"มลพิษทางเสียงรุนแรง" ส่งผลกระทบต่อกายเเละจิตใจ

"มลพิษทางเสียงรุนแรง" ส่งผลกระทบต่อกายเเละจิตใจ

"มลพิษทางเสียงรุนแรง" ส่งผลกระทบต่อกายเเละจิตใจ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ซูแบร์ อาลี (Zubair Ali) เจ้าหน้าที่ควบคุมการจราจร บอกว่าเวลามีคนเรียก เขาไม่ได้ยินเพราะเสียงการจราจรบนท้องถนนดังมาก เเละรู้สึกโกรธกับมลพิษทางเสียงเเต่ทำอะไรไม่ได้

และประชาชนในเมืองคาราจี ทางใต้ของปากีสถาน ต่างรู้สึกเช่นเดียวกันนี้ พวกเขาเบื่อหน่ายกับมลพิษทางเสียง หลายคนยอมรับว่ามลพิษทางเสียงเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตในเมือง แต่หลายคนไม่รู้ว่าเสียงที่ดังอยู่ตลอดเวลาเป็นอันตรายต่อสุขภาพ

การสำรวจเมื่อไม่นานมานี้พบว่า มลพิษทางเสียงในเมืองคาราจีรุนแรงขึ้น

ระดับความดังของเสียงวัดด้วยหน่วยเดซิเบล เสียงการสนทนาทั่วไปมีความดังระหว่าง 50-60 เดซิเบล และเสียงการจราจรอยู่ที่ 80 เดซิเบล บรรดาผู้เชี่ยวชาญชี้ว่าระดับเสียงที่ดังราว 85 เดซิเบลอาจจะสร้างความรำคาญ แต่ยังถือว่าเป็นระดับที่ปลอดภัย แต่หากดังเกินกว่านั้นขึ้นไปก็ถือว่าเป็นอันตรายต่อร่างกายเเละจิตใจคน

และในการวัดระดับเสียงเมื่อไม่นานมานี้ พบว่าในหลายส่วนของเมืองคาราจี มีเสียงที่ดังเกิน 100 เดซิเบล ซึ่งดังพอๆ กับเสียงเครื่องบินเจ็ท

นายแพทย์ไคเซอร์ ซาจ้าด (Qaiser Sajjad) กล่าวว่า มลพิษทางเสียงก่อให้เกิดผลเสียเเก่การได้ยินเป็นสำคัญ และสร้างความรำคาญและเป็นสาเหตุให้ความดันเลือดสูงจนถึงขั้นที่อาจเกิดภาวะหัวใจวายได้

ในเมืองใหญ่ๆ อย่างเมืองคาราจี เสียงของยวดยานในการจราจรเป็นแหล่งกำเนิดหลักของมลพิษทางเสียง แต่เครื่องปั่นไฟขนาดใหญ่เเละโรงงานอุตสาหกรรมก็มีส่วนสำคัญในการสร้างมลพิษทางเสียงด้วย

ริอาซ อิบราฮิม (Riaz Ibrahim) ชาวคาราจี กล่าวว่า เสียงการจราจรไม่ว่าจะเป็นเสียงมอเตอร์ไซด์ เสียงรถบรรทุก ทำให้หูของเขาอื้อ แม้ว่าจะกลับไปถึงบ้านเเล้ว เขายังรู้สึกว่ามีเสียงเหล่านี้ดังอยู่ในหู

ชากีล ฟารีด (Shakeel Fareed) ชาวคาราจีอีกคนหนึ่ง กล่าวว่า คนในคาราจีมักบีบแตรแต่ไม่รู้จักกดเบาๆ คนส่วนใหญ่จะกดแตรยาวมาก เเสดงว่าคนไม่มีความรู้สึกรู้สาต่อเสียงที่ดังอีกต่อไป

ในปากีสถาน ไม่มีกฏหมายควบคุมมลพิษทางเสียง ในขณะที่ปัญหาเสียงที่ดังเกินพอดีนี้เริ่มได้รับความสนใจมากขึ้นในช่วงนี้ที่มีการหาเสียงเลือกตั้งเทศบาลท้องถิ่นของคาราจี

บรรดาผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า อย่าตั้งความหวังกับนักการเมืองท้องถิ่นว่าจะช่วยแก้ปัญหานี้ได้ และแนะนำว่าพลเมืองในคาราจีต้องแก้ไขปัญหานี้ด้วยตัวเองไปก่อน ด้วยการกดแตรรถยนต์เพียงเบาๆ เเละสวมที่อุดหูไปพลางๆ กันก่อน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook