หลอดเลือดสมองตีบ-แตก-อุดตัน รักษาเบื้องต้นฟรี! ทุก รพ.

หลอดเลือดสมองตีบ-แตก-อุดตัน รักษาเบื้องต้นฟรี! ทุก รพ.

หลอดเลือดสมองตีบ-แตก-อุดตัน รักษาเบื้องต้นฟรี! ทุก รพ.
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า โรคหลอดเลือดสมองเป็นโรคที่มีอัตราการเสียชีวิตติดอันดับต้นๆ ของโรคที่มีอัตราการตายสูงสุดในประเทศไทย จากข้อมูลการรายงานสถิติสาธารณสุขในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา จัดทำโดยสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์ กระทรวงสาธารณสุขพบว่า อัตราการเสียชีวิตด้วยโรคหลอดเลือดสมองมีจำนวนเพิ่มขึ้นจาก 18.2 ต่อแสนประชากรในปี 2544 เป็น 27.5 ต่อแสนประชากรในปี 2553 ทั้งยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้จากข้อมูลการรายงานเสียชีวิต 10 อันดับแรกของคนไทย จัดทำโดยสำนักพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศยังระบุด้วยว่า ปี 2552 โรคหลอดเลือดสมองได้ขยับขึ้นเป็นสาเหตุการตายอันดับหนึ่งของประชากรไทยทั้งชายและหญิง จึงนับเป็นปัญหาสาธารณสุขที่ต้องเร่งแก้ไข

สปสช.จึงได้มุ่งพัฒนาศักยภาพหน่วยบริการและเครือข่ายให้มีความพร้อมและสามารถรับดูแลรักษาผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองได้อย่างครบวงจร โดยสนับสนุนให้มีการจัดทำช่องทางด่วนรักษาพยาบาล (Stroke Fast Track) ไม่ว่าจะเป็นการตรวจวินิจฉัยโรค การทำหัตถการ และการผ่าตัดรักษา เพื่อให้ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองได้รับการดูแลอย่างทั่วถึงเท่าที่จะทำได้

“การวินิจฉัยโรคได้อย่างรวดเร็วและได้รับการรักษาที่ถูกต้องอย่างทันท่วงที เป็นหัวใจสำคัญของการช่วยผู้ป่วยกลุ่มนี้ ที่ผ่านมา สปสช.จึงสนับสนุนโรงพยาบาลและเครือข่ายบริการพัฒนาช่องทาง Stroke Fast Track เนื่องจากข้อมูลทางการแพทย์ระบุว่า หลังพบอาการบ่งชี้ว่าเป็นภาวะโรคหลอดเลือดในสมอง อาทิ เกิดภาวะอ่อนแรงของร่างกายครึ่งซีก ชาครึ่งซีก เวียนศีรษะ ร่วมกับเดินเซ ตามัว หรือมองเห็นภาพซ้อน พูดไม่ชัด ลิ้นแข็ง ปวดศีรษะ อาเจียน ซึม และไม่รู้สึกตัว เป็นต้น หากได้รับการรักษาที่ถูกต้อง โดยเฉพาะการรับยาละลายลิ่มเลือดภายใน 3 ชั่วโมง จะลดอัตราการเสียชีวิตและความพิการของผู้ป่วยกลุ่มโรคนี้ลงได้” เลขาธิการ สปสช. กล่าว

 

โรคหลอดเลือดสมอง

รศ.นพ.ยงชัย นิละนนท์ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ระบุว่า โรคหลอดเลือดสมองตีบเกิดจากความผิดปกติของหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงสมอง โดยความผิดปกตินั้นมี 2 ชนิด คือ  ชนิดตีบหรืออุดตัน  ชนิดแตก  โดยทั่วไปโรคหลอดเลือดสมองตีบอุดตันพบได้ร้อยละ 80  ในขณะที่ชนิดแตกพบได้ร้อยละ 20  ซึ่งอาการทั้ง 2 ชนิดนี้  คือ อาการเฉียบพลันของทางระบบประสาท เช่น อ่อนแรงครึ่งซีก ชาครึ่งซีก ปากเบี้ยวพูดไม่ได้ กลืนลำบาก ภาพซ้อน เป็นต้น

กลุ่มเสี่ยงที่จะเป็นโรคสมอง ได้แก่ กลุ่มผู้สูงอายุ และกลุ่มที่มีปัจจัยเสี่ยง เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง การสูบบุหรี่ ภาวะน้ำหนักเกิน รวมทั้งหัวใจเต้นผิดจังหวะ

อาการของโรคหลอดเลือดสมอง เริ่มแรกเป็นอาการผิดปกติทางระบบประสาทที่เกิดเฉียบพลัน เช่น อ่อนแรง ชา โดยจะเป็นครึ่งซีกหรือแม้กระทั่งพูดไม่ได้ มองไม่เห็น รวมทั้งการปวดหัวอย่างรุนแรงเฉียบพลันด้วย

การรักษาประกอบด้วย การให้ยาสลายลิ่มเลือดที่จะให้ทางหลอดเลือดดำ โดยในปัจจุบันสามารถให้ได้ 3-4 ชั่วโมงครึ่ง ขึ้นกับข้อบ่งชี้ของคนไข้ นอกจากนั้นก็จะมีการใช้สายตรวจที่สอดสายเข้าไปแล้วฉุดลากลิ่มเลือดออกมาเพื่อที่จะเปิดหลอดเลือดใหญ่ให้ได้

ส่วนในเรื่องของอาหารก็สำคัญ ที่แนะนำคือ ผักสด เนื้อสัตว์ ไม่กินมัน ไม่กินหนัง หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงทุกอย่าง เพื่อรักษาระดับความดัน ไขมัน น้ำตาลและน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ

การรักษาโรคหลอดเลือดสมอง เวลาเป็นปัจจัยสำคัญ ยิ่งรักษาเร็วยิ่งได้ผลดี ที่กล่าวกันว่า มาพบแพทย์ภายใน 3-4 ชั่วโมงครึ่ง แพทย์จะให้ยาสลายลิ่มเลือดแต่ความเป็นจริงแล้ว  ถ้าผู้ป่วยได้รับยาสลายลิ่มเลือดภายในครึ่งชั่วโมงหรือ 1 ชั่วโมง โอกาสหายเป็นปกติมีสูงถึง 3 เท่าของกลุ่มที่ไม่ได้รับยา และโอกาสนั้นลดลงเรื่อยๆ เมื่อเวลาผ่านไป

ดังนั้น ผู้ป่วยที่มีอาการเบื้องต้นคล้ายกับเป็นโรคหลอดเลือดสมองตีบ-แตก-อุดตัน ได้แก่

  1. มีอาการหน้าเบี้ยวข้างใดข้างหนึ่ง (บอกให้ผู้ป่วยยิ้มหรือยิงฟัน)

  2. มีอาการแขนตกข้างใดข้างหนึ่ง (ให้ผู้ป่วยยกมือยื่นตรงทั้ง 2 ข้าง)   
         
  3. เมื่อให้ผู้ป่วยลองกำมือ จะมีแรงลดลงข้างใดข้างหนึ่ง

  4. พูดผิดปกติไป

หากพบใครก็ตามที่มีอาการดังกล่าว ขอให้รีบนำส่งโรงพยาบาลใดก็ได้ที่ใกล้ที่สุด (ทั้งโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป หรือโรงพยาบาลชุมชนใดๆ ก็ได้ทั่วประเทศ) โดยพยายามนำส่งผู้ป่วยให้ทันภายใน 3 ชั่วโมง หรือหากไม่สะดวกนำส่งผู้ป่วย สามารถติดต่อสายด่วนศูนย์ฉุกเฉิน 1669 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อทำการขอรถนำส่งโรงพยาบาลได้โดยตรง หรือติดต่อสายด่วย สปสช. 1330 เพื่อประสานเข้ารับบริการโรงพยาบาลในโครงการ Stroke Fast Track

ผู้ป่วยจะได้รับบริการ CT Scan หรือการตรวจวินิจฉัยโรคด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ และแพทย์อาจพิจารณายา RtPA (ยาละลายลิ่มเลือด) ให้ผู้ป่วยได้ฟรีอีกด้วย

 

อ่านต่อ >> วิธีปฐมพยาบาลผู้ป่วย "หลอดเลือดสมองแตก"

"ตีบ ตัน แตก" อันตรายจากโรคหลอดเลือดสมอง

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook