การทำ "ดีท็อกซ์ลำไส้" ดีจริงหรือ?
รองศาสตราจารย์นายแพทย์สถาพร มานัสสถิตย์
ภาควิชาอายุรศาสตร์
Faculty of Medicine Siriraj Hospital
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
การทำดีท็อกซ์เป็นอย่างไรเหมือนกับการสวนล้างลำไส้หรือไม่
การทำดีท็อกซ์ เป็นการเอาสารพิษออกจากร่างกาย ส่วนการสวนล้างลำไส้คือ การเอาน้ำใส่เข้าไปในลำไส้แล้วล้างเอาอุจจาระออกมา ทั้งสองแบบมาเกี่ยวข้องกันคือ คนมีความเชื่อว่าการสวนล้างลำไส้เป็นวิธีการหนึ่งที่จะเอาสารพิษออกจากร่างกาย จึงใช้คำสองคำนี้ใช้ปะปนกันว่า การทำดีท็อกซ์เป็นการสวนล้างลำไส้
ความเป็นมาของการทำดีท็อกซ์
ความเป็นมาของการทำดีท็อกซ์หรือการสวนล้างลำไส้ เป็นวิธีการหนึ่งของแพทย์แผนโบราณที่ใช้รักษาโรคหรือการเจ็บป่วยอะไรก็ตาม โดยทำให้คนไข้มีการถ่ายอุจจาระ เป็นความเชื่อว่าการระบายเอาอุจจาระออกสามารถที่จะให้ไข้ลดลง คนไข้อาการดีขึ้นเหมือนกับเข้าใจว่าเป็นการทำให้สารพิษออกจากร่างกาย จะเห็นได้ว่ายาแผนโบราณหลายๆ ตัวจะออกฤทธิ์ทำให้ระบาย สำหรับวิธีที่จะทำให้ระบายออกมากๆ ก็ใช้วิธีสวนล้างอุจจาระออกมาเลยจะทำให้อาการดีขึ้น การทำดีท็อกซ์จึงมีการปฏิบัติและทำมายาวนาน แต่ว่ายังไม่มีผู้สนใจที่จะนำมาทำอย่างเป็นเรื่องเป็นราว
การทำดีท็อกซ์ทำเพื่ออะไร
การสวนล้างลำไส้ที่มีมาแต่โบราณนั้น ส่วนใหญ่ก็จะมีข้อบ่งชี้สารพัน ตั้งแต่ลดไข้ ท้องอืด ท้องเสีย แน่นท้อง แม้กระทั่งรักษามะเร็งได้ คำกล่าวอ้างก็จะพอกพูนมาเรื่อยๆ ในอดีต ไม่ว่าจะเป็นโรคปวดศีรษะไขมันสูง ความดันโลหิตสูง ตับอักเสบ นอนไม่หลับ โรคต่างๆ ที่กล่าวอ้างอย่างมากมายนั้น โดยตัวโรคของมันเอง บางครั้งอาจทำให้คนไข้ดีขึ้นได้ หรือบางครั้งมาพบแพทย์หรือทำอะไรบางอย่างก็ดีขึ้นได้ แต่จะดีขึ้นได้จริงหรือไม่จะต้องทำการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ด้วยการทำการศึกษาแบบชนิดสุ่ม มีการพิสูจน์กับคนไข้ว่าถ้าใช้ยาจริงแล้วดีขึ้น หรือว่าใช้ยาหลอกแล้วดีขึ้นร้อยละเท่าไร แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญหรือไม่ ซึ่งการทำดีท็อกซ์การพิสูจน์อย่างนี้ไม่มี เป็นการทำเหมือนเป็นประเพณีที่ทำกันมาแต่อดีตจนถึงปัจจุบันและทำกันต่อมาเรื่อยๆ บางคนทำแล้วมีความรู้สึกดีขึ้นหลังจากได้ทำ ซึ่งอาจเป็นความรู้สึกช่วงสั้นๆ ไม่ใช่ระยะยาว มีบางคนบอกว่า แม้กระทั่งไปรักษามะเร็งแต่จะเห็นว่าคนไข้ที่เป็นมะเร็งส่วนใหญ่ไปทำก็ยังคงเสียชีวิตอยู่ดี แต่ว่าในช่วงแรกๆ อาจจะทำแล้วเกิดความรู้สึกดีขึ้น สบายขึ้น เนื่องจากเป็นช่วงสั้นๆ เพราะฉะนั้นวิธีนี้ก็เป็นการช่วยเหลือหรือให้ความหวังเพื่อให้คนไข้รู้สึกดีขึ้น ถือว่าเป็นประโยชน์กับคนไข้ ในช่วงระยะเวลาสั้นๆ
ขั้นตอนการทำดีท็อกซ์
วิวัฒนาการในการทำดีท็อกซ์สวนล้างลำไส้มีมานานแล้ว มีบางคนพยายามใช้น้ำเปล่าๆ สวนล้างอุจจาระออกพบว่าไม่ดี อาจจะมีการเอาสารอย่างอื่นเข้ามาในน้ำที่สวนล้างลำไส้ซึ่งก็มีการพัฒนาหลายอย่าง ในอดีตมีการใช้น้ำผึ้ง น้ำชา เหล้า เบียร์ หรือว่าใช้สารสบู่ต่างๆ เข้าใจว่าสามารถที่จะสวนล้างเอาสารพิษออกได้ดีขึ้น ทำอย่างนี้เรื่อยมาจนต่อมามีความเชื่อว่า การใช้กาแฟมีฤทธิ์ทำให้มีการขยายตัวของเส้นเลือด ถ้าให้เข้าไปแล้วจะทำให้ตับมีการขยายตัว เส้นเลือดมีการทำงานดีขึ้น ทั้งนี้ ตับเป็นอวัยวะที่ทำลายสารพิษอยู่แล้วในร่างกาย ในการที่ไปกระตุ้นให้ตับทำงานก็จะทำให้สารพิษขับออกจากร่างกายดีขึ้น มีทฤษฎีสนับสนุนในทางปฏิบัติจริงๆ จะเป็นอย่างนั้นหรือไม่ ไม่ได้รับการพิสูจน์ว่ามันสามารถที่จะกำจัดสารพิษออกจากร่างกายได้จริงหรือไม่และสารพิษตัวที่กล่าวถึงอยู่นั้นไม่มีใครรู้ว่าสารพิษที่กำจัดนั้นคืออะไร จึงมีความเชื่อกันว่าการทำดีท็อกซ์จะช่วยล้างสารพิษที่ตกค้างหรือสะสมในร่างกายโดยการนำกาแฟเข้ามาผสมน้ำทำให้มีถ่ายท้อง ก็คือวิธีการทำดีท็อกซ์
กาแฟที่นำมาทำดีท็อกซ์กับกาแฟที่ดื่มเหมือนหรือแตกต่างกันหรือไม่
ส่วนใหญ่ที่บอกว่ามีการใช้กาแฟเป็นกระบวนการล้างลำไส้เป็นกาแฟที่หาได้ตามท้องตลาดทั่วไปมีสารคาเฟอีน เมื่อกาแฟเข้าไปร่างกายสามารถที่จะดูดซึมเพราะลำไส้มีหน้าที่ดูดซึมสารต่างๆ เหมือนกับการดื่มกาแฟ เพียงแต่ว่ากาแฟนั้นมันดูดซึมเข้าไปในส่วนของลำไส้ และจากลำไส้สามารถเข้าสู่ตับโดยตรง ก็เป็นความเชื่อตรงนี้ แทนที่จะดื่มก็เอาไปสวนล้าง สำหรับปริมาณไม่มีใครกำหนดว่าควรจะต้องใช้กาแฟเท่าไร บางคนอาจจะบอกว่าต้องใช้ 1 ช้อนชา 1 ช้อนโต๊ะหรือว่าเท่าไร ไม่มีการศึกษาว่าขนาดที่ถูกต้องหรือจำนวนเท่าไร รวมทั้งการใช้กาแฟได้ผลหรือไม่ก็ยังไม่ทราบแน่ชัด เพราะการทำดีท็อกซ์นั้นยังไม่ได้รับการพิสูจน์ทางด้านการแพทย์
ความจำเป็นในการสวนล้างลำไส้
ในทางการแพทย์นั้นมีการสวนล้างลำไส้จริง แต่จะไม่มีการทำกับคนปกติทั่วๆ ไป คนที่ท้องผูก เล็กๆ น้อยๆ ส่วนใหญ่จะใช้ยาระบายจะไม่ใช้การสวน คนที่ท้องผูกอย่างมากอุจจาระไม่ออก ทางการแพทย์ก็จะทำการสวนล้างลำไส้ หรือในกรณีที่คนไข้จะต้องเอกซเรย์ ไม่ต้องการให้อุจจาระในลำไส้บดบังส่วนที่จะทำเอกซเรย์ จึงต้องสวนเอาอุจจาระออก เพราะฉะนั้น การล้างลำไส้ก็เป็นการเอาอุจจาระออกให้เร็วขึ้นเท่านั้นเอง นอกจากนี้ ยังมีกรณีคนไข้ที่มีลำไส้อุดตัน อุจจาระไม่ออก แพทย์ก็จะล้างออกเพื่อให้คนไข้มีอาการดีขึ้น หรือคนไข้ที่เตรียมผ่าตัด เป็นต้น ในทางการแพทย์จะต้องมีข้อบ่งชี้ในการสวนล้างลำไส้ โดยจะไม่ทำอย่างพร่ำเพรื่อ
การทำดีท็อกซ์ควรทำหรือไม่อย่างไร
การทำดีท็อกซ์ หากจำเป็นต้องทำจะต้องมีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ โดยแพทย์จะเป็นผู้ตรวจและวินิจฉัยว่าเห็นสมควร หากปกติหรือมีอาการปวดท้องหรือป่วยเล็กๆ น้อยๆ ก็ไม่แนะนำให้ทำเพราะไม่มีประโยชน์ ถือเป็นการทำระยะสั้นๆ ซึ่งถ้าทำแล้วก็จะต้องทำบ่อยๆ และจะต้องทำไปตลอดเมื่อมีอาการ
การทำดีท็อกซ์เป็นกรรมวิธีทางการแพทย์ จะต้องทำโดยแพทย์หรือพยาบาล เป็นการเอาน้ำใส่เข้าไปทางลำไส้ใหญ่ แล้วบีบไล่น้ำขึ้นไป การไล่น้ำขึ้นไปบางครั้งต้องใช้แรงดัน ฉะนั้นเมื่อน้ำที่เข้าไปก็มีการแลกเปลี่ยน มีการดูดซึมเข้าสู่ร่างกาย ฉะนั้นหากทำไม่ถูกวิธีหรือใส่น้ำที่มีความเข้มข้นไม่ถูกต้องก็อาจจะทำให้เกลือแร่ในร่างกายผิดปกติ หรืออาจทำให้มีโซเดียมสูงหรือต่ำเกินไปในกระแสเลือดได้ หรือการใส่ปริมาณน้ำที่มากเกินไปจะทำให้ลำไส้มีการโป่งมากขึ้น ลำไส้บางคนที่มีโรคอยู่แล้วและไม่ได้รับการตรวจมาก่อนอาจทำให้ลำไส้แตกหรือทะลุ และอาจมีโรคแทรกซ้อนอื่นๆ เพระบางคนอาจมีโรคลำไส้โป่งพองแล้วไปทำอาจเกิดอันตรายได้ เพราะฉะนั้นการทำควรอยู่ภายใต้การควบคุมของแพทย์ที่มีความรู้ความชำนาญ ไม่ควรจะทำเอง หากทำกันเองโดยขาดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง ย่อมมีผลเสียต่อร่างกายแน่นอน
การรับประทานอาหารจะมีผลต่อร่างกายในเรื่องของการขับถ่ายหรือไม่
การที่จะให้ขับถ่ายออกมานั้น นอกจากการทำดีท็อกซ์แล้ว อาหารที่เรารับประทานทุกวันก็มีผลเหมือนกัน อย่างเช่น อาหารพวกชีวจิต ที่เชื่อว่าทำให้ร่างกายขับถ่ายได้ดีขึ้น หรืออาหารจำพวกที่เผาผลาญพลังงานได้ดีและจำพวกผักต่างๆ ที่ช่วยดูดซับสารพิษเหล่านี้ เป็นต้น แต่ว่าหลักการต่างๆ เหล่านี้ ก็เป็นความเชื่อทั้งสิ้น แต่หลักการทางการแพทย์เชื่อว่าการรับประทานอาหารให้ครบหมู่ จะทำให้ร่างกายได้รับประโยชน์มากกว่าที่จะมุ่งเน้นในด้านใดด้านหนึ่ง เพราะจะทำให้เซลล์ในร่างกายทำงานได้ไม่สมบูรณ์ หรือวิธีการง่ายๆ คือเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์
ในปัจจุบันหลาย ๆ แห่งใช้วิธีสวนล้างลำไส้ จะมุ่งเน้นไปทางการค้าค่อนข้างมาก และอาจมีการชักชวนที่มากกว่าความเป็นจริง หากเป็นเช่นนั้น เราควรใช้วิจารณญาณไตร่ตรองดูว่าการทำเหล่านี้มีประโยชน์และเป็นจริงตามคำโฆษณาชวนเชื่อหรือไม่ การทำต่อเนื่องเป็นเวลานานๆ ไม่แนะนำให้ทำ ถ้าจำเป็นจริงๆ ควรทำเป็นครั้งคราวมากกว่า
___________________
อ่านบทความเพิ่มเติม >>>>> SIRIRAJ E-PUBLIC LIBRARY
ขอบคุณเนื้อหาจาก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล