บริโภคอาหารกระป๋องไม่ได้คุณภาพ เสี่ยง "โรคอาหารเป็นพิษโบทูลิซึม"
การบริโภคอาหารกระป๋องควรหลีกเลี่ยงการกินอาหารบรรจุกระป๋อง ปี๊บ หรือขวดแก้วที่ผลิตแบบอุตสาหกรรมในครัวเรือนอย่างไม่ถูกกรรมวิธี หรือดูแลไม่สะอาดปลอดภัย การหมักดองอาหาร ได้แก่ ผัก ผลไม้ เนื้อสัตว์และเนื้อปลาต่างๆ ควรปฏิบัติให้ถูกสุขลักษณะอาหารปลอดภัย ตลอดจนอาหารต่างๆ โดยเฉพาะหน่อไม้ หากมีกลิ่นหรือสีผิดปกติไม่ควรนำมารับประทานหรือลองชิมอย่างเด็ดขาด
นายสวาท ชลพล หัวหน้ากลุ่มสื่อสารความเสี่ยง สำนักงานควบคุมโรคที่ 1 เชียงใหม่ เปิดเผยว่า โรคอาหารเป็นพิษโบทูลิซึมเป็นกลุ่มอาการที่เกิดจากสารพิษที่รุนแรง โดยรับประทานอาหารที่ปนเปื้อนเข้าไป โรคพิษโบทูลิซึมพบได้ประปรายทั่วโลก สำหรับประเทศไทยส่วนใหญ่เกิดจากการรับประทานหน่อไม้อัดปี๊บที่ไม่ได้ต้มหรือหน่อไม้ต้มบรรจุถุงพลาสติกที่ชาวบ้านเรียกว่า หน่อไม้ซิ่ง
ทั้งนี้ขอแนะนำประชาชนในการบริโภคอาหาร อาหารกระป๋องเพื่อป้องกันโรคอาหารเป็นพิษโบทูลิซึม (Botulism) โดยขอให้เลือกซื้ออาหาร โดยเฉพาะอาหารกระป๋องที่มีเครื่องหมาย อย. หลีกเลี่ยงการกินอาหารบรรจุกระป๋อง ปี๊บ หรือขวดแก้วที่ผลิตแบบอุตสาหกรรมในครัวเรือนอย่างไม่ถูกกรรมวิธีหรือดูแลไม่สะอาดปลอดภัย การหมักดองอาหาร ได้แก่ ผัก ผลไม้ เนื้อสัตว์และเนื้อปลาต่าง ๆ ควรปฏิบัติให้ถูกสุขลักษณะอาหารปลอดภัย ตลอดจนอาหารต่าง ๆ โดยเฉพาะหน่อไม้ หากมีกลิ่นหรือสีผิดปกติไม่ควรนำมารับประทานหรือลองชิมอย่างเด็ดขาดให้นำไปทำลายโดยการฝังดินให้ลึกเพื่อป้องกันไม่ให้สัตว์กินเข้าไป ภาชนะที่ปนเปื้อนอาจต้มหรือแช่คลอรีนเพื่อทำลายสารพิษ หากต้องการเก็บอาหารที่รับประทานเหลือควรเก็บไว้ในตู้เย็นและก่อนรับประทานควรอุ่นให้ร้อน
อย่างไรก็ตามขณะนี้ ได้มีเจ้าหน้าที่สาธารณสุขได้ให้ความรู้แก่ประชาชนอย่างต่อเนื่องแม้ว่าจะยังไม่มีผู้เสียชีวิตจากโรคดังกล่าว พร้อมขอย้ำเตือนประชาชนที่นิยมบริโภคหน่อไม้ต้มอัดปี๊บหรือบรรจุในถุงพลาสติก โดยเฉพาะเมนูที่ใช้เป็นผักจิ้มน้ำพริกหรือใช้ตำ เช่น ใส่ผสมรวมในส้มตำ ซุปหน่อไม้ เป็นต้น ก่อนนำมาบริโภคทุกครั้งขอให้นำมาต้มซ้ำในน้ำเดือดอุณหภูมิ 100 องศาเซลเซียส นาน 15 นาที เพื่อให้ความร้อนทำลายเชื้อโรคทุกชนิดที่ปนเปื้อน หากพบปี๊บที่บรรจุหน่อไม้บวมไม่ควรซื้อมาบริโภค ในกรณีที่พบมีกลิ่นหรือสีผิดปกติไม่ควรนำมารับประทานหรือลองชิม ขอให้นำไปทำลายทิ้งโดยการฝังดิน หากรับประทานอาหารที่สงสัยจะมีการปนเปื้อนสารพิษโบทูลิซึมและมีอาการผิดปกติ เช่น มีอาการอ่อนแรง วิงเวียนศีรษะ ตาพร่ามัว หนังตาตก ปากแห้ง กลืนหรือพูดลำบาก ขอให้รีบไปพบแพทย์ทันที หากประชาชนท่านใดมีข้อสงสัยสามารถสอบถามได้ที่สำนักโรคติดต่อทั่วไป หมายเลขโทรศัพท์ 0-2590-3180 หรือสายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422.