ค่าฝุ่นละออง PM 2.5 กระทบสุขภาพ กลุ่มเสี่ยงควรอยู่ในบ้าน

ค่าฝุ่นละออง PM 2.5 กระทบสุขภาพ กลุ่มเสี่ยงควรอยู่ในบ้าน

ค่าฝุ่นละออง PM 2.5 กระทบสุขภาพ กลุ่มเสี่ยงควรอยู่ในบ้าน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เมื่อช่วงเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา หลายคนคงสังเกตเห็นว่าท้องฟ้าในกรุงเทพฯ นั้น มีสีเทา – น้ำตาล และถูกปกคลุมด้วยหมอกหนาในอากาศจำนวนมาก ไม่มีแสงแดด ทำให้หลายคนต่างสงสัยว่าหมอกทึบเหล่านี้เกิดจากอะไร และมาจากไหนกันแน่ วันนี้เรามีคำตอบมาบอกเล่าเก้าสิบกันแล้วค่ะ

จากการเปิดเผยของ ผศ.พญ.นฤชา จิรกาลวสาน หน่วยโรคระบบหายใจและเวชบำบัดวิกฤต ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ได้กล่าวว่า หมอกทึบที่เราเห็นกันนั้นเกิดจากค่าฝุ่นละออง PM 2.5 เกินมาตรฐาน ทำให้พื้นที่ใน กทม.คล้ายมีหมอก สังเกตเห็นได้ด้วยตาเปล่า ซึ่งปรากฏการณ์ธรรมชาตินี้จะพบได้ในช่วงฤดูหนาวถึงต้นฤดูร้อนที่มีอากาศนิ่ง ทำให้มลพิษสะสมในอากาศเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ระดับ PM 2.5 สูงขึ้นผิดปกติในช่วงอื่น

จริงๆ แล้วค่าฝุ่นละอองในประเทศไทยก็เกิดขึ้นเรื่อยๆ อยู่แล้วโดยเฉพาะภาคเหนือซึ่งมีทั้งฝุ่นและควัน แต่สำหรับสภาพอากาศที่เกิดขึ้นในกรุงเทพและปริมณฑลนี้ มาจากหลายสาเหตุ เช่น การเผาป่า การเผาขยะ  การเผาให้ที่โล่ง การเพิ่มพื้นที่ของโรงงานอุตสาหกรรม การเพิ่มขึ้นของจำนวนรถยนต์ แม้แต่การประกอบอาหารที่ใช้เตาถ่านก็ทำให้ฝุ่นละอองเหล่านี้เพิ่มขึ้น ประกอบกับสภาพอากาศในปีนี้ค่อนข้างนิ่ง จึงทำให้ฝุ่นอยู่ในที่แคบๆ ไม่มีการไหลเวียนระบายไปที่อื่น จึงทำให้ค่าฝุ่นละอองที่เกินมาตรฐานในปีนี้เกิดขึ้นเร็วและอยู่กับเรานานกว่าปีก่อนๆ

PM 2.5 เป็นฝุ่นที่มีขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน ซึ่งมีขนาดเล็กกว่าเส้นผม (50-70 ไมครอน) และการที่มันเล็กมากทำให้เรามีโอกาสที่จะหายใจเอาฝุ่นละอองนี้ไปเข้าไปสู่หลอดลมได้ ในสภาพอากาศลักษณะนี้ กลุ่มเสี่ยงที่น่าเป็นห่วงคือผู้ที่มีโรคระบบทางเดินหายใจ โรคหัวใจและหลอดเลือด รวมถึงผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์ เด็กเล็ก  และผู้ที่มีโรคประจำตัว ซึ่งอาจกระตุ้นให้ผู้ที่เป็นโรคหืด ถุงลมโป่งพอง หลอดลมอุดกั้นเรื้อรัง หรือแม้แต่ผู้ที่เป็นโรคภูมิแพ้ เช่น ภูมิแพ้จมูก จมูกอักเสบ ก็จะเกิดอาการกำเริบของโรคเหล่านี้ขึ้นมาได้ และยังพบว่าอาจเพิ่มโอกาสของการเป็นโรคหัวใจได้ เนื่องจากเราเชื่อว่าฝุ่นที่มีขนาดเล็กมากอาจดูดซึมเข้าไปยังหลอดเลือด  และทำให้หลอดเลือดมีการอักเสบ เกิดการสร้างก้อนเลือดไปอุดกั้นหลอดเลือด  ทำให้เพิ่มโอกาสการเป็นเส้นเลือดหัวใจขาดเลือดได้อีกด้วย ในช่วง 1 -2 เดือนที่ผ่านมามีคนไข้โรคหืดกำเริบมาหาจำนวนมาก ส่วนใหญ่จะมาด้วยอาการติดเชื้อทางเดินหายใจ และมีอาการคัดจมูกบ้าง ส่วนคนที่ไม่มีโรคประจำตัวอยู่ในกลุ่มเสี่ยงก็ไม่ต้องกังวลจนเกินไปสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ

สำหรับกลุ่มอาชีพที่มีความเสี่ยงคือผู้ที่ทำงานกลางแจ้ง ได้แก่ ตำรวจจราจร คนกวาดถนน พ่อค้าแม่ค้าที่ขายของอยู่ริมฟุตบาท ก็ควรจะมีอุปกรณ์ในการป้องกัน ได้แก่ หน้ากาก N95 ซึ่งสามารถกันฝุ่นได้ และกรองสารที่มีขนาดเล็กกว่า 0.1 – 0.3 ได้ 95 %  ส่วนหน้ากากอนามัยธรรมดาแม้อาจไม่ดีเท่าการใส่หน้ากาก N95 แต่มีข้อมูลว่าอาจฝุ่น PM 2.5 กันได้ถึง 60 -80 %  อย่างไรก็ตามไม่ใช่ฝุ่นละอองเท่านั้นที่อาจมีอันตรายต่อสุขภาพสารเคมีอื่นๆในอากาศ เช่น ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ไนโตรเจนไดออกไซด์ เป็นต้น ก็สามารถก่ออันตรายได้เช่นกัน ซึ่งถ้าเราหายใจเข้าไปสะสมในปริมาณมากๆ เป็นระยะเวลานาน ก็อาจทำให้เกิดอันตรายกับปอดจนถึงขั้นเพิ่มความเสี่ยงการเป็นมะเร็งปอดได้ทีเดียว

 สำหรับการดูแลและป้องกันสุขภาพเมื่อเกิดฝุ่นขนาดเล็กทำได้ดังนี้ 1.ให้อยู่ภายในบ้านอย่าออกนอกบ้านถ้าไม่จำเป็น โดยเฉพาะผู้ที่มีความเสี่ยง 2.ปิดประตูหน้าต่างป้องกันฝุ่นเข้า หากจำเป็นต้องออกนอกบ้านให้ใช้หน้ากากป้องกันฝุ่นละออง 3.ดื่มน้ำ ทานอาหาร ให้เหมาะสม พักผ่อนให้เพียงพอ 4.ผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง อันได้แก่ ผู้มีโรคประจำตัวทางระบบหายใจ หัวใจ ภูมิแพ้ ผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์ เด็กเล็ก ต้องดูแลสุขภาพเป็นพิเศษ ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ หากมีอาการทรุดลงรีบปรึกษาแพทย์ 5.ไม่เผาขยะ โดยเฉพาะขยะที่เป็นสารพิษ เพียงเราทำได้เท่านี้ก็สามารถที่จะอยู่กับ PM 2.5 ได้ปลอดภัยแล้วค่ะ   

นอกจากนี้ คุณหมอยังได้ให้คำแนะนำสำหรับผู้ที่ดูแลผู้ป่วยที่เป็นกลุ่มเสี่ยงว่า ขอให้ดูแลอย่างใกล้ชิดและหมั่นสังเกตอาการของผู้ป่วย รวมถึงผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์ เด็กเล็ก และผู้ที่มีโรคประจำตัว โดยเฉพาะผู้ป่วยด้วยโรคระบบทางเดินหายใจ หอบหืด ภูมิแพ้ ถุงลมโป่งพอง และโรคเกี่ยวกับหัวใจและหลอดเลือด หากพบอาการผิดปกติให้รีบนำตัวส่งสถานพยาบาลใกล้บ้านเพื่อรับการรักษาพยาบาลอย่างทันท่วงที และแนะนำให้ประชาชนในกลุ่มเสี่ยงพักผ่อนอยู่ในบ้าน

อย่างไรก็ตามการรับมือกับปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 ในอนาคตควรเริ่มจากการลดปริมาณการใช้รถยนต์ส่วนตัว ใช้เท่าที่จำเป็น หันมาใช้บริการระบบขนส่งมวลชนแทน รวมทั้งบำรุงรักษารถยนต์บนท้องถนนโดยเฉพาะในเขตกรุงเทพ ให้มีการเผาไหม้ที่ดีขึ้น เช่นเดียวกับโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ ก็ต้องมีการควบคุมการปลดปล่อยระดับมลพิษให้อยู่ในเกณฑ์ที่ดี ซึ่งทั้งหมดนี้จะช่วยลดปริมาณฝุ่นละอองในอากาศได้

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook