เตือนภัย! หน้าฝนอย่าลุยน้ำ ย่ำโคลน เสี่ยงโรค "ฉี่หนู"

เตือนภัย! หน้าฝนอย่าลุยน้ำ ย่ำโคลน เสี่ยงโรค "ฉี่หนู"

เตือนภัย! หน้าฝนอย่าลุยน้ำ ย่ำโคลน เสี่ยงโรค "ฉี่หนู"
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

กรมควบคุมโรค เตือนประชาชนในทุกพื้นที่ โดยเฉพาะเกษตรกร ชาวสวนในช่วงฤดูฝนนี้ระวังป่วยโรคไข้ฉี่หนู หลังปีนี้พบผู้ป่วยแล้วเกือบ 600 ราย และเสียชีวิต 4 ราย แนะหลีกเลี่ยงการเดินลุยน้ำย่ำโคลนในที่ชื้นแฉะ หากจำเป็นควรสวมรองเท้าบู๊ทหรือถุงพลาสติกสะอาด หลีกเลี่ยงไม่ให้เท้าสัมผัสน้ำหรือดินโดยตรง เพื่อป้องกันโรคไข้ฉี่หนู

นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในช่วงฤดูฝนนี้ อาจเกิดน้ำท่วมขังและมีพื้นที่ชื้นแฉะในหลายพื้นที่ จึงขอให้ประชาชน โดยเฉพาะเกษตรกร ชาวสวนหรือผู้ที่ทำงานคลุกคลีกับพื้นที่ชื้นแฉะให้ระมัดระวังโรคที่มากับฤดูฝน โดยเฉพาะโรคไข้ฉี่หนู

สำหรับการเฝ้าระวังสถานการณ์โรคไข้ฉี่หนูในประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 11 พฤษภาคม 2561 มีรายงานพบผู้ป่วย 589 ราย เสียชีวิต 4 ราย จังหวัดที่มีอัตราป่วยต่อประชากรแสนคน 5 อันดับแรก คือ ศรีสะเกษ พังงา ยะลา ตรัง นครศรีธรรมราช จากข้อมูลปี 2560 พบผู้ป่วยเกินครึ่งเป็นเกษตรกร (ร้อยละ 50.5) และผู้ป่วยจะพบเพิ่มมากขึ้นในช่วงฤดูฝนของปี (มิ.ย.– ต.ค.) โดยพบผู้ป่วยโรคไข้ฉี่หนู 2,006 คน คิดเป็นร้อยละ 57.2 ของผู้ป่วยทั้งปี

 

โรคฉี่หนู ติดต่อกันได้อย่างไร?

เชื้อไข้ฉี่หนู สามารถเข้าสู่ร่างกายโดยการสัมผัสเชื้อเข้าทางผิวหนังตามรอยแผล รอยขีดข่วน เยื่อบุของตา จมูก ปาก หรือผิวหนังปกติที่แช่น้ำเป็นเวลานาน ซึ่งเชื้อจะปนเปื้อนอยู่ตามแหล่งน้ำขังหรือพื้นดินที่เป็นดินโคลนชื้นแฉะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพื้นที่มีหนูอาศัยอยู่ชุกชุม เช่น ตลาด คันนา สวน

 

สัญญาณอันตราย โรคฉี่หนู

หากเริ่มมีไข้ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ โดยเฉพาะปวดน่องหรือโคนขา หรือมีอาการปวดหัว ตาแดง ขอให้รีบไปพบแพทย์โดยเร็ว เพื่อรับการรักษาอย่างถูกต้องรวดเร็วอย่าซื้อยามากินเอง เพราะอาจทำให้อาการรุนแรงขึ้นได้ ที่สำคัญขอให้แจ้งประวัติการเดินลุยน้ำให้แพทย์ทราบด้วย เพื่อการรักษาได้อย่างถูกต้องรวดเร็ว เพราะหากรักษาล่าช้า อาจเกิดภาวะแทรกซ้อน ไตวาย ตับวาย เลือดออกในปอด อาจทำให้เสียชีวิตได้

 

วิธีป้องกันโรคฉี่หนู

  1. หลีกเลี่ยงการเดินลุยน้ำย่ำโคลนที่ชื้นแฉะ

  2. หมั่นล้างมือด้วยน้ำและสบู่บ่อยๆ และอาบน้ำชำระร่างกายทันทีหลังจากเสร็จจากการทำงาน

  3. ควรรับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ หากต้องจำเป็นต้องเก็บไว้ให้ปกปิดอาหารและน้ำดื่มให้มิดชิดเพื่อไม่ให้หนูมาปัสสาวะรดได้

  4. กำจัดขยะให้ถูกต้องไม่ให้เป็นแหล่งอาหารของหนูได้

  5. หากจำเป็นต้องเดินลุยน้ำ ควรสวมรองเท้าบู๊ทหรือถุงพลาสติกสะอาดที่หาได้ในพื้นที่ ป้องกันไม่ให้เท้าสัมผัสน้ำหรือดินโดยตรง

 

หากประชาชนมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook