อย. เตือน "กาแฟลดน้ำหนัก" ไม่มีเลขสารบบอาหาร ห้ามซื้อ!!
อย. ห่วงใยสาวอยากผอม ขอย้ำเตือนอีก อย่าหลงเชื่อการอวดอ้างสรรพคุณลดน้ำหนักของผลิตภัณฑ์ กาแฟ และกาแฟที่ไม่มีเลขสารบบอาหารบนฉลาก เพราะ อย. เคยตรวจพบการใส่สารไซบูทรามีนในผลิตภัณฑ์ กาแฟที่แสดงฉลากอวดอ้างสรรพคุณลดน้ำหนัก ซึ่งมีความเสี่ยงรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้โดยเฉพาะผู้ที่มีโรค ประจำตัว หรือบริโภคในปริมาณสูง
และ อย. ได้ตรวจจับผลิตภัณฑ์กาแฟที่มีปัญหา โดยออกข่าวเตือนผู้บริโภคอยู่ อย่างต่อเนื่อง พร้อมเตือนผู้ขาย /ผู้ผลิต / ผู้นำเข้า กาแฟที่อวดสรรพคุณลดน้ำหนัก อย่ากระทำผิดกฎหมาย หาก ตรวจพบมีโทษสูงสุดทั้งจำและปรับ ขอให้ผู้บริโภคแจ้งเบาะแสผู้กระทำผิด ช่วยกันเป็นหูเป็นตาแทนราชการด้วย
นพ.บุญชัย สมบูรณ์สุข เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า ปัจจุบันยังตรวจพบการ โฆษณาอวดอ้างสรรพคุณลดน้ำหนักของผลิตภัณฑ์กาแฟ และผลิตภัณฑ์เสริมอาหารอยู่ โดยเฉพาะทางสื่อโซเชียล มีเดีย สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) รู้สึกห่วงใย เกรงหญิงสาวจะได้รับอันตราย
ดังนั้น จึงขอย้ำ เตือนมายังหญิงสาวทั้งหลาย ให้ระมัดระวังในการเลือกซื้อกาแฟที่อวดสรรพคุณช่วยลดน้ำหนักมาบริโภค โดยเฉพาะอย่าได้หลงคารมผู้ขายว่าเป็นกาแฟจากต่างประเทศและสามารถลดน้ำหนักได้ รวมทั้งให้ตรวจสอบ ฉลากบนผลิตภัณฑ์กาแฟ หากไม่มีเลขสารบบอาหารในกรอบเครื่องหมาย อย. ยิ่งควรระวังอย่าซื้อมาบริโภค อย่างยิ่ง
เนื่องจาก อย. เคยตรวจพบผลิตภัณฑ์กาแฟหลายยี่ห้อ ที่ผลตรวจพิสูจน์พบใส่สารไซบูทรามีน แสดงฉลาก อวดอ้างลดน้ำหนัก และไม่มีเลขสารบบอาหาร เช่น กาแฟบรรจุกล่องกระดาษรูปทรงสี่เหลี่ยมสีน้ำตาลทอง รูป ถ้วยกาแฟ , กาแฟบรรจุกระป๋องโลหะทรงกลม ฉลากสีขาว-แดง ระบุข้อความ “กาแฟมหัศจรรย์ 26 วัน ผอม...” และ กาแฟบรรจุรวมในกระป๋องโลหะทรงรี ฉลากสีดำ-แดง เป็นต้น ซึ่ง อย. ได้ออกข่าวเตือนและ ร่วมกับตำรวจ บก.ปคบ. จับกุมผู้จำหน่ายที่กระทำผิดกฎหมายดังกล่าวแล้ว
นพ.บุญชัย สมบูรณ์สุข เลขาธิการฯ อย. กล่าวต่อไปว่า กาแฟลดน้ำหนักที่ตรวจพบใส่สารไซบูทรามีน จะเป็นอันตรายต่อการบริโภค เนื่องจากยาดังกล่าวมีผลข้างเคียงสูง ต้องใช้โดยความดูแลของแพทย์ โดย ผลข้างเคียงที่พบบ่อยคือ ทำให้เกิดความดันโลหิตสูง และหัวใจเต้นเร็ว แม้จะไม่มากนัก แต่มีผลให้ผู้ป่วย ประมาณร้อยละ 5 จำเป็นต้องหยุดยา
ส่วนผลข้างเคียงอื่น ๆ ได้แก่ ปากแห้ง ปวดศีรษะ นอนไม่หลับ และ ท้องผูก เป็นต้น ซึ่งปัจจุบัน อย. ได้เพิกถอนยาไซบูทรามีนออกจากตลาดแล้ว ทั้งนี้ อย. ได้แจ้งไปยังสำนักงาน สาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศให้เฝ้าระวังผลิตภัณฑ์กาแฟที่จำหน่ายในประเทศ รวมทั้งแจ้งด่านอาหารและยา ทุกด่านให้เพิ่มความเข้มงวดเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์กาแฟนำเข้าที่เคยพบปัญหา หรือผลิตภัณฑ์กาแฟที่ติดฉลาก อวดสรรพคุณและไม่มีเลขสารบบอาหาร อย่าให้มีเล็ดรอดเข้ามาขายในประเทศเด็ดขาด
จึงขอเตือนผู้ผลิต/ ผู้จำหน่าย/ผู้นำเข้า ผลิตภัณฑ์กาแฟอ้างลดน้ำหนัก อย่าได้กระทำผิดกฎหมาย เพราะหากเจ้าหน้าที่ได้ตรวจจับ ผลิตภัณฑ์และส่งตรวจวิเคราะห์ หากพบสารไซบูทรามีน จะจัดเป็นอาหารที่มีสิ่งที่น่าจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพ เจือปนอยู่ ถือเป็นอาหารไม่บริสุทธิ์ มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แนะ ผู้บริโภค หากต้องการลดหรือควบคุมน้ำหนัก ไม่จำเป็นต้องเสี่ยงบริโภคผลิตภัณฑ์กาแฟ หรือผลิตภัณฑ์เสริม อาหารต่าง ๆ ควรควบคุมการบริโภคอาหาร เน้นผักและผลไม้ ร่วมกับการออกกำลังกายเป็นประจำอย่างน้อย สัปดาห์ละ 3 วัน
หากผู้บริโภคพบเห็นการผลิตหรือจำหน่ายผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมาย แจ้งร้องเรียนได้ที่สาย ด่วน อย. 1556 หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทุกจังหวัดที่พบปัญหานั้น หรือร้องเรียนผ่าน Oryor Smart Application กองพัฒนาศักยภาพผู้บริโภค 26 สิงหาคม 2558 ข่าวแจก 98 / ปีงบประมาณ พ.ศ. 2558 สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข ถ.ติวานนท์ อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000 โทร 0 2 590 7117 , 7123 โทรสาร 0 2 591 8474 http://www.fda.moph.go.th/
แหล่งข่าวโดย » สำนักสารนิเทศ