“หักข้อนิ้วมือ” ทำบ่อยๆ อันตราย-เสี่ยงข้ออักเสบหรือไม่?
ในละคร หรือภาพยนตร์ เมื่อฝ่ายที่กำลังเตรียมตัวจะใช้กำลังกับอีกฝ่าย เตรียมตัวแสดงบทแอคชั่นต่อยเตะคน มักมีฉากที่ตัวละครนั้นๆ ทำหน้ามั่นใจ พร้อมกับยกมือขึ้นมาประสานนิ้วกัน และหักนิ้วดังกร๊อบ ก่อนจะวิ่งเข้าไปต่อยเตะอย่างมืออาชีพ แต่ในชีวิตนิสัยชอบหักนิ้วของหลายคนไม่ได้ทำเพื่อจะไปแอคชั่นกับใคร นั่งทำงานอยู่เฉยๆ ก็ยกมือขึ้นมาประสาน พร้อมหักนิ้วเสียงกร๊อบแกร๊บดังสนั่นน่าเกรงขาม พอถามว่าหักนิ้วทำไม เจ้าตัวก็บอกว่า “ก็มันเมื่อย”
แต่จริงๆ แล้วการหักข้อนิ้วมือบ่อยๆ แบบนี้ จะส่งผลเสียอะไรกับมือของเราหรือเปล่า?
เกิดอะไรขึ้น เมื่อเรา “หักข้อนิ้ว”?
อันดับแรกเรามารู้ส่วนประกอบเล็กๆ น้อยๆ ภายในข้อต่างๆ ของกระดูกกันก่อนดีกว่า ดร. Pedro Beredjiklian หัวหน้าแผนกศัลยกรรมมือ และข้อมือ จากสถาบัน Rothman ใน Philadelphia ระบุว่า ภายในข้อของกระดูกที่ทำให้เราขยับได้อย่างอิสระนั้น จะมีน้ำใสๆ ที่อยู่ภายในช่องว่างระหว่างปลายกระดูก (Joint space) ทำหน้าที่หล่อลื่นข้อต่างๆ เหล่านั้น และเป็นแหล่งอาหารสำหรับเซลล์กระดูกอ่อนบริเวณข้อ น้ำในข้อต่อนี้จะช่วยให้การขยับข้อต่อของเราไหลลื่นไม่ฝืดเคือง หรือเสียดสีกันระหว่างกระดูก
ดังนั้น หากเราพยายามดึง บิด หรือหักข้อต่อเหล่านั้นบ่อยๆ อาจเป็นการเพิ่มพื้นที่ช่องว่างระหว่างกระดูกให้มากขึ้น พื้นที่ที่เพิ่มขึ้นจะเป็นการเพิ่มแรงดันอากาศต่ำภายในข้อต่อมากยิ่งขึ้น เป็นผลให้น้ำใสๆ ที่หล่อลื่นข้อต่ออยู่ไหลออกไปอยู่ในพื้นที่ช่องว่างนั้นๆ (เสียงดังกร๊อบจากกากหักข้อนิ้ว ไม่ได้มาจากกระดูกหรือกล้ามเนื้ออะไรแถวนั้น แต่เป็นเสียงที่น้ำหล่อเลี้ยงข้อต่อไหลออกไปสู่พื้นที่ว่างที่ถูกสร้างขึ้นมาใหม่ภายในข้อต่ออย่างรวดเร็ว)
ยิ่งคุณหักข้อนิ้วบ่อยมากแค่ไหน คุณก็ยิ่งทำการยืดหดช่องว่างระหว่างข้อต่อนั้น รวมถึงกล้ามเนื้อเอ็นต่างๆ รอบๆ ข้อนิ้วมากขึ้นตามไปด้วย และเมื่อคุณยิ่งขยายพื้นที่ว่างในข้อต่อนั้นมากขึ้นเท่าไร การหักข้อนิ้วของคุณก็จะส่งเสียงดังมากขึ้นเท่านั้น
หักข้อนิ้ว อันตรายหรือไม่?
จากการศึกษาอย่างต่อเนื่องกับกลุ่มผู้ป่วยโรคข้อกระดูกอักเสบ ผู้ที่ชอบหักข้อนิ้วของตัวเองอยู่เป็นประจำ พบว่า ไม่มีหลักฐานใดที่สามารถบ่งชี้ได้ว่า การหักข้อนิ้วจะทำให้มีอาการของโรคข้อกระดูกอักเสบมากกว่าคนที่ไม่เคยหักข้อนิ้ว อีกรายงานหนึ่งระบุว่า คนที่หักข้อนิ้วบ่อยๆ มีระดับความปวดบวม ความอ่อนแอ กล้ามเนื้อเอ็นหย่อน และการทำงานของส่วนต่างๆ ของข้อต่อเหมือนกันกับคนที่ไม่ได้หักข้อนิ้วเลย นอกจากนี้ยังมีผลการวิจัยของนักวิจัยที่ลองหักนิ้วมือข้างเดียวเป็นเวลากว่า 60 ปี พบว่ามือข้างหัวข้อนิ้ว ไม่ได้มีความเสี่ยงของภาวะข้ออักเสบไปมากกว่ามืออีกข้างเลยเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม การที่ข้อต่อมีเสียงระหว่างขยับเขยื้อนไปมา ไม่ได้มาจากการหักข้อต่อด้วยตัวเองเพียงอย่างเดียว อาจมีสาเหตุมาจากอาการเส้นเอ็นเสียดสีกัน กระดูกผิดรูปผิดร่าง หรือลักษณะของข้อต่อที่เปลี่ยนไป หรือสาเหตุอื่นๆ ได้ อาการเจ็บปวดจากการขยับข้อต่อก็แล้วแต่สรีระ และส่วนต่างๆ ของร่างกายของแต่ละคนที่ไม่เหมือนกัน แต่หากมีเสียงดังกร๊อบแกร๊บจากการขยับคอ บ่า ไหล่ เข่า หรือข้อต่างๆ บ่อย และอาจจะเสียงดังจนสร้างความรำคาญ หรือเสียบุคลิกภาพ ควรปรึกษาแพทย์ด้านกระดูกเพื่อทำการหาสาเหตุที่แท้จริง และทำการรักษาต่อไป
สามารถติดต่อได้ที่
ภาควิชาศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิคส์และกายภาพบำบัด คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
เลขที่ 2 ถนนวังหลัง เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ 10700
โทรศัพท์ 02-419-7964, แฟกซ์ 02-4128172