สาเหตุของอาการ “ถ่ายเป็นเลือด” อันตรายแค่ไหน?

สาเหตุของอาการ “ถ่ายเป็นเลือด” อันตรายแค่ไหน?

สาเหตุของอาการ “ถ่ายเป็นเลือด” อันตรายแค่ไหน?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ว่ากันว่าลักษณะของอุจจาระสามารถบอกโรคได้ (อ่านต่อ >> 9 ลักษณะ และสี "อุจจาระ" บอกโรค) ทุกวันนี้หลายคนอาจจะรีบเสียจนไม่ทันหันไปสังเกตลักษณะของอุจจาระตัวเองก่อนกดชักโครก แต่อันที่จริงแล้วหากลักษณะของอุจจาระผิดปกติมากๆ อย่างอาการ “ถ่ายเป็นเลือด” นั่นคือสัญญาณอันตรายที่เราไม่อาจมองข้ามได้ และอาจไม่ได้เกิดจากอาหารที่เราทานเสมอไป

 

“ถ่ายเป็นเลือด” เป็นอย่างไร?

อาการถ่ายเป็นเลือด มีทั้งอาการที่ลักษณะของอุจจาระเป็นเลือดเข้มข้นดำคล้ำเป็นเมือกๆ เหมือนยางมะตอย กับการถ่ายเป็นอุจจาระปกติแล้วมีเลือดสดๆ หยุดเป็นติ๋งๆ ปนออกมากับอุจจาระด้วย ลักษณะของเลือดที่ปนกับอุจจาระจะแตกต่างไปจากสาเหตุที่เกิดขึ้น

 

สาเหตุของอาการถ่ายเป็นเลือด

- อุจจาระแข็ง มีเลือดสดๆ หยดตาม

อาจมีความเสี่ยงเป็นโรคริดสีดวงทวาร ที่อาการท้องผูก อุจจาระแข็ง จนทำให้ปากทวารหนักเป็นแผล หรือลำไส้ใหญ่ส่วนปลายบางส่วนโผล่ออกมา

 

- อุจจาระเป็นเหมือนก้อนเลือดเหนียวๆ

เกิดจากอาการเลือดออกที่อวัยวะเกี่ยวข้องกับทางเดินอาหาร เช่น กระเพาะอาหาร ลำไส้ หรืออาจะเป็นอาการแรกของโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ โดยอาจเกิดจากการรับประทานยาแก้ปวดกลุ่ม NSAIDS เป็นประจำ ที่มีผลข้างเคียงคือ มีอาการเลือดออกในกระเพาะอาหาร หรือทางเดินอาหารได้ หรืออาจเป็นอาการอักเสบของอวัยวะเหล่านั้น

 

อันตรายของอาการถ่ายเป็นเลือด

เมื่อเราทราบถึงลักษณะของอุจจาระ และสาเหตุที่เกิดขึ้นแล้ว เราก็จะทราบถึงระดับความอันตรายของอาการที่คุณเป็น เช่น หากสาเหตุมาจากปากทวารหนักเป็นแผลจากอาการท้องผูก ให้ดื่มน้ำ ทานอาหารที่มีกากใยอาหารมากๆ หรือทานอาหารที่มีฤทธิ์เป็นยาระบายอ่อนๆ เช่น น้ำมะขาม น้ำมะนาว ให้อาการท้องผูกดีขึ้น ระดับนี้แปลว่าอันตรายไม่มากนัก หากอาการท้องผูกทุเลาลง ก็จะสามารถหยุดการถ่ายเป็นเลือดได้

แต่หากเป็นอาการถ่ายเป็นเลือดที่เกิดจากโรคริดสีดวงทวาร (ที่มีอาการถ่ายเป็นเลือดเรื้อรังไม่หาย) รวมไปถึงการถ่ายเป็นเลือดแบบเมือกข้นเหนียวสีคล้ำดำ และมีกลิ่นรุนแรง อาจมีเลือดออก หรืออาการอักเสบในระบบทางเดินอาหารที่อวัยวะใดอวัยวะหนึ่ง จึงควรรีบพบแพทย์โดยเร็วที่สุด หากกำลังทานแก้ปวดอยู่ ควรนำยาแก้ปวดนั้นไปให้แพทย์พิจารณาด้วย เพราะหากเป็นผู้ป่วยโรคที่เกี่ยวข้องกับตับ ก็อาจมีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อช่องท้อง และติดเชื้อในกระแสเลือดตามมาด้วยได้

นอกจากนี้ ผู้ป่วยที่ถ่ายเป็นเลือดจำนวนมาก อาจมีอาการความดันโลหิตต่ำ เวียนศีรษะ หน้ามืดเป็นลม หรืออาจมีอาการช็อกได้ เพราะถือว่าเป็นการสูญเสียเลือดจำนวนมาก ในเวลาอันรวดเร็ว

 

การรักษาอาการถ่ายเป็นเลือด

  1. หากมีบาดแผลที่ทวารหนัก หรือเป็นโรคริดสีดวงทวาร อาจนั่งแช่น้ำอุ่นเพื่อช่วยบรรเทาอาการบาดเจ็บที่แผล และรักษาอาการท้องผูกควบคู่กันไป (ในบางรายอาจได้ยามารักษาเพิ่มเติม)

  2. หากมีเลือดออกมาระบบทางเดินอาหาร แพทย์จะสอดกล้องพร้อมเครื่องมือเข้าไปทางทวารหนัก เพื่อตรวจหาอวัยวะที่มีเลือดออก และทำการห้ามเลือดโดยเฉีดสารให้เลือดหยุดไหล หรือใช้เลเซอร์ หรืออุปกรณ์อื่นๆ ในการยึดปิดเส้นเลือดที่เสียหาย และมีเลือดไหล

  3. หากมีอาการอักเสบ แพทย์อาจพิจารณาให้ยาแก้อักเสบ หรือยาต้านการอักเสบ เพื่อรักษาอาการติดเชื้อ

  4. หากพบติ่งเนื้อในบางส่วนของทางเดินอาหาร แพทย์อาจพิจารณาการผ่าตัดเพื่อเอาติ่งเนื้อนั้นออกมา โดยอาจเป็นติ่งเนื้อธรรมดา หรือเนื้อร้าย (มะเร็ง) ก็ได้

 

วิธีป้องกันอาการถ่ายเป็นเลือด

  1. ระมัดระวังอาหารการกินไม่ให้เกิดอาการท้องผูก ดื่มน้ำให้เพียงพอ รับประทานอาหารที่มีกากใยอาหารมากๆ เช่น ผัก ผลไม้ ธัญพืช ลดอาหารประเภทเนื้อสัตว์ติดไขมัน แป้งขัดสี ให้น้อยลง หากเป็นโรคริดสีดวงทวาร ให้รีบรักษาให้หาย

  2. ออกกำลังกายเป็นประจำทุกวัน ช่วยให้ระบบต่างๆ ภายในร่างกายทำงานได้อย่างปกติ

  3. หากไม่มีความจำเป็นที่จะต้องรับประทานยาแก้ปวดกลุ่ม NSAIDS ก็ควรเลี่ยงไปใช้ยาตัวอื่น เพื่อลดอาการข้างเคียงอย่าง เลือดออกในกระเพาะอาหารได้

  4. หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ เพราะแอลกอฮอล์เข้าไปทำปฏิกิริยากับเนื้อเยื่ออวัยวะภายในร่างกาย จนอาจมีความเสี่ยงเกิดแผลในกระเพาะอาหาร และลดประสิทธิภาพในการแข็งตัวของเลือดได้
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook