ปวดหัวไหล่ ยกแขนไม่ขึ้น สัญญาณ "ภาวะไหล่ติด"
แพทย์เตือนปวดหัวไหล่ขณะเคลื่อนไหวยกแขนไขว้มือด้านหลังลำบาก เป็นสัญญาณเสี่ยงภาวะไหล่ติดพร้อมเผยกลุ่มเสี่ยง อาการและวิธีการรักษา
ปวดไหล่ กับสัญญาณเริ่มต้นภาวะ "ไหล่ติด"
นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า อาการปวดไหล่เป็นปัญหาที่พบได้มากและบ่อยขึ้น โดยอาจเกิดเป็นครั้งคราวหรือเรื้อรัง หากมีอาการปวดไหล่ระหว่างเอื้อมหยิบของจากที่สูง เอื้อมมือไปรูดซิบด้านหลังเสื้อไม่ได้ ล้วงกระเป๋ากางเกงด้านหลังลำบาก ยกแขนเพื่อสวมเสื้อผ่านทางศีรษะไม่ได้ หรือ ยกแขนขึ้นสระผมตัวเองลำบาก ฯลฯ เป็นสัญญาณอันตรายเสี่ยงภาวะไหล่ติด
สาเหตุของภาวะไหล่ติด
สาเหตุเกิดจากเส้นเอ็นหุ้มข้อไหล่อักเสบ เกิดการบวมและหนาตัวขึ้นเมื่อยกแขนหรือไขว้มือด้านหลังจะทำให้เส้นเอ็นถูกยืดและกระตุ้นให้เกิดความเจ็บปวดจนผู้ป่วยไม่กล้ายกแขนขึ้นเหนือศีรษะหรือเคลื่อนไหวหัวไหล่ ซึ่งยิ่งหลีกเลี่ยงจะยิ่งทำให้เอ็นรอบข้อไหล่หนาตัวมากขึ้นองศาการเคลื่อนไหวจะน้อยลงและหากไม่ใช้แขนข้างที่เป็นไหล่ติดเป็นเวลานานกล้ามเนื้อแขนข้างนั้นจะฝ่อลีบลง
ผู้ที่มีความเสี่ยงกับภาวะไหล่ติด
ภาวะไหล่ติดมักพบในผู้ที่มีอายุระหว่าง 40 ถึง 60 ปี โดยเกิดกับเพศหญิงมากกว่าเพศชาย ผู้ที่เกิดอุบัติเหตุที่หัวไหล่ แขนหัก ผู้ป่วยอัมพาตครึ่งซีก ผู้ที่เข้ารับการผ่าตัดที่หัวไหล่ รวมถึงผู้ที่เป็นโรคเบาหวานซึ่งมีแนวโน้มเกิดอาการไหล่ติดมากเป็น 2 เท่าของคนปกติ
อาการของภาวะไหล่ติด
นายแพทย์สมพงษ์ ตันจริยภรณ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเลิดสิน กรมการแพทย์ กล่าวว่า อาการของภาวะไหล่ติด แบ่งเป็น 3 ระยะ คือ
- ระยะที่ 1 มีอาการเจ็บหรือปวดขณะเคลื่อนไหวหัวไหล่และปวดมากขึ้นเมื่อพยายามยกแขนขึ้นเหนือศีรษะแต่ยังไม่รู้สึกถึงภาวะข้อไหล่ติดโดยเป็นมากในเวลากลางคืนและเวลาล้มตัวนอน
- ระยะที่ 2 อาการปวดจะค่อยๆ ลดลง ข้อไหล่ติดแข็ง การเคลื่อนไหวของหัวไหล่ลำบาก รู้สึกตึงรั้งกล้ามเนื้อรอบๆหัวไหล่จนถึงต้นคอ
- ระยะที่ 3 การเคลื่อนไหวของข้อไหล่น้อยลง จนส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวัน แต่เมื่อถึงระยะที่ไหล่ติดมากๆ ร่างกายจะเริ่มฟื้นฟูอาการไหล่ติดจะค่อยๆลดลง
วิธีรักษาภาวะไหล่ติด
โดยปกติอาการไหล่ติดสามารถหายได้เองภายใน 2-3 ปี แต่สร้างความลำบากต่อการใช้ชีวิตและทำให้รู้สึกทรมานจากอาการปวด จึงไม่ควรปล่อยทิ้งไว้ให้อาการหายไปได้เอง
การรักษาจะรักษาตามอาการ ระยะที่ 1 จะให้ทานยาหรือฉีดยา ระยะที่ 2 และระยะที่ 3 ใช้วิธีกายภาพบำบัดภายใต้คำแนะนำของนักกายภาพบำบัด ทั้งนี้หากอาการรุนแรงและรักษาด้วยวิธีอื่นไม่ได้ผลนานกว่า 6 เดือน แพทย์อาจจะรักษาโดยการผ่าตัด ซึ่งการรักษาภาวะไหล่ติดมีจุดประสงค์เพื่อทำให้ข้อไหล่ขยับได้มากขึ้น ลดอาการเจ็บปวด ลดการยึดของข้อไหล่ และผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างปกติ