มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเผยโดนัท 8 ยี่ห้อดัง ไขมันทรานส์สูงเกินเกณฑ์ WHO
มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เผยผลทดสอบไขมันทรานส์และพลังงาน ในโดนัทรสช็อกโกแลต พบ 8 ยี่ห้อมีปริมาณไขมันทรานส์สูงเกินเกณฑ์ WHO แนะเลี่ยงบริโภค พร้อมเร่ง อย. ออกมาตรการบังคับผู้ผลิต
นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เปิดเผยว่า นิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้นำโดนัทรสช็อกโกแลตมาทดสอบทั้งหมดจำนวน 13 ตัวอย่างพบว่า มี 8 ยี่ห้อที่มีปริมาณไขมันทรานส์สูงเกินกว่าที่องค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดไว้ คือ ควรพบไขมันทรานส์ในอาหารได้สูงสุดไม่เกิน 0.5 กรัม/ หน่วยบริโภค ได้แก่
- ซับไลม์โดนัท (Sublime Doughnuts โดนัท ดาร์กช็อกโกแลต) มีปริมาณไขมันทรานส์ 4.5913 กรัม/ ชิ้น
- ฟู้ดแลนด์ (Foodland โดนัทช็อกโกแลต) มีปริมาณไขมันทรานส์ 3.0484 กรัม/ ชิ้น
- ดังกิ้น โดนัท (Dunkin Donuts ช็อกโกแลต ฟลาวเวอร์) มีปริมาณไขมันทรานส์ 2.7553 กรัม/ ชิ้น
- เทสโก้ โลตัส (โดนัทรวมรส ช็อกโกแลต) มีปริมาณไขมันทรานส์ 1.7449 กรัม/ ชิ้น
- บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ (โดนัทชอคโกแลต) มีปริมาณไขมันทรานส์ 0.9560 กรัม/ ชิ้น
- มิสเตอร์ โดนัท (Mister Donut ChocRing Classic) มีปริมาณไขมันทรานส์ 0.8690 กรัม/ ชิ้น
- เอ็น.เค.โดนัท (NK Donut ริงจิ๋ว ช็อกโกแลต) มีปริมาณไขมันทรานส์ 0.8626 กรัม/ ชิ้น
- ยามาซากิ (Yamazaki โดนัทช็อกโกแลต) มีปริมาณไขมันทรานส์ 0.7542 กรัม/ ชิ้น
ส่วนอีก 5 ยี่ห้อที่เหลือมีปริมาณไขมันทรานส์อยู่ในเกณฑ์ที่กำหนด ได้แก่
- คริสปี้ครีม (Krispy Kreme Doughnuts ช็อกโกแลต ไอซ์ เกลซ) มีปริมาณไขมันทรานส์ 0.2067 กรัม/ ชิ้น
- เบรดทอล์ค (BreadTalk โดนัทช็อกโกแลต) มีปริมาณไขมันทรานส์ 0.2029 กรัม/ ชิ้น
- แซง-เอ-ตัวล (Saint ETOILE โดนัทช็อกโกแลต) มีปริมาณไขมันทรานส์ 0.1272 กรัม/ ชิ้น
- เฟลเวอร์ ฟิลด์ (Flavor Field โดนัทช็อกโกแลต) มีปริมาณไขมันทรานส์ 0.0824 กรัม/ ชิ้น
- แด๊ดดี้ โด (Daddy Dough ดับเบิ้ล ช็อค) มีปริมาณไขมันทรานส์ 0.0729 กรัม/ ชิ้น
รวมทั้งยังพบว่าโดนัทส่วนใหญ่ให้พลังงานสูงด้วยเช่นกัน เฉลี่ยที่ประมาณ 256 กิโลแคลอรี่ ซึ่งยี่ห้อที่ให้พลังงานต่อชิ้นมากที่สุด 5 อันดับแรกคือ
- แซง-เอ-ตัวล ให้พลังงาน 320 kcal/ ชิ้น
- ยามาซากิ ให้พลังงาน 313 kcal/ชิ้น
- ฟู้ดส์แลนด์ ให้พลังงาน 312 kcal/ชิ้น
- ซับไลม์โดนัท ให้พลังงาน 301 kcal/ ชิ้น
- เฟลเวอร์ ฟิลด์ ให้พลังงาน 298 kcal/ชิ้น
นางสาวสารี กล่าวว่า ที่ผ่านมาสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เคยเสนอข่าวว่าอยู่ในระหว่างการยกร่างประกาศ ที่กำหนดห้ามนำส่วนประกอบอาหารที่มีไขมันทรานส์มาผลิตอาหาร หรือห้ามเติมไฮโดรเจน ลงในกระบวนการผลิตน้ำมัน (กระบวนการ Hydrogenation) ซึ่งคาดว่าจะสามารถบังคับใช้ได้ภายในเดือน เม.ย. ที่ผ่านมา อย่างไรก็ตามปัจจุบันยังไม่มีประกาศออกมา จึงเรียกร้อง อย. เร่งพิจารณาการออกประกาศดังกล่าวโดยเร็ว เพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ
รศ.ดร.จันทร์เพ็ญ วิวัฒน์ ประธานมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า การบริโภคไขมันทรานส์เป็นประจำหรือเกินกว่า 2.2 กรัม/ วัน สามารถเพิ่มระดับโคเลสเตอรอลชนิดไม่ดี (LDL: low-density lipoprotein) และลดระดับไขมันดี (HDL) ลง ส่งผลต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด เป็นต้นเหตุของโรคหัวใจและความดัน รวมทั้งสามารถทำให้มีการอักเสบของผนังหลอดเลือด ซึ่งทำให้หลอดเลือดตีบง่ายขึ้นได้ จึงขอแนะนำผู้บริโภคเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีส่วนประกอบของไขมันดังกล่าว