ยาเม็ด “ล้างไต” ได้ผลจริง หรือเป็นเรื่องหลอกลวง?
ช่วงนี้มีสินค้าสุขภาพมาดึงความสนใจจากผู้บริโภคกันไปอีกแล้ว ยิ่งเป็นยารักษาโรคที่เกี่ยวกับอวัยวะหนึ่งที่คนไทยเป็นโรคกันมาอย่าง “ไต” ด้วยแล้วล่ะก็ มีหรือจะไม่ขายดิบขายดีเป็นเทน้ำเทท่า นอกจากจะซื้อทานเองแล้ว หลายคนยังแนะนำเพื่อนฝูง หรือสมัครเป็นตำแทนจำหน่ายเสียเอง โดยที่ไม่ได้ศึกษาอย่างถ่องแท้ว่าตัวยาที่ทานเข้าไปได้ผลจริง และไม่มีอันตรายจริงหรือไม่
Sanook! Health จึงนำข้อมูลจาก สำนักงานคณะกรรมการอาหาร และยา หรือ อย. มาเป็นข้อมูลให้ทุกคนได้ศึกษา ก่อนซื้อทานกันค่ะ
อ่านต่อ >> 10 สัญญาณเตือนภัย “ไตวาย”
ยาเม็ดล้างไต คืออะไร?
ตามคำกล่าวอ้างจากผู้ขาย หรือผู้ผลิต ยาเม็ดล้างไตนี้จะช่วยเข้าไปช่วยฟอกไตให้สะอาด ปราศจากสิ่งตกค้าง ใครที่ชอบทานเค็ม ยาตัวนี้ก็จะช่วยล้างเอาโซเดียมส่วนเกินจากไตออกมาผ่านปัสสาวะ สังเกตได้จากการที่ปัสสาวะเป็นสีน้ำเงิน ดังนั้นคนที่ทานยาเม็ดตัวนี้ก็จะลดความเสี่ยงในการเป็นโรคไต หรือไตวายจากการทานอาหารเค็มนั่นเอง
ยาเม็ดล้างไต ป้องกันโรคไตได้จริงหรือ?
ถึงแม้ว่าฟังดูคุณประโยชน์ของยาแล้วก็ดูเข้าที แต่ถึงกระนั้น นั่นคือคือการกล่าวอ้างที่ไม่เป็นความจริงแม้แต่น้อย เพราะยาเหล่านี้มีสรรพคุณแค่เข้าไปเปลี่ยนสีของปัสสาวะเฉยๆ ไม่ได้มีความสามารถในการเข้าไปฟอกไตให้สะอาด หรือขับเอาโซเดียมที่เกินจากร่างกายออกมาทางปัสสาวะอย่างกล่าวอ้างเอาไว้เลย
ยาเม็ดล้างไต อันตรายหรือไม่?
ในบางสูตร ยาเม็ดล้างไต อาจเป็นตัวยาที่มีการดัดแปลงมาจาก “ยาขับปัสสาวะ” ที่ช่วยในการขับปัสสาวะ และบรรเทาอาการอักเสบของทางเดินปัสสาวะเท่านั้น ไม่ได้มีสรรพคุณล้างไตแต่อย่างใด การใช้ยานี้อย่างไม่เหมาะสมอาจทำให้ได้รับผลเสียจากยา เพราะอาจมีส่วนประกอบที่ห้ามใช้ในผู้ป่วยที่ไตบกพร่องรุนแรง และไม่ควรใช้ในผู้ที่มีภาวะพร่องเอ็นไซม์ G6PD เนื่องจากมีความเสี่ยงที่จะทำให้เม็ดเลือดแดงแตกได้ง่าย และอาจเกิดปัญหายาตีกัน เช่น การใช้ยานี้ร่วมกับยาต้านซึมเศร้า อาจทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ที่รุนแรงได้ นอกจากนี้การใช้ยาโดยปราศจากการวินิจฉัยจากแพทย์อาจทำให้เลือกใช้ยาไม่ถูกต้องและไม่สามารถรักษาโรคให้หายได้
ดังนั้น หากอยากให้ไตแข็งแรงไร้โรค ควรลดการทานเค็ม และอาหารรสจัดลง ดื่มน้ำ และผักผลไม้ให้มากขึ้น ลดการทานอาหารสำเร็นรูป และขนมกรุบกรอบ เพราะเป็นอาหารที่มีโซเดียมสูง ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ รักษาระดับความโลหิตให้เป็นปกติ และพักผ่อนให้เพียงพอ ไม่เครียดมากจนเกินไป เท่านี้ก็สามารถอยู่ห่างจากโรคไตได้แล้วค่ะ
อ่านต่อ >> 7 พฤติกรรมทำร้าย “ไต” ทั้งที่ไม่ได้กินเค็ม
เป็นโรคไต ห้ามกินอะไร นอกจากเลี่ยงกินเค็ม?
5 อันดับสุดยอดอาหาร “เค็ม” โซเดียมสูง เสี่ยงโรคไต
หากใครที่ไม่แน่ใจว่าตัวเองกำลังเป็นโรคไตหรือไม่ สามารถเข้ารับคำปรึกษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญได้ที่ ศูนย์โรคไต โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ ชั้น 6 โซน C เลขที่ 2 ถนนวังหลัง แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ โทร: 1474 อีเมล : info@siphhospital.com