จริงหรือไม่? คนไทย “ดื่มนมวัว” เสี่ยง “มะเร็ง”
นับว่าเป็นเรื่องที่น่าเสียดาย ที่หลายคนมีอาการ “แพ้นมวัว” โดยมีอาการเริ่มต้มจากการดื่มนมวัวแล้วท้องร่วง ท้องเสีย และอาจจะไปถึงอาการคลื่นไส้อาเจียน หายใจลำบาก หรือมีผื่นขึ้นตามตัวได้เลยทีเดียว ด้วยเหตุนี้จึงมีคนบางกลุ่มที่ไม่สนับสนุนให้เราดื่มนมวัว และอ้างถึงงานวิจัยที่บอกว่า การดื่มนมวัว เพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคมะเร็งอีกด้วย
“แพ้นมวัว” เป็นอย่างไร?
ก่อนอื่นเรามาทำความเข้าใจอาการของคนที่แพ้นมวัวกันก่อนดีกว่า หลักๆ แล้ว อาการแพ้นมวัวที่พบได้ในคนไทยมีอยู่ 2 ประเภท ได้แก่
-
แพ้โปรตีนในนมวัว
อาการแพ้โปรตีนในนมวัว เป็นอาการที่ผู้ป่วยจะมีอาการเหมือนแพ้อาหารอื่นๆ ทั่วๆ ไป โดยจะเริ่มมีอาการท้องเสีย ท้องร่วง คลื่นไส้ อาเจียน หายใจติดขัด รวมไปถึงมีผื่นขึ้นตามร่างกาย ส่วนใหญ่อาการเหล่านี้จะพบได้ตั้งแต่ตอนเป็นเด็กเล็กทีเริ่มดื่มนมวัวเป็นครั้งแรก เพราะมีอาการเหมือนแพ้อาหาร จึงทำให้พบอาการ และได้รับการวินิจฉัยได้เร็ว แพทย์อาจคอยติดตามอาการเพื่อให้แน่ใจว่าเป็นอาการแพ้โปรตีนจากนมวัวจริงๆ และลองเปลี่ยนให้บริโภคนมจากแหล่งอาหารอื่นๆ เช่น นมถั่วเหลือง หรือนมแพะ เมื่อได้ข้อสรุปแล้วจึงสามารถระบุได้อย่างชัดเจนว่า มีอาการแพ้โปรตีนจากนมวัวจริงๆ -
ภาวะพร่องเอนไซม์ในการย่อยนม
ภาวะนี้จะแตกต่างจากอาการแพ้โปรตีนนมวัวอย่างสิ้นเชิง เพราะเป็นอาการที่เกิดจากการที่ร่างกายขาดเอนไซม์ หรือน้ำย่อยที่ชื่อว่า “แล็กเตส” ในการย่อยน้ำตาลแล็กโตสที่อยู่ในนม และน้ำตาลแล็กโตสนี้สามารถพบได้ทั่วไปในนมหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นนมวัว นมแพะ หรือแม้กระทั่งนมของมารดาเองก็ตาม เมื่อร่างกายได้รับนมที่มีน้ำตาลแล็กโตสเข้าไป แต่ไม่สามารถย่อยน้ำตาลให้เป็นโมเลกุลขนาดเล็กลงที่ลำไส้สามารถดูดซึมได้ ดังนั้นแบคทีเรียที่อยู่ในลำไส้ใหญ่จึงทำปฏิกิริยากับน้ำตาลแล็กโตสที่ไม่ได้ถูกย่อยใ้ห้เล็กลง และไม่ได้ถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกาย จนทำให้เกิดเป็นแก๊ส (ลม) และสารที่มีฤทธิ์เป็นกรด (เช่น กรดแล็กติก และกรดอื่นๆ) ทำให้เกิดอาการท้องอืด และท้องเสียหลังดื่มนม หรือทานอาหารที่ส่วนประกอบของนม เช่น ช็อคโกแลต ไอศกรีม เนย คุกกี้ ฯลฯ ได้
ดื่มนมวัว เสี่ยงมะเร็ง?
คราวนี้ก็มาพูดถึงความเสี่ยงของนมที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับโรคมะเร็งหรือไม่ อย่างไร มีรายงานจากงานวิจัยของต่างประเทศพบว่า ผู้ที่ทานอาหารที่มีส่วนประกอบของไขมันสูง มีความเสี่ยงในการเป็นโรคมะเร็งมากกว่าผู้ที่ทานอาหารไขมันต่ำ ทีนี้จึงมีการรวมเอานมวัว ที่เป็นนมที่มีส่วนประกอบของไขมันอยู่ด้วย ไปรวมอยู่ในอาหารที่มีไขมัน และเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งไปด้วย แต่อันที่จริงแล้วรานงานวิจัยนี้รวบรวมข้อมูลมาจากชาวตะวันตก ที่บริโภคอาหารที่มีส่วนผสมของนมมากกว่าชาวตะวันออก เพราะชาวตะวันตกนิยมบริโภคเนย ขนมเบเกอร์รี่ ไอศรีม ช็อคโกแลต และอาหารทั้งคาวหวานที่มีส่วนผสมของนมมากกว่าชาวตะวันออกอย่างเห็นได้ชัด บวกกับอาหารไขมันสูงอื่นๆ ที่พวกเขาบริโภคกันเป็นอาหารกันทุกวัน นั่นจึงทำให้พวกเขามีความเสี่ยงในการเป็นโรคมะเร็งจากอาหารไขมันสูงมากกว่าชาวตะวันออก แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นจากเหตุผลดังกล่าว จึงไม่สามารถสรุปได้ว่า นม โดยเฉพาะนมวัว เป็นอาหารเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งแต่อย่างใด
นอกจากนี้ หากพูดถึงคนที่มีอาการแพ้นม หรืออยู่ในภาวะพร่องเอนไซม์ในการย่อยนม แต่ยังฝืนดื่มนม จะเป็นการเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคมะเร็งหรือไม่ คำตอบคือ ยังไม่มีงานวิจัยใดๆ พิสูจน์ให้เห็นว่า คนที่แพ้นมวัว แล้วฝืนดื่มนมวัวเป็นประจำ จะเป็นการเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งมากขึ้น นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยที่บ่งชี้ว่า แร่ธาตุแคลเซียม และกรดไขมันจำเป็นที่มีอยู่ในนมวัว สามารถป้องกันโรคมะเร็งได้อีกต่างหาก ดังนั้นจึงมาสู่ข้อสรุปที่ว่า ยังไม่มีรายงานใดๆ ที่ระบุอย่างชัดเจนว่า การบริโภคนมวัว เป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งแต่อย่างใด
แพ้นม แต่อยากดื่มนม ควรทำอย่างไร?
หลายคนชื่นชอบในรสชาติของนมวัว รวมไปถึงชอบอาหารที่มีนมวัวเป็นส่วนผสม สำหรับผู้ที่อยู่ในภาวะพร่องเอนไซม์ย่อยนม สามารถดื่มนมวัวโดยไม่ทำให้เกิดอาการท้องอืดท้องเสีย ด้วยวิธีดังนี้
- เริ่มดื่มในปริมาณน้อยๆ ค่อยๆ สังเกตอาการของตัวเองว่าดื่มมากแค่ไหนถึงจะท้องอืดท้องเสีย และเลือกดื่มแค่ในปริมาณที่ไม่ทำให้เกิดอาการเหล่านั้น
- ดื่มนมไปพร้อมๆ กับการทานอาหาร เช่น ดื่มนม หรือทานโยเกิร์ต ระหว่างการทานอาหารเช้าที่มีแป้ง โปรตีน ผักผลไม้ต่างๆ
- หากไปพบแพทย์และแน่ใจแล้วว่าตัวเองขาดเอนไซม์แล็กเตสในการย่อยน้ำตาลแล็กโตสในนมจริงๆ ควรขอคำปรึกษาจากแพทย์ หรือเภสัชกร ในการบริโภคยาเม็ดเอนไซม์แล็กเตส เพื่อช่วยย่อยนมวัวได้
- เลือกบริโภคนมที่มีการสกัดเอาน้ำตาลแล็กโตสออกไป (Lactose-free) ก็จะช่วยให้ดื่มแล้วไม่มีอาการท้องอืดท้องเสียได้
>> นมดีๆ ไม่ได้มีแค่นมวัว ทางเลือกใหม่ของคนรักสุขภาพ
นมวัวมีประโยชน์ในเรื่องของสารอาหารที่ดีต่อร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นโปรตีนที่ช่วยในการเจริญเติบโตของร่างกาย แคลเซียมที่ช่วยเสริมสร้างกระดูกให้แข็งแรง วิตามินบี 2 และบี 12 ที่ช่วยให้พลังงานกับร่างกาย และช่วยบำรุงระบบประสาท และสมอง อีกทั้งยังเป็นแหล่งอาหารชั้นเลิศในราคาที่ผู้คนทุกระดับสามารถมีกำลังซื้อได้ง่าย ดังนั้นยังคงสนับสนุนให้คนไทยบริโภคนมวัวต่อไปตราบเท่าที่ไม่มีอาการแพ้ใดๆ ให้น่าเป็นห่วง แต่คนที่ดื่มนมแล้วมีอาการผิดปกติ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับคำแนะนำในการเลือกบริโภคนมอย่างถูกต้องต่อไป