เตือนภัย! "ฟันปลอมออนไลน์" เสี่ยงช่องปากพัง
กรมการแพทย์ห่วง "ฟันปลอมออนไลน์" เสี่ยงช่องปากพัง เตือน ก่อนทำฟันปลอม ควรได้รับคำแนะนำและประเมินก่อนการรักษาตามขั้นตอนโดยทันตแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญ
นพ.ณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า ปัจจุบันพบว่ามีประชาชนสั่งซื้อฟันปลอมทางเฟซบุ๊ก ซึ่งมีการโฆษณาและเผยแพร่ทางสื่อออนไลน์ ฟันปลอมที่ซื้อมานั้นไม่ได้มาตรฐานและไม่เหมาะสมกับสภาพช่องปาก ไม่สามารถเทียบได้กับการรักษาจากทันตแพทย์ แม้หาซื้อง่ายโดยสั่งซื้อทางออนไลน์ แต่ฟันปลอมเหล่านี้แทบจะไม่ช่วยในการบดเคี้ยว อาจส่งผลให้เกิดอันตรายในช่องปาก เช่น เกิดการสบฟันที่ผิดปกติ เกิดแผลจากการกัดสบของฟันบริเวณลิ้นหรือกระพุ้งแก้มและลุกลามกลายเป็นแผลเรื้อรัง เสี่ยงติดเชื้อในช่องปาก นอกจากนี้ฟันปลอมที่สั่งซื้อมาอาจไม่ได้ขนาด แน่นหรือหลวมเกินไป ใส่แล้วรู้สึกเจ็บจากการออกแบบที่ไม่เหมาะสม ทำให้ไม่สามารถใช้เคี้ยวอาหารได้และสูญเสียเงินโดยเปล่าประโยชน์ ดังนั้น ก่อนทำฟันปลอม ควรได้รับคำแนะนำและประเมินก่อนการรักษาตามขั้นตอนโดยทันตแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญ
ทพ.บุญชู สุรีย์พงษ์ ผอ.สถาบันทันตกรรม กล่าวว่า ฟันปลอมทำขึ้นเพื่อทดแทนการสูญเสียฟันธรรมชาติแทนที่ฟันที่หายไป โดยทำฐานในการยึดจากทั้งอะครีลิกและโลหะ แบ่งเป็นฟันปลอมชนิดถอดได้ทั้งชิ้น จะทำเพื่อทดแทนในกรณีที่ไม่มีฟันเหลืออยู่เลย และฟันปลอมชนิดถอดได้เฉพาะซี่ เป็นการใส่เพื่อช่วยไม่ให้ฟันซี่ที่เหลือล้มเปลี่ยนตำแหน่ง ช่วยในการบดเคี้ยวอาหาร ทำให้รับประทานอาหารได้ดีขึ้น นอกจากนี้ยังช่วยให้เกิดความมั่นใจมากขึ้น การทำฟันปลอมเริ่มจากการพิมพ์หรือหล่อเนื้อเยื่อช่องปากที่รองรับฟัน ใช้แบบพิมพ์ฟันในการสร้างแบบจำลองปากคนไข้ และสร้างฟันปลอมขึ้นมาบนแบบจำลองดังกล่าว แล้วทดลองนำมาใส่ในช่องปากของคนไข้ เพื่อการสบฟันที่ถูกต้อง โดยลักษณะรูปร่างมีความสวยงาม ทั้งนี้ ก่อนการทำฟันปลอมต้องมีการเตรียมช่องปาก เช่น อุดฟันซี่ที่ผุ ขูดหินปูน หรือถอนฟันซี่ที่ไม่สามารถเก็บรักษาไว้ได้ รวมถึงวัสดุเครื่องมือที่ใช้ต้องได้มาตรฐาน มีการฆ่าเชื้ออย่างถูกต้อง และควรได้รับคำแนะนำเกี่ยวกับการดูแลช่องปากและการทำความสะอาดฟันปลอมอย่างถูกวิธีจากทันตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ