กรมอนามัย เผยคนไทยเมินอ่านฉลากก่อนซื้อแปรงสีฟัน หวั่นกระทบต่อสุขภาพช่องปาก

กรมอนามัย เผยคนไทยเมินอ่านฉลากก่อนซื้อแปรงสีฟัน หวั่นกระทบต่อสุขภาพช่องปาก

กรมอนามัย เผยคนไทยเมินอ่านฉลากก่อนซื้อแปรงสีฟัน หวั่นกระทบต่อสุขภาพช่องปาก
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

กรมอนามัย เผยคนไทยเมินอ่านฉลากก่อนซื้อแปรงสีฟัน หวั่นกระทบต่อสุขภาพช่องปาก

กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เผยคนไทย ร้อยละ 57 ไม่อ่านข้อมูลในฉลากแปรงสีฟันก่อนตัดสินใจซื้อ หวั่นได้แปรงสีฟันที่ไม่เหมาะกับสุขภาพช่องปาก แนะอ่านฉลากทุกครั้ง จะช่วยให้ได้แปรงสีฟันที่มีคุณภาพ

ดร.นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยถึงการเลือกซื้อแปรงสีฟันให้เหมาะกับสุขภาพช่องปากว่า พฤติกรรมในการแปรงฟันของประชาชนส่วนใหญ่พบว่า ร้อยละ 98 แปรงฟันตอนเช้า แปรงก่อนนอนร้อยละ 78 ซึ่งจัดว่าอยู่ในเกณฑ์ดี แต่หลังอาหารกลางวัน พบว่ามีการแปรงฟันน้อยมากไม่ถึงร้อยละ 10 และจากผลการสำรวจพฤติกรรมการใช้ผลิตภัณฑ์ดูแลสุขภาพช่องปากของคนไทยในปี 2554 จำนวน 3,391 คน พบว่ากลุ่มตัวอย่างเลือกใช้แปรงสีฟันขนนุ่มหรือนุ่มพิเศษ ร้อยละ 52 เลือกใช้ขนนุ่มปานกลาง ร้อยละ 41 และเลือกใช้ขนแปรงแข็ง ร้อยละ 6 นอกจากนี้ยังพบว่า ไม่เคยอ่านข้อมูลในฉลากแปรงสีฟัน ร้อยละ 57 ทั้งๆ ที่แปรงสีฟันเป็นสินค้าที่ควบคุมฉลากตามกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ได้ออกประกาศให้แปรงสีฟันทุกยี่ห้อทุกรุ่น ต้องระบุข้อมูลให้เพียงพอต่อการเลือกซื้อแปรงสีฟันของประชาชน คือ 1) ความอ่อนแข็งของขนแปรง 2) ลักษณะปลายขนแปรง เช่น ปลายมน ปลายเรียวแหลม 3) วัสดุที่ใช้ทำขนแปรงและด้ามแปรง 4) วิธีใช้ ข้อแนะนำ และ 5) แปรงสีฟันเด็กต้องระบุ กลุ่มอายุที่เหมาะสมบนฉลากด้วย เช่น ต่ำกว่า 3 ปี 3-6 ปี 6-12 ปี เป็นต้น

“การเลือกซื้อแปรงสีฟัน ควรดูที่ขนแปรงเป็นอันดับแรก เนื่องจากเป็นส่วนที่สัมผัสฟันและเหงือกโดยตรงในการกำจัดคราบจุลินทรีย์ ซึ่งการวิจัยยืนยันว่าขนแปรงชนิดแข็ง ปานกลาง นุ่ม สามารถกำจัดคราบจุลินทรีย์ได้เหมือนกัน โดยผู้ใช้อาจรู้สึกว่าขนแปรงแข็งทำความสะอาดฟันได้ดีกว่า แต่ขนแปรงชนิดแข็งจะทำอันตรายต่อเหงือกและทำให้ เหงือกร่นตามมา และยังทำให้วัสดุอุดฟันบางประเภทเสียหายได้ ในขณะที่ขนแปรงชนิดปานกลางหรือนุ่มปานกลางอาจมีผลเช่นเดียวกับขนแปรงแข็งหากใช้วิธีแปรงฟันที่ไม่เหมาะสม ดังนั้น เพื่อความปลอดภัย ให้เปลี่ยนมาใช้ขนแปรงนุ่มปลอดภัยที่สุด ส่วนการเลือกใช้ยาสีฟันควรผสมฟลูออไรด์ไม่เกินร้อยละ 0.11 โดยน้ำหนัก หรือ 1,100 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม (พีพีเอ็ม) ใช้เวลาแปรงฟัน 2 นาทีขึ้นไป เพื่อให้ฟลูออไรด์สัมผัสกับผิวฟันได้อย่างเต็มที่ ส่วนในเด็กเล็กไม่ควรให้บีบยาสีฟันเอง เพราะหากได้รับฟลูออไรด์มากเกินไป จะทำให้ฟันตกกระได้” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว

ทางด้าน ทันตแพทย์สุธา เจียรมณีโชติชัย รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวเพิ่มเติมว่า การแปรงฟันเป็นประจำทุกวันเช้าและก่อนนอน เป็นการทำความสะอาดช่องปากที่ดีที่สุด ซึ่งการแปรงฟันสำหรับผู้ใหญ่ ใช้วิธีขยับปัด โดยการวาง ขนแปรงทำมุม 45 องศากับเหงือกตรงตำแหน่งคอฟันหรือรอยต่อของเหงือกกับฟัน เพราะบริเวณขอบเหงือกจะมีคราบจุลินทรีย์สะสมมากที่สุด ขยับขนแปรงบริเวณขอบเหงือกเป็นวงกลมเล็กๆ ประมาณ 1-2 มิลลิเมตรเท่านั้น เพื่อให้คราบจุลินทรีย์หลุดออก และเป็นการช่วยกระตุ้นเหงือก ขยับประมาณ 5-6 ครั้งแล้วปัดขนแปรงผ่านตัวฟันออกไปทางด้าน บดเคี้ยว เลื่อนตำแหน่งวางแปรงไปจนครบทุกซี่ฟันทั้งด้านใกล้แก้มและด้านใกล้ลิ้น ควรใช้ไหมขัดซอกฟันร่วมด้วย อย่างน้อยวันละครั้ง

“ส่วนวิธีแปรงฟันเด็กจะต่างจากการแปรงฟันของผู้ใหญ่ เนื่องจากฟันน้ำนมมีรูปทรงแตกต่างไปบ้าง แนะนำให้แปรงฟันโดยวางขนแปรงให้ตั้งฉากกับตัวฟันน้ำนม แล้วถูไปมาสั้นๆ ในแนวขวาง โดยใช้แปรงขนนุ่มขนาดเล็กพอเหมาะตามอายุเด็ก เพื่อไม่ให้หัวแปรงกระแทกเหงือกและกระพุ้งแก้มเด็ก และควรเปลี่ยนแปรงสีฟันเมื่อขนแปรงบาน เพราะนอกจากประสิทธิภาพในการกำจัดคราบจุลินทรีย์ลดลงแล้ว ขนแปรงที่บานจะไประคายเคืองเหงือกขณะแปรงฟัน ทั้งนี้ การแปรงฟันควรปฏิบัติตามสูตร 2 2 2 คือ วันละ 2 ครั้ง เช้าและก่อนนอน แปรงฟันนานครั้งละ 2 นาที หากใช้เวลาน้อยกว่านี้จะไม่สามารถแปรงได้สะอาดทั่วถึงครบทุกซี่ และหลังแปรงฟัน 2 ชั่วโมงไม่ควรรับประทานของหวาน น้ำอัดลม เพื่อไม่เพิ่มจำนวนจุลินทรีย์ในช่องปาก ยืดเวลาให้ช่องปากสะอาดนานขึ้น” รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าว

แหล่งข่าวโดย » กรมอนามัย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook