วิธี “บริจาคอวัยวะ” ผ่านออนไลน์ อยู่บ้านเฉยๆ ก็ทำได้ง่ายจัง

วิธี “บริจาคอวัยวะ” ผ่านออนไลน์ อยู่บ้านเฉยๆ ก็ทำได้ง่ายจัง

วิธี “บริจาคอวัยวะ” ผ่านออนไลน์ อยู่บ้านเฉยๆ ก็ทำได้ง่ายจัง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

การทำบุญช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์มีอยู่หลายวิธี ถ้าอยากบริจาคเลือด เราต้องเดินทางไปที่โรงพยาบาล หรือสภากาชาดไทยอย่างเลี่ยงไม่ได้ แต่ถ้าอยากทำบุญด้วยการบริจาคเงิน ก็สามารถโอนเข้าบัญชีได้จากที่ไหนบนโลกก็ได้เช่นกัน แล้วการบริจาคอวัยวะล่ะ? หลายคนคงคิดว่า ต้องไปที่เคาท์เตอร์ของโรงพยาบาล หรือสภากาชาดไทยอีกแน่ แค่คิดก็เหนื่อยแล้ว แต่อันที่จริง การบริจาคอวัยวะ รวมไปถึงการบริจาคร่างกาย เพื่อเป็นอาจารย์ใหญ่ให้แก่นักศึกษาแพทย์ เราสามารถทำได้ผ่านเว็บไซต์ออนไลน์ที่บ้าน หรือที่ไหนก็ได้ที่มีคอมพิวเตอร์ และอินเตอร์เน็ต

 

บริจาคดวงตา

สำหรับการบริจาคดวงตา เป็นการบริจาคที่ง่ายที่สุด และหลายคนไม่รู้สึกตะขิดตะขวงใจที่จะบริจาค เพราะการบริจาคดวงตาเป็นประโยชน์ต่อคนที่ต้องการผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตามากมาย เช่น คนที่แผลเป็นที่กระจกตา เป็นแผลติดเชื้อ กระจกตาโค้งผิดปกติ ฯลฯ ที่ส่งผลต่อการมองเห็น

ปัจจุบันมีผู้ป่วยที่รอการเปลี่ยนกระจกตาอยู่จำนวนมากถึง 11,027 ราย แต่ในปี พ.ศ.2559 ที่ผ่านมา ศูนย์ดวงตาสภากาชาดไทยได้รับการบริจาคดวงตาจากผู้เสียชีวิตเพียง 847 ราย และมีผู้ได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตาเพียง 763 ราย เท่านั้น ดังนั้นหากเราสามารถบริจาค “กระจกตา” ให้กับผู้ป่วยเหล่านี้ได้ ก็จะเป็นการต่อชีวิตที่มีคุณภาพให้กับพวกเขาเหล่านี้ได้ไปอีกหลายปี

 

ขั้นตอนการบริจาคดวงตาผ่านออนไลน์

1

  1. ผู้ที่สนใจบริจาคดวงตาสามารถแสดงความจำนงในการบริจาคดวงตาได้คนทุกเพศทุกวัย ตั้งแต่อายุ 2 ขวบ เป็นต้นไป โดยสามารถแสดงความจำนงโดย กรอกแบบฟอร์มการขอบริจาคดวงตา ของสภากาชาดไทย คลิกที่นี่

  2. เมื่อกรอกข้อมูลการบริจาคดวงตาเรียบร้อยแล้ว จะได้รับบัตรประจำตัวผู้บริจาคดวงตาผ่านไปรษณีย์ที่ส่งตามที่อยู่ที่เรากรอกไปภายใน 15 วัน เมื่อเราได้รับบัตรประจำตัวผู้บริจาคดวงตาแล้ว ควรพกบัตรติดตัวไว้ และแจ้งให้ญาติรับทราบว่าได้ทำเรื่องบริจาคดวงตาไว้ในระหว่างมีชีวิต

  3. ในกรณีบริจาคอวัยวะแทนญาติ กรุณาโทรแจ้งศูนย์ดวงตาสภากาชาดไทยทันทีที่ผู้บริจาคเสียชีวิต ที่หมายเลข 081 902 5938, 081 836 4927 ตลอด 24 ชั่วโมง

ภายหลังเสียชีวิตดวงตาจะเริ่มเสื่อมสภาพ และเน่าเปื่อย ดังนั้นเพื่อให้ดวงตาที่มีสภาพดีที่สุด ญาติของผู้แสดงความจำนงในการบริจาคควรโทรแจ้งศูนย์ดวงตาทันทีหลังผู้บริจาคเสียชีวิต เพื่อให้ศูนย์ดวงตาได้จัดเก็บดวงตาโดยเร็วที่สุด ซึ่งควรจัดเก็บให้เรียบร้อยภายใน 6-8 ชั่วโมง

 

ข้อควรปฏิบัติภายหลังการอุทิศดวงตา

1. แจ้งสมาชิกในครอบครัวหรือญาติใกล้ชิดให้รับทราบ

2. เก็บบัตรอุทิศดวงตาไว้กับตัวหรือในที่หาง่าย

3. ถ้ามีปัญหาเกี่ยวกับดวงตาควรปรึกษาจักษุแพทย์

 

ศูนย์ดวงตาสภากาชาดไทย

อาคารเทิดพระเกียรติสมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฒโน) ชั้น 7 ถนนอังรีดูนังต์ ปทุมวัน กรุงเทพฯ 10330

โทรศัพท์ 0-2252-8131-9 , 0-2258-8181-9, 0-2256-4039 และ 0-2256-4040 ต่อศูนย์ดวงตา ตลอด 24 ชั่วโมง

E-mail: eyebank@redcross.or.th

Website : http://eyebankthai.redcross.or.th/

 

___________________

บริจาคอวัยวะ

ปัจจุบันมีผู้ป่วยในระยะสุดท้ายอยู่เป็นจำนวนมาก ที่ทุกข์ทรมานจากการที่อวัยวะสำคัญ เช่น หัวใจ, ตับ,  ไต, ปอด ฯลฯ ไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ วิธีรักษาทางการแพทย์ที่ดีที่สุดสำหรับผู้ป่วยเหล่านี้ คือ การปลูกถ่ายอวัยวะใหม่ ด้วยอวัยวะของผู้มีจิตศรัทธา ซึ่งได้แสดงเจตนารมณ์ในการบริจาคอวัยวะ หรือได้จากญาติที่มีความประสงค์จะบริจาคอวัยวะของบุคคลนั้น เพื่อช่วยเหลือผู้อื่นมาปลูกถ่าย จึงจะช่วยให้ผู้ป่วยในระยะสุดท้ายมีชีวิตอยู่เป็นประโยชน์ต่อครอบครัวและสังคมต่อไปได้ อวัยวะใหม่ที่สามารถนำมาปลูกถ่าย ได้แก่ หัวใจ, ตับ, ไต, ปอด, ตับอ่อน, กระดูก ฯลฯ ซึ่งได้มาจากการนำอวัยวะใหม่เปลี่ยนแทนอวัยวะเดิมที่เสื่อมสภาพ จนไม่สามารถทำหน้าที่ต่อไปได้ และการผ่าตัดนั้นจะเป็นการช่วยชีวิตผู้ป่วยในระยะสุดท้าย เพื่อให้อวัยวะใหม่นั้นทำงานแทนอวัยวะเดิม

 

คุณสมบัติของผู้บริจาคอวัยวะ

  1. ผู้บริจาคอวัยวะต้องมีอายุไม่เกิน 60 ปี

  2. เสียชีวิตจากสภาวะสมองตายด้วยสาเหตุต่างๆ

  3. ปราศจากโรคติดเชื้อ และโรคมะเร็ง

  4. ไม่เป็นโรคเรื้อรัง เช่น เบาหวาน หัวใจ โรคไต ความดันโลหิตสูง โรคตับ และไม่ติดสุรา

  5. อวัยวะที่จะนำไปปลูกถ่ายต้องทำงานได้ดี

  6. ปราศจากเชื้อที่ถ่ายทอดทางการปลูกถ่ายอวัยวะ เช่น ไวรัสตับอักเสบชนิดบี ไวรัสเอดส์ ฯลฯ

  7. กรุณาแจ้งเรื่องการบริจาคอวัยวะแก่บุคคลในครอบครัวหรือญาติให้รับทราบด้วย

 

ขั้นตอนการแสดงความจำนงขอบริจาคอวัยวะ

2

ดาวน์โหลดใบแสดงความจำนงบริจาคอวัยวะ คลิกที่นี่ จากนั้นกรอกข้อมูลลงในใบแสดงความจำนงบริจาคอวัยวะ ให้ครบถ้วน ชัดเจน แล้วส่งไปรษณีย์มาที่

ศูนย์รับบริจาคอวัยวะสภากาชาดไทย

อาคารเทิดพระเกียรติสมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน)

ชั้น 5 ถนนอังรีดูนังต์ ปทุมวัน กรุงเทพฯ 10330

 

เมื่อศูนย์รับบริจาคอวัยะฯ ได้รับข้อความแสดงความจำนงบริจาคอวัยวะของท่านแล้ว ศูนย์รับบริจาคอวัยวะฯ จะส่งบัตรประจำตัวผู้มีความจำนงบริจาคอวัยวะให้ตามที่อยู่ที่ได้ระบุไว้ภายใน 15 วัน

หลังจากที่ท่านได้รับบัตรประจำตัวผู้มีความจำนงบริจาคอวัยวะจากศูนย์รับบริจาคอวัยวะฯ แล้ว อย่าลืมกรอกชื่อ และรายละเอียดการบริจาคลงในบัตร

กรุณาเก็บบัตรประจำตัวผู้แสดงความจำนงบริจาคอวัยวะไว้กับตัวท่าน หากสูญหายกรุณาติดต่อกับศูนย์รับบริจาคอวัยวะสภากาชาดไทย

 

____________________

 

บริจาคร่างกาย

การบริจาคร่างกายเพื่อการศึกษา ผู้บริจาคเป็นผู้เสียสละที่ยิ่งใหญ่ ยอมสละร่างกายของตนเอง ให้ผู้ที่ไม่เคยได้รู้จักมาก่อนได้ศึกษาโดยเพียงแต่มุ่งหวังว่า ผู้ที่ศึกษาร่างของตนจะนำความรู้ที่ได้รับนั้นไปช่วยมวลมนุษย์ชาติต่อไป ผู้อุทิศร่างกายเพื่อการศึกษาได้สร้างกุศลทานครั้งสุดท้ายของชีวิตที่ยิ่ง ใหญ่ที่สุด โดยได้แต่หวังว่า ผู้อยู่เบื้องหลังจะไม่ต้องทนทุกข์จากอาการเจ็บป่วย ตนเองมิได้หวังสิ่งตอบแทนใดใด นอกจากได้เป็นผู้ “ให้” เท่านั้น

 

ประโยชน์จากการบริจาคร่างกาย

ร่างกายของผู้บริจาค สามารถสร้างประโยชน์เพื่อการศึกษา การวิจัย และการรักษาทางการแพทย์ ได้ดังนี้

- เพื่อการศึกษาของนิสิตแพทย์ และแพทย์ประจำบ้าน

- เพื่อการฝึกอบรมหัตถการต่างๆ และงานวิจัยทางการแพทย์

- เพื่อการศึกษาของนักศึกษาด้านการแพทย์และสาธารณสุขอื่นๆ

- เพื่อเก็บเนื้อเยื่อบางส่วนสำหรับการรักษาทางการแพทย์

- เพื่อให้แพทย์เฉพาะทางฝึกผ่าตัด

- เพื่อเก็บโครงกระดูกเพื่อการศึกษาตลอดไป

 

เกณฑ์การรับผู้ประสงค์บริจาคร่างกาย

  1. เป็นผู้บรรลุนิติภาวะแล้ว หรือได้รับการยินยอมจาก บิดา มารดา หรือผู้ปกครอง

  2. ไม่เป็นโรคติดต่อร้ายแรง เช่นโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง (โรคเอดส์) โรคติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ บี วัณโรค เป็นต้น

  3. ไม่เป็นผู้พิการแขน ขา ลีบ ขดงอ จนเสียรูป

  4. ไม่เคยผ่าตัดจนสูญเสียอวัยวะที่สำคัญๆ ไป

  5. ผู้ป่วยที่เกิดจากอุบัติเหตุ

  6. ผู้ป่วยที่เกี่ยวข้องกับคดี

 

 

ขั้นตอนการบริจาคร่างกายเพื่อการศึกษา

เราสามารถแจ้งความประสงค์จะบริจาคร่างกายให้กับโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ หรือโรงพยาบาลศิริราชก็ได้

3.1

สำหรับการบริจาคร่างกายให้กับโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ผู้มีความประสงค์อุทิศร่างกายสามารถยื่นความจำนงได้ 3 วิธี คือ

  1. ยื่นความจำนงผ่านช่องทางออนไลน์ที่ แบบฟอร์มอุทิศร่างการเพื่อการศึกษา การฝึกทักษะหัตถการทางการแพทย์ และการวิจัยทางการแพทย์ คลิกที่นี่ โรงพยาบาลจะส่งบัตรประจำตัวไปให้ภายใน 15-30 วัน

  2. ยื่นความจำนงโดยตรงที่ ศาลาทินฑัต โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โดยกรอกข้อความลงในแบบฟอร์มของโรงพยาบาล 1 ฉบับ พร้อมหลักฐานต่างๆ ทั้ง รูปถ่ายขนาด 1-2 นิ้ว จำนวน 3 รูป สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน หรือ บัตรข้าราชการ และพยาน 2 ท่าน (ควรเป็น สามี ภรรยา ผู้ใกล้ชิด) เพื่อทำการลงชื่อในแบบฟอร์ม จากนั้นเจ้าหน้าที่จะออกบัตรประจำตัวผู้อุทิศร่างกายให้ไว้เป็นหลักฐาน

  3. ยื่นความจำนงทางไปรษณีย์ โดยกรอกข้อความลงในแบบฟอร์ม แล้วส่งมาทางไปรษณีย์ 1 ฉบับ เจ้าหน้าที่จะส่งบัตรประจำตัวผู้อุทิศร่างกายให้ภายหลัง

ส่งมาที่ แผนกอุทิศร่างกายเพื่อการศึกษา ศาลาทินทัต โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย

1873 ถนน พระราม 4 แขวง ปทุมวัน เขต ปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330

 

สำหรับการบริจาคร่างกายให้กับโรงพยาบาลศิริราช สามารถเข้าไปโหลด แบบฟอร์มการบริจาค ได้ที่นี่

3.2

หลังจากกรอกข้อมูลให้ชัดเจน และครบถ้วนแล้ว ส่งแบบฟอร์มที่กรอกข้อมูลเสร็จแล้ว พร้อมสำเนาบัตรประขาขน และรูปถ่าย 1 หรือ 2 นิ้ว (เขียนชื่อ-นามสกุลด้านหลังของรูปถ่าย) แล้วรวบรวมเอกสารทั้งหมดส่งมาที่

ภาควิชากายวิภาคศาสตร์ โรงพยาบาลศิริราช

เลขที่ 2 ถนนวังหลัง แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ 10700

(เขียนมุมซองว่าบริจาคร่างกาย ระบุว่ารับบัตรทางไปรษณีย์ตามที่อยู่ที่แจ้ง)

เจ้าหน้าที่จะส่งบัตรรับรองการเป็นผู้บริจาคร่างกายให้โรงพยาบาลศิริรราช

 

หมายเหตุ :  เมื่อท่านได้แสดงความจำนงอุทิศร่างกายเพื่อการศึกษาด้านการแพทย์ แล้ว ท่านควรแจ้งให้ สามี ภรรยา ทายาท ญาติ  ผู้ใกล้ชิด  ให้ทราบไว้ เพื่อที่จะสามารถปฏิบัติได้อย่างถูกต้องเมื่อท่านถึงแก่กรรม

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook