“ยาฝังคุมกำเนิด” คืออะไร ฝังอย่างไร ใครฝังได้บ้าง

“ยาฝังคุมกำเนิด” คืออะไร ฝังอย่างไร ใครฝังได้บ้าง

“ยาฝังคุมกำเนิด” คืออะไร ฝังอย่างไร ใครฝังได้บ้าง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

หลายคนอาจไม่ทราบว่า ภาครัฐมีสวัสดิการดีๆ ที่พยายามป้องกันปัญหา “คุณแม่วัยใส” หรือการตั้งครรภ์ในวัยเรียน / ก่อนวัยอันควรมากมาย ทั้งทำโครงการรณรงค์ต่างๆ แจกถุงยางอนามัย โรดโชว์ให้ความรู้กับเด็กๆ ตามโรงเรียน และการให้บริการยาฝังคุมกำเนิดแก่เด็กสาวที่อยู่ในวัยเสี่ยงตั้งครรภ์ในวัยเรียน โดยเป็นการให้บริการฟรี ไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น

พ.ร.บ.การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น กำหนดให้โรงพยาบาลหรือสถานบริการ ต้องช่วยเหลือให้คำปรึกษาปัญหาการตั้งครรภ์ ทั้งการคุมกำเนิด และการวางแผนครอบครัว สำหรับวัยรุ่นอายุ 10-20 ปี โดยสามารถรับบริการได้ทุกโรงพยาบาลรัฐทั่วประเทศ นอกจากนี้ สำหรับวัยรุ่นเพศหญิง ยังสามารถรับบริการยาฝังคุมกำเนิดกึ่งถาวรได้ฟรีอีกด้วย

 

ยาฝังคุมกำเนิด คืออะไร?

ยาฝังคุมกำเนิด เป็นวิธีคุมกำเนิดอีกชนิดหนึ่งที่มีประสิทธิภาพค่อนข้างสูง หากเทียบจากโอกาสของผู้หญิงที่อาจตั้งครรภ์ได้เมื่อใช้วิธีคุมกำเนิดแบบยาฝังคุมกำเนิดแล้ว มีเพียงร้อยละ 0.05 เท่านั้น ในขณะที่การคุมกำเนิดด้วยวิธีทานยาคุมจะอยู่ที่ร้อยละ 0.3-0.5 และการใช้ถุงยางอนามัยของผู้ชาย จะอยู่ที่ร้อยละ 2 นั่นถึงหมายความว่า ยาฝังคุมกำเนิด เป็นวิธีคุมกำเนิดที่มีประสิทธิภาพมากกว่ายาเม็ดคุมกำเนิด และถุงยางอนามัยของผู้ชายเสียอีก

 

ยาฝังคุมกำเนิด มีกี่ประเภท?

ยาฝังคุมกำเนิด เราจะเรียกว่าเป็นการคุมกำเนิดกึ่งถาวร กล่าวคือ เราสามารถเลือกได้ว่าเราอยากคุมกำเนิดเป็นระยะเวลา 3 ปี หรือ 5 ปี เมื่อครบกำหนดแล้ว แพทย์จะนัดเพื่อนำเอายาที่ฝังออก รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิง ประนอม บุพศิริ สูตินรีแพทย์จากเว็บไซต์ haamor.com  ระบุว่า หากอยากฝังยาเพื่อคุมกำเนิดก็สามารถทำได้ทันที หรือหากใครอยากเอายาที่ฝังออกก่อน เพราะพร้อมที่จะมีบุตรแล้ว ก็สามารถขอให้แพทย์นำยาออกได้ก่อนเวลาเช่นเดียวกัน โดยหลังจากนำยาที่ฝังออก จะสามารถมีบุตรได้ภายใน 1-12 เดือน ขึ้นอยู่กับสุขภาพของแต่ละคน

 

ใครควร/ไม่ควรฝังยาคุมกำเนิด?

เด็กหญิงอายุ 10-20 ปีที่อยู่ในวัยเสี่ยงตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควร รวมไปถึงสตรีที่อยู่ในวัยเจริญพันธ์ สามารถเข้ารับบริการยาฝังคุมกำเนิดได้ อย่างไรก็ตาม รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิง ประนอม บุพศิริ สูตินรีแพทย์ ระบุว่า ใครที่เป็นโรคที่เกี่ยวกับตับ มีประวัติเป็นมะเร็งเต้านม อยู่ในภาวะเลือดออกตามอวัยวะต่างๆ อย่างไม่ทราบสาเหตุ หรือมีภาวะเลือดออกง่ายแต่หยุดยาก อาจไม่เหมาะกับการรับยาฝังคุมกำเนิด เพราะอาจเพิ่มความเสี่ยงให้อาการเหล่านั้นเป็นหนักมากขึ้น

 

ยาฝังคุมกำเนิด ใช้อย่างไร?

เราต้องเข้ารับบริการยาฝังคุมกำเนิดที่โรงพยาบาล (โรงพยาบาลที่ไหนก็ได้) แพทย์อาจจะตรวจร่างกาย หรือซักประวัติคร่าวๆ ก่อน จากนั้นจึงนัดให้มาฝังยาคุมกำเนิดในวันที่มีประจำเดือน 1-5 วันแรก โดยแพทย์จะฉีดยาชา แล้วทำการฝังหลอดบรรจุฮอร์โมนเข้าไปใต้ผิวหนัง บริเวณต้นแขนข้างที่ไม่ถนัด (ถ้าเป็นคนถนัดขวา แพทย์จะฝังยาที่ต้นแขนข้างซ้าย ถ้าเป็นคนถนัดซ้าย แพทย์จะฝังยาที่ต้นแขนข้างขวา)

 

ข้อควรระวังหลังรับยาฝังคุมกำเนิด

หลังจากฝังยาแล้ว สามารถกลับบ้านได้เลย แผลมีขนาดเล็กเหมือนจุดหนึ่งจุด อาจมีรอยฟกช้ำรอบแผลเล็กน้อย แต่จะอาการดีขึ้นจนแผลปิดสนิทหายดีใน 2-3 สัปดาห์ หลังจากฝังยาคุมกำเนิดไม่ควรให้แผลโดนน้ำ และไม่ควรยกของหนัก หรือออกกำลังกายที่ใช้กำลังแขนเยอะ เช่น ยกดัมเบล ยกเวท เป็นเวลา 3-4 วัน หรือ 1 สัปดาห์ ควรงดการมีเพศสัมพันธ์หลังฝังยาคุมกำเนิดเป็นเวลา 7 วัน ช่วงแรกๆ ในบางรายอาจมีอาการคันยุบยิบเล็กน้อย แต่อาการจะค่อยๆ ดีขึ้นใน 2-3 วัน และควรหมั่นสังเกตอาการ หรือคลำหายาที่ต้นแขนอยู่เรื่อยๆ เพื่อคอยสังเกตว่ายาเคลื่อนตัวหรือไม่

 

ข้อดีของยาฝังคุมกำเนิด

ข้อดีของยาฝังคุมกำเนิด นอกจากจะมีประสิทธิภาพสูงแล้ว ยังเป็นวิธีที่ผู้หญิงสามารถเข้ารับบริการได้อย่างสะดวกสบายใจ เพราะไม่มีการตรวจภายใน ไม่รบกวนการมีเพศสัมพันธ์ สตรีที่กำลังให้นมบุตรอยู่ก็สามารถฝังยาคุมกำเนิดได้โดยไม่กระทบต่อการให้นมบุตร และเมื่อหยุดใช้ยาฝังคุมกำเนิด ก็สามารถมีบุตรได้ตามปกติ ดังนั้นยาฝังคุมกำเนิดจึงเรียกว่าเป็นวิธีการคุมกำเนิดกึ่งถาวร คือสามารถคุมกำเนิดได้ในระยะเวลาหนึ่ง นอกจากนี้ยังเกิดผลข้างเคียงต่ำ ไม่มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน เกิดฝ้ากระบนใบหน้า ไม่ต้องกินยาตามเวลา (ที่อาจลืมทานได้) และยังส่งผลดีต่อภาวะโลหิตจาง ช่วยป้องกันการตั้งครรภ์นอกมดลูก ป้องกันการเกิดมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก ลดอาการปวดท้องประจำเดือน และทำให้อาการปวดประจำเดือนลดลงอีกด้วย

 

ข้อเสียของยาฝังคุมกำเนิด

แม้ว่าจะมีข้อดีมากมาย แต่ก็มีข้อเสียเล็กน้อยที่เราควรทราบก่อนเข้ารับบริการ ในบางรายที่รับการฝังยาคุมกำเนิดแล้ว อาจเกิดภาวะประจำเดือนขาด ประจำเดือนมากะปริดกะปรอย อาจปวดแขนในบริเวณที่ฝังยาคุมกำเนิด ยาฝังเคลื่อนตัว หลุด คลำพบยาจากผิวหนังด้านนอก หรือกดแล้วมีอาการเจ็บได้ (แต่พบได้น้อย) หรืออาจมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น และมีอารมณ์ที่แปรปรวนได้ง่าย แต่ผลข้างเคียงเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นกับทุกคน หากมีอาการใดอาการหนึ่งควรเข้าพบแพทย์เพื่อตรวจให้แน่ใจอีกครั้ง

นอกจากนี้ อาจเป็นที่กังวลของสาวๆ หลายคนว่า การใช้ยาฝังคุมกำเนิด ทำให้เจ็บตัว ต้องมีแผลเป็น ซึ่งขั้นตอนในการฝัง และการเอายาที่ฝังออกเมื่อหมดฤทธิ์แล้ว อาจทำให้เกิดแผลเล็กๆ หรือเป็นรอยกรีดที่ต้นแขนบางๆ แต่แผลไม่ใหญ่ และหากดูแลอย่างดี เช่น ทายาป้องกันแผลเป็น ก็มีโอกาสที่จะไม่เหลือรอยแผลเป็นได้เช่นกัน

 

ข้อควรรู้ของยาฝังคุมกำเนิด

เด็กผู้หญิงอายุ 10-20 ปี สามารถรับบริการยาฝังคุมกำเนิดได้ที่โรงพยาบาลทั่วไป ไม่จำเป็นต้องเป็นโรงพยาบาลที่มีสิทธิ์ประกันใดๆ อยู่ ส่วนผู้ใหญ่ปกติสามารถเข้ารับบริการยาฝังคุมกำเนิดได้ที่โรงพยาบาลโดยมีค่าใช้จ่ายราวๆ 2,000-2,500 บาท และแม้ว่ายาฝังคุมกำเนิดจะมีประสิทธิภาพสูง แต่ขอให้จำไว้ว่าไม่มียาคุมกำเนิดใดในโลกที่ให้ผล 100% และยาฝังคุมกำเนิดไม่สามารถป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook