
แม้ว่าภาวะต้อกระจก ต้อหิน จะไม่สามารถระบุสาเหตุที่ชัดเจนได้ แต่ยังพฤติกรรมเสี่ยงที่อาจทำให้เกิดโรคต้อกระจก ต้อหิน และโรคอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับดวงตาได้เช่นกัน
รศ.พญ.มัญชิมา มะกรวัฒนะ หรือ หมอแนน จากเว็บไซต์ รักษ์ตา.com ระบุว่า การสูบบุหรี่ ที่เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อโรคต้อกระจก ต้อหิน จอตาเสื่อม ตาแห้ง เบาหวานขึ้นตา หรือม่านตาอักเสบ โดยคนที่สูบบุหรี่มีความเสี่ยงในการเป็นโรคต้อกระจกมากกว่าคนปกติถึง 2-3 เท่า นอกจากนี้ควันบุหรี่ยังทำลายสุขภาพดวงตาของคนรอบข้างอีกด้วย
นอกจากนี้ อ.นพ.ณวัฒน์ วัฒนชัย ยังระบุอีกว่า การสวมแว่นตากันแดดเมื่อออกกลางแจ้ง ทานอาหารที่มีประโยชน์ โดยเฉพาะผักผลไม้สีต่างๆ โดยเปลี่ยนชนิดของอาหารให้หลากหลายอยู่เสมอ (หรืออาจทานวิตามินบีรวมในรายที่ไม่สามารถทานผักผลไม้ได้) ป้องกันและควบคุมโรคประจำตัวให้ดี โรคที่สร้างปัญหากับตาที่พบบ่อยคือ เบาหวาน ความดัน ไขมันสูง และหากมีความผิดปกติกับดวงตา ควรรีบปรึกษาจักษุแพทย์ทันที อย่าเพิ่งซื้อหายาหรือวิตามินเสริมมาทานเอง เพื่อให้แพทย์ทำการตรวจหาสาเหตุที่แท้จริง แล้วทำการรักษาอย่างตรงจุดต่อไป
สามารถปรึกษาจักษุแพทย์ได้ที่ ราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทย เลขที่ 2 ชั้น 10 อาคารเฉลิมพระบารมี 50 ปี ซอยศูนย์วิจัย ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ แขวงบางกะปิ เขตห้วยขวาง กรุงเทพฯ 10310 โทรศัพท์ 02 718 0715 หรือแผนกจักษุ ตามโรงพยาบาลใกล้บ้าน