โรคติดเชื้อไวรัส “นิปาห์” คืออะไร? อาการเป็นอย่างไร? อันตรายแค่ไหน?
ในขณะที่โรคเก่าๆ ก็ยังคงพยายามหาวิธีรักษาที่ดีที่สุดกันอยู่ โรคใหม่ๆ ก็ค่อยๆ กำเนิดขึ้นอย่างช้าๆ ให้เหล่าแพทย์ นักวิทยาศาสตร์ และนักวิจัยได้ทำงานกันอีกครั้ง โรคติดต่อล่าสุดคือ โรคติดเชื้อไวรัสนิปาห์ กำลังเป็นที่พูดถึงอยู่ทั่วโลกในขณะนี้ เพราะเป็นโรคติดเชื้อชนิดใหม่ที่ยังไม่มียารักษาโดยตรง
อ่านต่อ >> ไวรัส “นิปาห์” ระบาดใหม่ที่อินเดีย ไม่มีวัคซีนป้องกัน ดับแล้ว 10 ราย
โรคติดเชื้อไวรัสนิปาห์ คืออะไร?
โรคติดเชื้อไวรัสนิปาห์ เป็นโรคติดต่อระหว่างสัตว์สู่คน ที่เกิดจากการสัมผัสมูลสัตว์ และสารคัดหลั่งของพาหะนำโรค ได้แก่ ค้างคาวผลไม้ หรือสุกร ม้า แมว แพะ แกะ ที่รับเชื้อมาจากค้างคาวผลไม้อีกต่อหนึ่ง
สามารถติดเชื้อจากคนสู่คนได้จากการสัมผัสสารคัดหลั่งของผู้ที่ติดเชื้อ เช่น เลือด หรือน้ำลาย
โรคติดเชื้อไวรัสนิปาห์ เคยแพร่ระบาดครั้งแรกในช่วงปี 2541-2542 ที่มาเลเซีย สิงคโปร์ บังกลาเทศ และอินเดีย
ปัจจัยเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสนิปาห์
เกษตรกรที่เลี้ยงสัตว์ทั้ง สุกร ม้า แมว แพะ แกะ รวมไปถึงผู้ที่อาศัยอยู่ในแหล่งที่ใกล้กับถิ่นอาศัยของค้างคาวผลไม้ ซึ่งพบได้ตามพื้นที่ป่าทึบ หรือป่าที่ใกล้กับชุมชนทั่วโลก ยกเว้นแถบขั้วโลกเหนือ ในประเทศไทยชนิดที่รู้จักกันดี คือ ค้างคาวแม่ไก่ป่าฝน (Pteropus vampyrus) จัดเป็นศัตรูพืชของเกษตรกรชนิดหนึ่ง นอกจากนี้การกินผลไม้ เช่น กล้วย ฝรั่ง ที่ค้างคาวกินทิ้งไว้ และปีนต้นไม้ที่มีค้างคาวมาเกาะ ก็อาจเป็นปัจจัยเสี่ยงในการติดเชื้อไวรัสนิปาห์ด้วยเช่นกัน
แผนที่แสดงการกระจายพันธุ์ของค้างคาวผลไม้ (ที่มา : Wikipedia)
อาการของผู้ติดเชื้อไวรัสนิปาห์
- มีลักษณะอาการคล้ายกับอาการไข้หวัดธรรมดา เช่น มีไข้ ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยตามเนื้อตามตัว
- หายใจเร็ว หรือหายใจลำบาก
- หากเริ่มมีอาการหนักขึ้น จะเริ่มไอเสียงดัง
- อาจมีอาการแทรกซ้อนที่อันตรายขึ้นมา เช่น ปอดบวม สมองอักเสบ ส่วนใหญ่เมื่ออาการหนักจะมีอาการคล้ายโรคสมองอักเสบ (คนไทยจะเรียกโรคนี้ว่า โรคสมองอักเสบนิปาห์)
- เริ่มซึม สับสน หรือมีอาการชัก
หากปล่อยให้อาการเริ่มหนักขึ้นเรื่อยๆ โดยไม่รีบทำการรักษา อาจเสี่ยงเสียชีวิตได้ อัตราการเสียชีวิตด้วยโรคไข้สมองอักเสบนิปาห์ในคนประมาณร้อยละ 40
การรักษาโรคติดเชื้อไวรัสนิปาห์
ปัจจุบันยังไม่มียาตัวไหนที่สามารถต้านทานไวรัสนิปาห์ได้โดยตรง รวมไปถึงยังไม่มีวัคซีนที่สามารถป้องกันไวรัสนิปาห์นี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย ดังนั้นแพทย์จะทำการรักษาตามอาการ โดยอาจใช้ยาต้านไวรัส Ribavirin ในผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสนิปาห์ สามารถลดความรุนแรงของโรคได้
การป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสนิปาห์
- ล้างมือด้วยสบู่ให้สะอาดทุกครั้ง เมื่อต้องสัมผัสกับสัตว์ เนื้อสัตว์ ซากสัตว์ (โดยเฉพาะสุกร ม้า แมว แพะ แกะ และค้างคาวผลไม้)
- ห้ามรับประทานเนื้อสัตว์สุกๆ ดิบๆ
- ชำระล้างเครื่องใช้ในครัวเรือน รวมถึงอุปกรณ์ของใช้ส่วนตัวต่างๆ ให้สะอาดด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อโรค เมื่ออยู่ในแหล่งที่มีความเสี่ยงที่จะติดโรค เช่น ในป่าทึบ ในแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์
- หากพบซากสัตว์ที่ตายโดยไม่สามารถระบุสาเหตุที่ชัดเจน ไม่ควรนำมารับประทาน ควรทำลายซากด้วยการเผา หรือฝัง
- หากพบสัตว์ หรือซากสัตว์ที่ติดเชื้อ ไม่ควรเคลื่อนย้าย หรือลากสัตว์ออกจากจุดที่พบเกิน 2 กิโลเมตร เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรค
- ไม่รับประทานผลไม้ที่ตกอยู่กับพื้นในป่า หรือตามพื้นในที่ต่างๆ โดยเฉพาะที่มีรอยกัดแทะของสัตว์
จนถึงปัจจุบัน ยังไม่พบผู้ติดเชื้อไวรัสนิปาห์ในประเทศไทย แต่กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขไม่ได้นิ่งนอนใจต่อการแพร่ระบาดของโรคนี้ ยังคงติดตามเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของเชื้อโรค ตรวจสอบผู้ที่เดินทางกลับมาจากแหล่งที่เชื้อโรคระบาด รวมไปถึงเตรียมความพร้อมในการตรวจหาเชื้อจากผู้ที่เสี่ยงได้รับเชื้อที่สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุขตลอดเวลาราชการ