สาเหตุไตวายเฉียบพลัน อาการ และวิธีการรักษา
อ.พญ.ทัศน์พรรณ ศรีทองกุล
ภาควิชาอายุรศาสตร์
Faculty of Medicine Siriraj Hospital
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
ภาวะไตวายเฉียบพลัน เป็นภาวะที่เกิดจากการทำงานของไตผิดปกติ ซึ่งหากไม่ได้รับการดูแลรักษาอย่างทันท่วงที อาจจะเกิดอันตรายและผลแทรกซ้อนแก่ผู้ป่วยได้
ภาวะไตวายเฉียบพลัน
ภาวะไตวายเฉียบพลัน คือ ภาวะที่มีการสูญเสียการทำงานของไตในช่วงเวลาเป็นชั่วโมงหรือเป็นวัน เป็นผลให้เกิดการคั่งของของเสียและการควบคุมสมดุลกรดด่าง รวมทั้งปริมาณน้ำและเกลือแร่ในร่างกายผิดปกติ ซึ่งถ้าไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีอาจมีอันตรายถึงชีวิตได้ การใช้คำว่า “เฉียบพลัน” นอกจากบ่งถึงช่วงเวลาระยะสั้นที่เกิดขึ้นแล้ว ยังบ่งถึงความเป็นไปได้ที่ไตจะกลับสู่ภาวะปกติได้
สาเหตุของภาวะไตวายเฉียบพลัน
- ความผิดปกติของการไหลเวียนโลหิตในร่างกาย เช่น ผู้ป่วยที่มีความดันโลหิตต่ำจนเกิดภาวะช็อก ซึ่งสาเหตุอาจเกิดจากการติดเชื้อเสียเลือดจำนวนมาก หรือขาดน้ำอย่างรุนแรงจากท้องเสีย ผู้ป่วยไข้เลือดออกในภาวะช็อก หรือภาวะหัวใจวาย เป็นต้น
- การได้ยาหรือสารพิษต่อไต ยาที่พบบ่อย ได้แก่ ยาปฏิชีวนะ ยาแก้ปวดชนิด (NSAIDS)ยาชุด ยาสมุนไพรที่ไม่ได้มาตรฐาน หรือการได้รับสารทึบแสง ซึ่งยาเหล่านี้มีผลต่อการทำงานของไต โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่มีภาวะไตเสื่อมอยู่เดิม อาจทำให้มีภาวะไตวายเฉียบพลันซ้ำซ้อนได้
- ภาวะไตอักเสบ ซึ่งอาจเกิดจากโรคของโกลเมอรูลัส (glomerular disease)หรือจากการติดเชื้อ ซึ่งอาจเกิดที่ไตเองหรือบริเวณอื่นของร่างกายก็ได้
- การอุดตันของทางเดินปัสสาวะ เช่น นิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะ ต่อมลูกหมากโต เป็นต้น
อาการของผู้ป่วยที่มีภาวะไตวายเฉียบพลัน
- อาการส่วนใหญ่ของผู้ป่วยภาวะไตวายเฉียบพลัน จะรู้สึกกระหายน้ำ
- ปัสสาวะน้อยกว่า 400 ซีซีต่อวัน น้อยกว่าคนปกติ 3 เท่า
- อ่อนเพลีย
- ปวดศีรษะ
- เบื่ออาหาร
- คลื่นไส้ อาเจียนจากการที่มีของเสียสะสมในร่างกาย
- หายใจลำบาก
- แขนขาบวม หอบ เหนื่อยจากการคั่งของสารน้ำในร่างกาย หากภาวะไตวายเฉียบพลันนั้นมีสาเหตุมาจากภาวะขาดน้ำอาจมีอาการแสดงของภาวะขาดน้ำ อาทิ เหนื่อยง่ายหรืออ่อนเพลีย
วิธีการรักษาภาวะไตวายเรื้อรัง
โรคนี้มีการรักษาหลายวิธีด้วยกัน ได้แก่
วิธีที่ 1 แพทย์จะทำการรักษาโดยการหาสาเหตุและรีบทำการรักษาที่ต้นเหตุ เพื่อให้ไตสามารถกลับมาทำงานได้เป็นปกติโดยเร็ว และป้องกันภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ เช่น การหยุดยาที่เป็นสาเหตุ แก้ไขภาวะช็อกและการให้สารน้ำในรายที่มีการขาดสารน้ำ
วิธีที่ 2 แพทย์จะทำการรักษาแบบประคับประคองและรักษาโรคแทรกซ้อน ได้แก่ การควบคุมปริมาณน้ำเข้าออกร่างกายให้สมดุล หลีกเลี่ยงยาที่มีพิษต่อไต รวมทั้งปรับขนาดยาให้เหมาะสมกับการทำงานของไตที่ลดลง แก้ไขสมดุลกรดด่าง ภาวะเกลือแร่ที่ผิดปกติในร่างกาย เป็นต้น
วิธีที่ 3 การให้สารอาหาร พลังงานและปริมาณโปรตีนให้เหมาะสม
วิธีสุดท้าย คือ การบำบัดทดแทนไต (dialysis) ตามข้อบ่งชี้ เช่น ภาวะที่มีโปแตสเซียมในเลือดสูง ซึ่งหากหาสาเหตุและแก้ปัญหาได้ส่วนใหญ่จะกลับคืนสู่ภาวะปกติได้ หากรับการรักษาล่าช้าก็จะทำให้กลายเป็นภาวะไตวายเรื้อรังได้
สำหรับผู้ป่วย การดูแลตัวเองเป็นสิ่งสำคัญ ผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาและสมุนไพรโดยไม่จำเป็น ถ้าจำเป็นต้องใช้ยาควรปรึกษาแพทย์ และควรตรวจสุขภาพประจำปี หมั่นสังเกตอาการผิดปกติ หากมีอาการที่น่าสงสัยให้รีบมาพบแพทย์ การรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ ก็สามารถทำให้หายกลับมาเป็นปกติได้
___________________
อ่านบทความเพิ่มเติม >>>>> SIRIRAJ E-PUBLIC LIBRARY
ขอบคุณเนื้อหาจาก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล