7 ข้อห้าม-ข้อควรทำยามฝนตก ลดเสี่ยง "ฟ้าผ่า"
![7 ข้อห้าม-ข้อควรทำยามฝนตก ลดเสี่ยง "ฟ้าผ่า"](http://s.isanook.com/he/0/ud/2/11093/thunder.jpg?ip/crop/w1200h700/q80/jpg)
แพทย์เตือนภัยถึงตาย ฝนคะนองเสี่ยงฟ้าผ่า แนะงดใช้มือถือพื้นที่โล่ง เผยวิธีช่วยเหลือแตะตัวผู้ถูกฟ้าผ่าได้ เพราะต่างจากไฟฟ้าช็อต
ที่ไหน เสี่ยงฟ้าผ่ามากที่สุด?
นพ.ดนัย ธีวันดา รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวแนะนำว่า ขณะเกิดฝนฟ้าคะนองให้หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่ง เช่น ทุ่งนา สนามฟุตบอล สระว่ายน้ำ สนามกอล์ฟ หากเลี่ยงไม่ได้ต้องไม่อยู่ใกล้ที่สูง เช่น ต้นไม้สูง เสาโทรศัพท์ เสาไฟฟ้า ห้ามกางร่มที่มีปลายโลหะยอดแหลม และอย่าถือวัตถุที่ชูสูงขึ้นไปจากตัว เช่น เบ็ดตกปลา ไม้กอล์ฟ เป็นต้น
ข้อห้าม-ข้อควรทำยามฝนตก เพื่อลดความเสี่ยงของฟ้าผ่า
-
ห้ามใช้โทรศัพท์มือถือ เนื่องจากมีวัสดุจำพวกโลหะเป็นส่วนประกอบ ทำให้เกิดการเหนี่ยวนำคลื่นไฟฟ้า มีผลให้แบตเตอรี่เกิดการลัดวงจรและระเบิดได้
-
ห้ามใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ
-
ถอดวัตถุหรือเครื่องประดับที่เป็นโลหะออกจากร่างกาย
-
ถ้าหากหลบอยู่ในรถยนต์ ให้จอดรถห่างจากต้นไม้ใหญ่ ตึกสูง เสาไฟฟ้าหรือป้ายโฆษณาขนาดใหญ่ ดับเครื่องยนต์ ปิดกระจก อย่าสัมผัสกับส่วนใดส่วนหนึ่งของรถที่เป็นโครงโลหะ และควรนั่งกอดอกหรือวางมือบนตัก
-
เมื่ออยู่ในอาคารควรปิดประตูหน้าต่างทุกบาน และอยู่ห่างจากผนังอาคาร ประตูและหน้าต่าง
-
ห้ามใช้โทรศัพท์บ้านหรือเล่นอินเทอร์เน็ต
-
ถอดปลั๊กอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าออกให้หมด และดึงเสาอากาศของโทรทัศน์ออก เพื่อป้องกันการเกิดไฟฟ้าลัดวงจร ซึ่งจะเป็นสาเหตุให้เกิดอัคคีภัยหากเกิดฟ้าผ่าลงมาที่บ้าน
ฟ้าผ่าเกิดจากอะไร
ฟ้าผ่าเกิดจาก การสะสมของประจุไฟฟ้าภายในก้อนเมฆคิวมูโลนิมบัส ซึ่งมีลักษณะเป็นเมฆขนาดใหญ่และสูง เมื่อประจุไฟฟ้าเหล่านี้สะสมมากจนเกินไป จะเกิดการคายประจุ ทำให้เกิดฟ้าแลบและฟ้าผ่า ประจุบวกจะสะสมที่ยอดเมฆ ส่วนประจุลบจะอยู่ที่ฐานเมฆ การคายประจุนี้อาจเกิดขึ้นระหว่างก้อนเมฆหรือลงมาที่พื้นดิน
หากพบเห็นผู้ที่ถูกฟ้าผ่า ให้สังเกตบริเวณที่เกิดเหตุว่า ยังมีความเสี่ยงต่อการถูกฟ้าผ่าหรือไม่ ถ้ามีให้เคลื่อนย้ายผู้ถูกฟ้าผ่าไปยังตำแหน่งที่ปลอดภัย เพื่อป้องกันตัวจากการถูกฟ้าผ่า โดยสามารถแตะต้องตัวผู้ถูกฟ้าผ่าได้ทันที เนื่องจากคนที่ถูกฟ้าผ่าจะไม่มีกระแสไฟฟ้าหลงเหลืออยู่ในตัว ซึ่งต่างจากผู้ที่ถูกไฟฟ้าดูดหรือไฟฟ้าซ็อต รีบโทรแจ้งเหตุสายด่วนช่วยชีวิต 1669