แพทย์แนะปรับพฤติกรรมสร้างภูมิต้านทานให้ร่างกายห่างไกล “โรคภูมิแพ้”
อธิบดีกรมการแพทย์ชี้โรคภูมิแพ้มีหลายชนิดเกิดขึ้นกับร่างกายได้หลายส่วนแตกต่างกัน สาเหตุเกิดจากการถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์ การติดเชื้อซ้ำๆ ติดต่อกันเป็นเวลานาน เกิดจากพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม เช่น การเครียดเป็นเวลานาน การอดนอน สูบบุหรี่ หรือเกิดจากการอยู่กับสารก่อภูมิแพ้เป็นเวลานาน แนะสารพัดวิธีรับมือภูมิแพ้ช่วยให้ร่างกายแข็งแรง
นายแพทย์สุพรรณ ศรีธรรมมา อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า โรคภูมิแพ้เป็นโรคที่เกิดจากการตอบสนองของร่างกายมีความผิดปกติต่อสารก่อภูมิแพ้ ส่งผลให้มีอาการผิดปกติเกิดขึ้นในอวัยวะที่สัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้ เช่น ฝุ่น ตัวไรฝุ่น เชื้อราในอากาศ อาหาร ขนสัตว์ เกสรดอกไม้ เป็นต้น
ซึ่งในร่างกายคนปกติจะแพ้สารก่อภูมิแพ้ได้น้อยมากหรืออาจจะไม่มีอาการ แต่ในผู้ป่วยโรคภูมิแพ้แต่ละรายจะมีอาการเกิดขึ้นแตกต่างกันและรุนแรงไม่เท่ากัน แม้จะเป็นสารก่อภูมิแพ้ชนิดเดียวกันก็ตาม ขึ้นอยู่กับชนิดของสารก่อภูมิแพ้ที่ได้รับและการตอบสนองของอวัยวะนั้นๆ อาทิ
1.เกิดขึ้นบริเวณตาทำให้เกิดโรคภูมิแพ้ที่เยื่อบุตา จะมีอาการคันและเคืองตา ตาแดง น้ำตาไหล หนังตาบวม แสบตา
2.เกิดขึ้นบริเวณจมูกทำให้เกิดโรคแพ้อากาศ จะมีอาการจาม คันจมูก คัดจมูก คันเพดานปากหรือคอ น้ำมูกไหล
3.เกิดขึ้นบริเวณหลอดลมทำให้เกิดโรคหอบหืด จะมีอาการ ไอ แน่นหน้าอก หอบ หายใจขัดหรือหายใจเร็ว
4.เกิดขึ้นบริเวณผิวหนังทำให้เกิดโรคผิวหนังอักเสบจากภูมิแพ้ จะมีอาการคัน มีผดผื่นตามตัว ผื่นมักแห้ง แดง มีสะเก็ดบางๆ หรือมีน้ำเหลืองแห้งกรังปกคลุมอยู่
5.เกิดขึ้นบริเวณทางเดินอาหารทำให้เกิดโรคแพ้อาหาร จะมีอาการ อาเจียน คลื่นไส้ ท้องเสีย ปากบวม ปวดท้อง ท้องอืด อาจมีอาการของระบบทางเดินหายใจ เช่น หอบหืดหรือแพ้อากาศ หรือผิวหนัง เช่น ผื่นคันหรือลมพิษร่วมด้วย
สาเหตุของโรคภูมิแพ้เกิดจากการถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์ ถ้าพ่อหรือแม่เป็นโรคภูมิแพ้ ลูกจะมีโอกาสเป็นโรคภูมิแพ้ได้ง่าย เกิดจากการติดเชื้อซ้ำๆ ติดต่อกันเป็นเวลานาน ทำให้มีการกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกัน เกิดจากพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม เช่น การเครียดเป็นเวลานาน การอดหลับอดนอน หรือการสูบบุหรี่
เกิดจากการอยู่กับสารก่อภูมิแพ้เป็นเวลานาน เช่น สารจากไรฝุ่น ฝุ่นบ้าน สะเก็ดจากแมลงสาบ สารจากขนแมว ขนสุนัข ละอองเกสรดอกไม้ ต้นไม้ ต้นหญ้า วัชพืช และสปอร์จากเชื้อรา อธิบดีกรมการแพทย์กล่าวเพิ่มเติมว่า การป้องกันโรคภูมิแพ้ควรปฏิบัติตน ดังนี้
หลีกเลี่ยงสิ่งที่แพ้ กรณีแพ้ตัวไรฝุ่น ควรนำเครื่องนอนออกไปโดนแสงแดดทุก 15 วัน เปิดหน้าต่างให้แสงแดดส่องเข้ามาในห้อง เพราะตัวไรฝุ่นจะตายเมื่อโดนแสงแดด ห้องนอนไม่ควรปูพรม ทำความสะอาดแผ่นกรองอากาศแอร์หรือใบพัดลมทุกสัปดาห์ กรณีแพ้ขนสุนัขหรือขนแมว ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสสุนัขหรือขนแมว ไม่ควรเลี้ยงสุนัขหรือแมวไว้ในบ้าน กรณีแพ้แมลงสาบ ควรทำความสะอาดบ้านเรือนให้ปราศจากเศษอาหารหรือใช้ยากำจัดแมลงสาบ
กรณีแพ้ละอองเกสร ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสเกสรทั้งทางตรงและทางอ้อม กรณีแพ้เชื้อรา ควรรักษาความสะอาดร่างกายไม่ให้มีจุดอับชื้น ในห้องนอนไม่ควรมีต้นไม้ที่ต้องรดน้ำ เพื่อไม่ให้มีแหล่งกำเนิดเชื้อรา
นอกจากนี้ ควรหลีกเลี่ยงและอยู่ห่างไกลจากฝุ่นละออง ควันรถยนต์ในชั้นบรรยากาศ ควันก๊าซจากโรงงาน หรือสิ่งกระตุ้นอื่นๆ เช่น ควันบุหรี่ เป็นต้น รวมทั้งหมั่นระวังอาหารที่อาจก่อให้เกิดการแพ้ได้ง่าย เช่น กุ้ง ปู หอยทะเลต่างๆ ที่สำคัญควรออกกำลังกายสม่ำเสมอ เพราะจะทำภูมิต้านทานดีขึ้น อาการภูมิแพ้ลดลง ส่งผลให้ร่างกายแข็งแรง สุขภาพทั่วไปดีขึ้นและยังลดโอกาสเสี่ยงการเกิดโรคต่างๆ ได้
แหล่งข่าวโดย » ฝ่ายประชาสัมพันธ์ กรมการแพทย์