ไขข้อสงสัย อาหาร-พฤติกรรมเสี่ยง “มะเร็ง” มีอะไรบ้าง
หลายคนอาจสงสัยมานานแสนนานแล้วว่า “มะเร็ง” เกิดขึ้นได้อย่างไร และเรามีวิธีป้องกันโรคมะเร็งกันได้อย่างไร เป็นที่น่าเสียดายว่าจนถึงปัจจุบันเรายังไม่สามารถทราบถึงสาเหตุที่แท้จริงของโรคมะเร็งได้ มีแต่เพียงข้อมูลที่น่าเชื่อถือบางส่วนที่ระบุว่า กรรมพันธุ์ สิ่งแวดล้อม วิถีการใช้ชีวิต รวมไปถึงอาหารการกินต่างๆ มีผลต่อการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งในร่างกายได้
ผศ.ดร. เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า WHO หรือองค์การอนามัยโลก แบ่งประเภทของกลุ่มสารก่อมะเร็งออกเป็น 5 กลุ่ม ได้แก่
iStock
- กลุ่มที่ 1 กลุ่มอาหาร และสาเหตุที่ทำให้ก่อมะเร็งในมนุษย์ได้ โดยจากการทดลอง และงานวิจัยต่างๆ พบว่ามีหลักฐานมากเพียงพอที่จะตัดสินได้ว่า สามารถเป็นสารก่อมะเร็งได้จริง เช่น การสูบบุหรี่ แสงแดดบนผิวหนัง การดื่มแอลกอฮอล์ และเนื้อแปรรูป เป็นต้น
เนื้อแปรรูป หมายถึง เนื้อที่ถูกนำไปผ่านกระบวนการที่ทำให้เปลี่ยนรูปไป พร้อมกับผ่านวิธีการถนอมอาหารต่างๆ เช่น คลุกเกลือ บ่ม หมัก รมควัน ผสมเลือดสัตว์ และวิธีอื่นๆ ตัวอย่างของเนื้อแปรรูป ได้แก่ ไส้กรอก ฮอตด็อก เบคอน แฮม บาโลน่า เป็นต้น
iStock
- กลุ่มที่ 2A หมายถึง กลุ่มอาหาร สาเหตุ หรือพฤติกรรมที่น่าจะก่อมะเร็งในมนุษย์ โดยมีหลักฐานที่มากเพียงพอในสัตว์ทดลอง แต่อาจไม่สามารถพิสูจน์ความจริงได้ 100% จากการวิจัยกับมนุษย์ แม้ว่าจะพอมีงานวิจัยอยู่บ้าง ได้แก่ อาหารที่ผัดหรือทอดด้วยอุณหภูมิสูง สเตียรอยด์ การทำงานในร้านตัดผม การบริโภคเนื้อแดง
ช่างทำผม หรือคนที่ทำงานในร้านตัดผม มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคมะเร็งจากสารเคมีในยาย้อมผม และผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับเส้นผมทั้งหมดที่ใช้กับลูกค้าเป็นประจำ
ส่วนเนื้อแดง หมายถึง เนื้อสัตว์ที่เป็นกล้ามเนื้อของสัตว์ที่เลี้ยงลูกด้วยนม ได้แก่ เนื้อวัว ลูกวัว หมู แกะ หมูป่า ม้า และแพะ เรียกง่ายๆ ว่าเป็นเนื้อของสัตว์ใหญ่ จัดอยู่ในกลุ่มของอาหารที่น่าจะก่อมะเร็งในมนุษย์ได้เช่นกัน
iStock
- กลุ่มที่ 2B หมายถึง กลุ่มอาหาร พฤติกรรม หรือสาเหตุที่มีหลักฐานอย่างจำกัด หรือพอมีงานวิจัยอยู่บ้าง แต่ไม่สามารถพิสูจน์ได้ 100% ว่าเป็นสารก่อมะเร็งในมนุษย์ และไม่มีหลักฐานที่เพียงพอจากการทดลองกับสัตว์ เช่น กาแฟ น้ำมันแก็สโซลีน ไอเสียจากการเผาไหม้น้ำมันแก๊สโซลีน ไอจากการเชื่อมโลหะ ผักดองต่างๆ
iStock
- กลุ่มที่ 3 หมายถึง กลุ่มอาหาร หรือพฤติกรรมที่ไม่สามารถจำแนกได้ว่าเป็นสาเหตุที่ก่อให้เกิดมะเร็งหรือไม่ เพราะยังไม่มีงานวิจัย หรือหลักฐานที่เพียงพอ ไม่ว่าจะในมนุษย์ หรือในสัตว์ทดลอง เช่น ชา สนามแม่เหล็กธรรมดา แสงไฟฟลูออเรสเซนต์ โพลีเอทิลีน เป็นต้น
- กลุ่มที่ 4 หมายถึง กลุ่มอาหาร หรือพฤติกรรมที่น่าจะไม่ก่อมะเร็ง เพราะมีงานวิจัย หรือหลักฐานยืนยันได้ว่าไม่น่าจะก่อมะเร็งทั้งในมนุษย์ และกับสัตว์ทดลอง เช่น สารคาโปรแลกตั้ม ที่ใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตเส้นใยสังเคราะห์
ทั้งนี้ ผศ.ดร. เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ ระบุว่า การจัดกลุ่มเช่นนี้ อาจบอกถึงแค่ระดับของหลักฐานในการก่อให้เกิดมะเร็ง โดยสารกลุ่มเดียวกันเท่านั้น โดยอาหาร หรือพฤติกรรมแต่ละอย่างในกลุ่มเดียวกัน อาจจะมีระดับความเสี่ยงที่แตกต่างกันมหาศาลก็ได้
นอกจากอาหาร และพฤติกรรมต่างๆ เหล่านี้แล้ว อย่าลืมว่าสาเหตุที่สำคัญของโรคมะเร็ง ยังในเรื่องของ กรรมพันธุ์ และความแข็งแรงโดยรวมของสุขภาพของเรา ดังนั้นใครที่คนในครอบครัวมีประวัติเป็นโรคมะเร็ง อาจเข้ารับการตรวจสุขภาพประจำปี ส่วนคนทั่วไปที่ไม่อยากเป็นมะเร็ง ก็ควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ และพักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อให้ภูมิต้านทานโรคของร่างกายแข็งแรง พร้อมสู้กับโรคมะเร็งได้ตลอดเวลานั่นเอง