สิ่งที่ทำให้เข้าใจผิด คิดว่าเป็น "โรคหัวใจ"
เชื่อว่าหลายๆ คนอาจจะเคยมีอาการหายใจติดขัดบ้าง เหนื่อยง่ายบ้าง หัวใจเต้นเร็ว แรง ไม่สม่ำเสมอบ้าง หรือจู่ๆ ก็เกิดเจ็บจี๊ดตรงหัวใจขึ้นมาดื้อๆ แบบไม่มีสาเหตุ คงจะคิดกันไปไกลแล้วว่านี่อาจเป็นสัญญาณบอกว่าต้องเป็น "โรคหัวใจ" แน่ๆ จนเกิดเป็นความกังวล ก็จะให้ไม่เกี่ยวได้ยังไง ในเมื่ออาการบ่งชี้ชัดเจนขนาดนั้น แต่เดี๋ยวก่อน อาการบางอย่างที่เกิดขึ้นกับหัวใจ ไม่ได้แปลว่าเราจะเป็นโรคหัวใจ Sanook! Health เลยขอยกตัวอย่างกันให้เห็น ว่าอาการแบบไหนบ้างที่ไม่เข้าข่าย
อาการไหนที่ทำให้เข้าใจผิด คิดว่าเป็นโรคหัวใจ
1. อาการหัวใจเต้นแรงที่เกิดจาก "คาเฟอีน"
เป็นเรื่องปกติที่หากเราดื่มกาแฟ หรือเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของคาเฟอีน จะทำให้เกิดผลตามมาต่อระบบประสาทออโตโนมิกที่จะไปกระตุ้นให้การทำงานเกิดผิดปกติ เป็นสาเหตุทำให้หัวใจเต้นเร็วและไม่สม่ำเสมอ แต่หากมีอาการอื่นร่วมด้วย อาทิ หน้ามืด เจ็บหน้าอก หรือวิงเวียนศีรษะ ก็ไม่ได้สื่อว่ากำลังจะเป็นโรคหัวใจอยู่ดี แต่เป็นเพราะผลข้างเคียงที่เกิดจากคาเฟอีนเท่านั้น อย่างไรก็ตาม หากเกิดอาการที่กล่าวมาต้องรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจอาการต่างๆ อีกครั้งให้แน่ใจ
2. อาการที่เกิดจากภาวะขาดน้ำ
เมื่อไหร่ที่ร่างกายของเราได้รับน้ำไม่เพียงพอต่อปริมาณที่ต้องการในแต่ละวัน ร่างกายก็จะเริ่มส่งสัญญาณบางอย่าง อาจมาในรูปแบบที่กล้ามเนื้อทำงานผิดปกติ ส่งผลให้ปากแห้ง แตก หน้าซีด เป็นตะคริว ปวดศีรษะ ไปจนถึงทำให้อัตราการเต้นของหัวใจไม่สม่ำเสมอได้ ฉะนั้น จะต้องดื่มน้ำสะอาดอย่างน้อยวันละ 2.2 ลิตร เพื่อให้ร่างกายชุ่มชื่น หล่อเลี้ยงให้ระบบต่างๆ ในร่างกายทำงานได้ตามปกติและมีประสิทธิภาพ
3. อาการที่เกิดจากยาลดน้ำมูก กระตุ้นให้หัวใจเต้นแรง
ยาลดน้ำมูกในกลุ่ม ซูโดอีเฟดรีน (pseudoephedrine) อาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้อัตราการเต้นของหัวใจผิดปกติไปจากเดิม ดังนั้น ให้คอยสังเกตอาการที่จะเกิดขึ้นหลังทานยา หากมีความผิดปกติให้รีบปรึกษาแพทย์เพื่อเปลี่ยนยาตัวใหม่ทันที
4. อาการที่เกิดจากผลข้างเคียงจากตัวยาบางชนิด
ถึงแม้ตัวยาบางชนิดจะช่วยบรรเทา หรือรักษาอาการของโรคที่เกิดขึ้นได้ แต่ก็มีผลข้างเคียงที่ทำให้เกิดความผิดปกติต่อหัวใจอยู่ อาทิ ยาที่ใช้ในการรักษาโรคหอบหืดและโรคไทรอยด์ ยาในกลุ่มนี้มีผลข้างเคียงที่จะไปเร่งอัตราการเต้นของหัวใจให้เร็วขึ้น ฉะนั้นเพื่อป้องกันผลข้างเคียงนี้ ผู้ป่วยควรศึกษาคำแนะนำก่อนการใช้ยาทุกครั้งและให้สังเกตอาการของตัวเองหลังจากที่ทานยาเข้าไปแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ป่วยที่แพทย์จ่ายยาตัวใหม่และผู้ป่วยที่ซื้อยามาทานเอง หากมีความผิดปกติเกิดขึ้น ก็ให้รีบปรึกษาแพทย์ หรือแจ้งเภสัชกรที่จ่ายยาทันที
5. อาการที่เกิดจากการมีโลหะหนักสะสมอยู่ในร่างกาย
เราไม่อาจรู้ได้ว่าอาหารที่เรารับประทาน หรือสภาพแวดล้อมที่เราดำเนินชีวิตอยู่ในทุกวันนี้จะมีการเจือปนของแคดเมียม ปรอท หรือโลหะหนักอื่นๆ หรือไม่ แต่หากมีการรับและสะสมอยู่ในร่างกายมากๆ ก็อาจทำให้หลอดเลือดเกิดการอักเสบ แข็งตัว และทำให้หัวใจเกิดความผิดปกติในที่สุด แน่นอนว่ามีผลทำให้อัตราการเต้นของหัวใจผิดปกติไปด้วย ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นผู้ที่ทำงานอยู่ในระบบอุตสาหกรรม
6. อาการที่เกิดจากภาวะโลหิตจาง
ตามปกติ ผู้ป่วยที่มีภาวะโลหิตจางมักมีสาเหตุมาจากร่างกายขาดธาตุเหล็กจนไม่สามารถสร้างเม็ดเลือดแดงที่สมบูรณ์ได้ ทำให้การขนถ่ายออกซิเจนไปสู่เนื้อเยื่อจึงค่อนข้างลำบากและกระทบกับการทำงานของหัวใจ ซึ่งผลเสียที่ตามมา คือ หัวใจเต้นผิดปกติ เหนื่อยง่าย และผมหลุดร่วง ถึงแม้ในผู้ป่วยบางคนจะมีอัตราการเต้นของหัวใจที่สม่ำเสมอ แต่มีจังหวะที่หนักแน่น ก็นับว่าผิดปกติได้เช่นกัน
7. อาการที่เกิดจากภาวะตื่นเต้นตกใจ
หากมีอาการตื่นเต้น หรือตกใจอะไรมากๆ จนเหมือนว่าหัวใจจะทะลุออกข้างนอก ตัวสั่น เหงื่อซึม รู้สึกหวิวๆ คล้ายจะเป็นลม หากมองให้ดี อาการเหล่านี้ไม่ได้สื่อว่าเราเสี่ยงที่จะเป็นโรคหัวใจ แต่เป็นเพียงความรู้สึกเมื่อมีบางอย่างมากระตุ้นเท่านั้น หรืออาจตกอยู่ในภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะที่เกิดจากปฏิกิริยาคลื่นไฟฟ้าแตกตัว ทำให้หัวใจเต้นเร็ว แรง และมีอาการข้างเคียงอื่นๆ ตามมา หากมีอาการเช่นนี้เกิดขึ้นบ่อย แนะนำให้ไปปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจอาการอย่างละเอียด หรือหากบางคนที่ชอบตกใจเกินเหตุก็อาจขอคำปรึกษาจากจิตแพทย์และสามารถขอรับยาลดความวิตกมาใช้ร่วมด้วย