"แคปซูลฝังเซ็นเซอร์กลืนได้" วิทยาการใหม่ช่วยตรวจโรคในลำไส้
ส่วนประกอบทางชีววิทยาของยาเเคปซูลฝังเซ็นเซอร์แบบกลืนได้นี้ เป็นเเบคทีเรียที่ถูกปรับเเต่งให้เรืองเเสงเมื่อสัมผัสกับโมเลกุลในเลือดที่มีธาตุเหล็กอยู่ภายใน
และส่วนประกอบทางอิเลคทรอนิกส์ของแคปซูลยานี้ มีทั้งตัววัดเเสงขนาดจิ๋ว ชิพคอมพิวเตอร์ แบตเตอรี่เเละตัวส่งสัญญาณวิทยุที่ทำหน้าที่ส่งข้อมูลไปยังโทรศัพท์มือถือหรือเครื่องคอมพิวเตอร์
ฟิลลิป นาโด (Phillip Nadeau) วิศวกรไฟฟ้าแห่งสถาบันเทคโนโลยีเเมสสาชูเซทส์ หรือเอ็มไอที (MIT) กล่าวว่า องค์ประกอบทั้งหมดนี้ถูกบรรจุอยู่ด้วยกันในเเคปซูลที่ยาว 3 เซนติเมตร กว้าง 1 เซนติเมตร
อุปสรรคหลักของการใช้เเคปซูลเซ็นเซอร์เพื่อตรวจหาความผิดปกติในลำไส้ของคน คือพื้นที่ในลำไส้มีจำกัด นาโดกล่าวว่า หากทีมงานเดินหน้าพัฒนาทางวิศวกรรมต่อไป พวกเขาจะสามารถทำให้ขนาดของยาเเคปซูลนี้เล็กลงมาจากขนาดปัจจุบันได้
จากการทดสอบหลายครั้งในห้องทดลอง แคปซูลเซ็นเซอร์ลำไส้เเบบกลืนได้นี้ สามารถแยกได้สำเร็จว่าหมูทดลองตัวใดได้กินเลือดในปริมาณเล็กน้อยกับหมูทดลองตัวที่ไม่ได้กินเลือด
อุปกรณ์นี้ยังไม่ได้รับการทดสอบในร่างกายคน เเต่ทีมนักวิจัยตั้งเป้าหมายว่าจะนำไปทดลองในคนภายใน 1 ถึง 2 ปี
เจฟ ทาบอร์ (Jeff Tabor) วิศวกรด้านชีวการแพทย์แห่งมหาวิทยาลัยไรซ์ (Rice University) ซึ่งไม่มีส่วนในการทดลองนี้ กล่าวว่า ผลการทดลองดังกล่าวถือเป็นความคืบหน้าก้าวแรกที่ดี เเต่อุปกรณ์นี้อาจจะยังไม่มีความละเอียดอ่อนพอในการตรวจหาโรคได้ในผู้ป่วยจริงๆ
เขากล่าวว่า สำหรับโรคหลายๆ โรคที่เกิดขึ้นจริงๆ ร่างกายผู้ป่วยอาจจะมีโมเลกุลชนิดนี้ในปริมาณน้อยกว่าปริมาณที่อุปกรณ์จะตรวจจับได้
แต่ทาบอร์กล่าวว่า เขาตื่นเต้นมากเกี่ยวกับผลงานนี้เเละถือเป็นความคืบหน้าครั้งสำคัญมาก
ผลการวิจัยนี้ตีพิมพ์ในวารสาร Science ไปเมื่อเร็วๆ นี้
** ภาพประกอบไม่เกี่ยวกับเนื้อหา