พาราเซตามอล, แอสไพริน, ไอบูโพรเฟน แตกต่างกันอย่างไร?

พาราเซตามอล, แอสไพริน, ไอบูโพรเฟน แตกต่างกันอย่างไร?

พาราเซตามอล, แอสไพริน, ไอบูโพรเฟน แตกต่างกันอย่างไร?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

“ปวดหัว ตัวร้อน เป็นไข้” ส่วนใหญ่แล้วอาการเริ่มต้นของโรคต่างๆ มักเป็นอาการเหล่านี้ และสุดท้ายก็ลงเอยด้วยการรักษาตามอาการ นั่นก็คือการให้อย่างลดไข้แก้ปวด ตระกูลยาแก้ปวดมีมากมายหลายขนาน แต่ชนิดที่เป็นนิยมในหมู่คนไทยคงไม่มากไปกว่า พาราเซตามอล แอสไพริน และไอบูโพรเฟน ที่มีการซื้อขายกันบ่อยๆ ซื้อหาสะดวกตามร้านขายยาต่างๆ ไม่จำเป็นต้องมีใบสั่งยาจากแพทย์ก็ซื้อได้ และราคาไม่รุนแรง

ทว่า ยาแก้ปวดแต่ละชนิด แม้จะมีสรรพคุณช่วยแก้ปวดศีรษะ และเป็นไข้ได้ แต่ก็ยังมีความแตกต่างของสรรพคุณยาแต่ละตัวซ่อนอยู่

 

พาราเซตามอล

พาราเซตามอล มีอีกชื่อหนึ่งว่า อะเซตามิโนเฟน จัดว่าเป็นยาสามัญประจำบ้านที่สามารถทานเพื่อรักษาอาการปวด ลดไข้ ได้อย่างปลอดภัยมากที่สุดตัวหนึ่ง

- ผู้ที่มีน้ำหนัก 34-50 กิโลกรัม ให้ทานยาพาราเซตามอลเพียง 1 เม็ด ไม่เกิน 5-6 ครั้งต่อวัน

- ผู้ที่มีน้ำหนัก 51-75 กิโลกรัม ให้ทานยาพาราเซตามอล 1 เม็ดครึ่ง ไม่เกิน 4-5 ครั้งต่อวัน

- ผู้ที่มีน้ำหนัก 76 กิโลกรัมขึ้นไป ให้ทานยาพาราเซตามอล 2 เม็ด ไม่เกิน 3-4 ครั้งต่อวัน

โดยทุกคนสามารถทานยาพาราเซตามอลได้ทุก 4-6 ชั่วโมง แต่ไม่ควรทานติดต่อกันเกิน 5 วัน หากทานพาราเซตามอลแล้วอาการยังไม่ดีขึ้น ควรพบแพทย์

 

ข้อดีของ พาราเซตามอล

- มีผลข้างเคียงน้อย

- รบกวนการทำงานของยา หรืออาหารเสริมอื่นๆ ที่ทานน้อย หรือแทบไม่มีผลเลย

- สามารถใช้ได้ครอบคลุมในหลายๆ โรค

- ไม่ระคายเคืองกระเพาะอาหาร จึงสามารถทานเมื่อไรก็ได้ที่มีอาการปวด ก่อนหรือหลังทานอาหารก็ได้ และสามารถทานซ้ำได้ทุกๆ 4-6 ชั่วโมงเมื่อยังมีอาการอยู่

 

ข้อเสียของ พาราเซตามอล

- หากทานเป็นจำนวนมากเกินไป หรือติดต่อกันนานเกินไป อาจส่งผลต่อการทำงานของไต และตับได้ ผู้ป่วยโรคไต และตับ รวมไปถึงผู้ที่มีความเสี่ยงต่อตับ เช่น คนที่ดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ เป็นต้น

- ไม่สามารถลดอาการปวดอักเสบของกล้ามเนื้อ เนื้อเยื่อ ข้อต่อต่างๆ ได้

- ผู้ที่แพ้ยาพาราเซตามอล ไม่ควรใช้ยานี้

 

__________________

แอสไพริน

ความนิยมรองลงมาจากพาราเซตามอล ก็เห็นจะเป็นแอสพารินที่ถูกเลือกเป็นยาแก้ปวด ลดไข้ ที่เห็นผลเช่นเดียวกัน บางคนอาจถูกกับแอสไพรินมากกว่าพาราเซตามอล จึงนิยมทานแอสไพรินมากกว่า นอกจากนี้ยังเป็นหนึ่งยาที่ได้รับความนิยมมากที่สุดทั่วโลก เพราะคุณสมบัติของแอสไพริน สามารถป้องกันภาวะแทรกซ้อนของหลายๆ โรคได้

อย่างไรก็ตาม แอสไพริน เป็นหนึ่งในยาตระกูล NSAIDs หรือยาแก้อักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ จึงมีข้อควรระวังในการใช้ที่ควรทราบด้วย

ควรทานแอสไพรินในปริมาณ 325-650 มิลลิกรัมต่อครั้ง (บางการศึกษาพบว่า ควรเริ่มด้วยขนาดยา 600-650 มิลลิกรัมขึ้นไปในการบรรเทาอาการปวดปานกลางถึงรุนแรง2-3 และขนาด 500-1000 มิลลิกรัมเพื่อลดไข้6) รับประทานทุก 4-6 ชั่วโมง และไม่ควรทานติดต่อกันเกิน 5 วัน หากทานแอสไพรินแล้วอาการยังไม่ดีขึ้น ควรพบแพทย์

 

ข้อดีของ แอสไพริน

- อาจารย์ เภสัชกรหญิง วิภารักษ์ บุญมาก ภาควิชาเภสัชกรรม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่า แอสไพรินเป็นยาที่มีประสิทธิภาพดี มีฤทธิ์ในการรักษาอาการอักเสบ เช่น อาการปวด บวม แดง ร้อนต่างๆ และมีฤทธิ์ลดไข้

- มีฤทธิ์ในการต้านการเกาะกลุ่มของเกล็ดเลือด หรือที่เรียกง่ายๆ ว่า ฤทธิ์ต้านเกล็ดเลือด ทำให้ยานี้ถูกใช้ในการป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากการอุดตันของหลอดเลือด เช่น เส้นเลือดหัวใจอุดตัน เส้นเลือดสมองอุดตัน และเส้นเลือดที่ขาอุดตัน เป็นต้น

- ผลที่ได้จากการใช้ยาแอสไพริน นอกจากจะบรรเทาอาการอักเสบแล้ว ยังทำให้เกล็ดเลือดเกาะกลุ่มกันได้ยากมากขึ้น ซึ่งขนาดยาที่สูงของแอสไพริน (325-650 มิลลิกรัม ต่อครั้ง) จะได้ผลดีในการบรรเทาอาการปวดและอักเสบ 2-3 ส่วนขนาดยาที่ต่ำของแอสไพริน (75-150 มิลลิกรัมต่อวัน) มีผลการรักษาที่ดีในแง่ฤทธิ์ต้านเกล็ดเลือด

 

ข้อเสียของ แอสไพริน

- เมื่อแอสไพรินมีฤทธิ์สลายลิ่มเลือด ทำให้เกล็ดเลือดเกาะกลุ่มกันได้ยากมากขึ้น ดังนั้นอาจมีผลข้างเคียงที่เกี่ยวกับเลือด เช่น การเกิดเลือดออกในทางเดินอาหาร ซึ่งเป็นผลข้างเคียงที่พบได้ค่อนข้างบ่อยและรุนแรง สามารถลดความเสี่ยงได้โดยการใช้ยาลดการหลั่งกรดในกระเพาะอาหารร่วมด้วย โดยแพทย์จะเป็นผู้พิจารณาสั่งจ่ายยาลดการหลั่งกรดนี้ในผู้ป่วยที่มีข้อบ่งใช้

- โอกาสของการเกิดเลือดออกจะมีมากขึ้นในผู้ที่ใช้ยาอื่นๆ ที่เสริมฤทธิ์ต้านเกล็ดเลือดหรือต้านการแข็งตัวของเลือดหรือใช้ยาในกลุ่มสเตียรอยด์ (steroids) ร่วมด้วย ดังนั้น ผู้ที่ใช้ยาแอสไพรินควรเพิ่มความระมัดระวังการใช้ยาชนิดอื่นร่วมด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้ยาบรรเทาอาการปวดหรืออักเสบในกลุ่ม NSAIDs เนื่องจากจะเสริมฤทธิ์ต้านเกล็ดเลือดและเพิ่มความระคายเคืองกระเพาะอาหารได้

- ลักษณะของเม็ดยาแอสไพรินจะมีขนาดใหญ่และเป็นเม็ดยาที่ถูกเคลือบเพื่อควบคุมให้มีการปลดปล่อยยาที่ลำไส้เล็ก จึงควรรับประทานยาทั้งเม็ดหลังอาหารทันทีเพื่อลดการระคายเคืองกระเพาะอาหารโดยใช้ตามอาการที่เป็น และหยุดใช้ยาเมื่ออาการหมดไป

- ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยานี้ในเด็กอายุน้อยกว่า 16-19 ปี โดยเฉพาะเด็กหรือวัยรุ่นที่มีการติดเชื้อไวรัส เนื่องจากพบว่าสัมพันธ์กับความผิดปกติ ที่เรียกว่า Reye's syndrome ที่ถึงแม้จะเป็นกลุ่มอาการที่พบได้ไม่บ่อยแต่มีความรุนแรงสูงจนอาจทำให้ผู้ป่วยถึงแก่ชีวิตได้

- ผู้ป่วยโรคไข้เลือดออก ไม่ควรทานยาแอสไพริน และยาแก้ปวดกลุ่ม NSAIDs เพราะฤทธิ์ต้านเกล็ดเลือดของแอสไพรินจะทำให้อาการเลือดออกผิดปกติเกิดได้ง่ายมากขึ้น ทำให้อาการไข้เลือดออกแย่ลง

- ผู้ป่วยที่มีแผลในกระเพาะอาหาร มีภาวะเลือดออกผิดปกติ เช่น โรคฮีโมฟีเลีย เป็นโรคหอบหืด หรือภูมิแพ้ที่เป็นเฉพาะฤดู โรคตับ โรคไต โรคเกาต์ โรคหัวใจ ความดันในเลือดสูง หรือภาวะหัวใจวาย ผู้ที่ตั้งครรภ์โดยเฉพาะในช่วง 3 เดือนสุดท้ายก่อนการคลอด ผู้หญิงที่อยู่ในช่วงให้นมบุตร และผู้ที่มีภาวะเกล็ดเลือดต่ำ ควรหลีกเลี่ยงการทานแอสไพริน หรือหากมีความจำเป็นจริงๆ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนทาน

- ผู้ที่มีประวัติแพ้ยาแอสไพริน หรือแพ้ยาตระกูล NSAIDs

 

____________________

ไอบูโพรเฟน

ยาแก้ปวดตัวสุดท้ายที่คนไทยนิยมทานกัน นั่นคือ ไอบูโพรเฟน บางคนอาจเข้าใจว่าเป็นพาราเซตามอลสีชมพู แต่จริงๆ แล้วเป็นยาคนละชนิดกัน หลายคนอาจเคยประสบปัญหาว่า ทานยาพาราเซตามอลแล้วยังไม่หายปวด จึงมองหายาที่ออกฤทธิ์แรงกว่า และคำตอบมาลงที่ไอบูโพรเฟน ที่สามารถลดอาการปวดศีรษะ ลดไข้ได้เร็ว กว่า ดังนั้นใครที่ได้ลองทานไอบูโพรเฟนแล้ว ยังนิยมทานไอบูโพรเฟนต่อไปเรื่อยๆ เพราะคิดว่าเป็นยาที่มีประสิทธิภาพมากกว่าพาราเซตามอล

ไอบูโพรเฟน เป็นยาอีกตัวหนึ่งที่อยู่ในกลุ่มของ NSAIDs จึงมีข้อควรระวังในการใช้ยาใกล้เคียงกับแอสไพริน

ควรทานไอบูโพรเฟน 400 มิลลิกรัมต่อครั้ง และไม่ควรเกิน 2,400 มิลลิกรัมต่อวัน หรือไม่เกิน 6 เม็ดต่อวัน

 

ข้อดีของ ไอบูโพรเฟน

- สามารถรักษาอาการปวด ลดไข้ และแก้อักเสบจากสาเหตุต่างๆ เช่น ปวดหัว ปวดฟัน ปวดหลัง ข้อต่ออักเสบ ปวดประจำเดือน และอาการบาดเจ็บเล็กน้อยได้

- สามารถลดอาการปวดอักเสบของกล้ามเนื้อ เนื่อเยื่อ ข้อต่อต่างๆ ได้

- มีผลข้างเคียงน้อยกว่าแอสไพรินเล็กน้อย (แต่ยังมากกว่าพาราเซตามอล)

- ช่วยระงับอาการปวดรุนแรง หรือมีไข้สูงจัดได้ดีกว่าพาราเซตามอล

 

ข้อเสียของ ไอบูโพรเฟน

- ไม่ควรใช้ยาไอบูโพรเฟนพร่ำเพรื่อ ควรใช้เมื่อมีความจำเป็นจริงๆ ที่ผู้ป่วยมีไข้สูงจัดมาก หรือมีอาการปวดรุนแรงมากเท่านั้น

- ไม่ควรทานไอบูโพรเฟนในปริมาณสูงติดต่อกันเป็นเวลานาน เพราะอาจก่อให้เกิดความเสี่ยงโรคหลอดเลือดสมองและหัวใจวายได้

- ฤทธิ์ต้านเกล็ดเลือดของไอบูโพรเฟน อาจก่อให้เกิดภาวะเลือดออกในช่องท้อง และลำไส้ได้ โดยเฉพาะผู้สูงอายุ

- ควรทานไอบูโพรเฟนเฉพาะหลังทานอาหาร ห้ามทานตอนท้องว่าง เพราะอาจส่งผลเสียต่อลำไส้และกระเพาะอาหารได้

- สตรีมีครรภ์ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยา หรือหลีกเลี่ยงการใช้ยาไอบูโพรเฟน โดยเฉพาะขณะมีอายุครรภ์เข้าสู่ไตรมาสที่ 3 (7-9 เดือน)

- ห้ามใช้ยาไอบูโพรเฟนกับเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 2 ปีโดยไม่ได้รับคำแนะนำจากแพทย์

- ผู้ป่วยที่เป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด โรคลิ่มเลือด โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน คอเลสเตอรอลสูง โรคตับ โรคไต หรือโรคหอบหืดควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยา

- ผู้ที่มีประวัติแพ้ยาไอบูโพรเฟน หรือยาตระกูล NSAIDs ไม่ควรใช้ยานี้

 

แม้ว่าแอสไพริน และไอบูโพรเฟนจะมีข้อควรระวังมากกว่าพาราเซตามอล แต่ก็มีคุณสมบัติที่ดีในการเป็นยาแก้ปวด ลดไข้ ในบางกรณีอาจบรรเทาอาการได้ดีกว่าพาราเซตามอลได้เช่นกัน แต่การใช้ยาเพื่อแก้ปวดโดยทั่วไป สำหรับชาวไทยแนะนำพาราเซตามอลจะปลอดภัยที่สุด เพราะผลข้างเคียงน้อยกว่า เมืองไทยมีไข้เลือดออกที่ฝั่งตะวันตกไม่ค่อยเป็นกัน หากทานตอนเป็นไข้เลือดออก (ที่มีอาการคล้ายไข้ปกติในช่วงแรก จึงอาจทำให้เราเข้าใจผิด) จะยิ่งทำให้อาการแย่ไปกว่าเดิม ในขณะที่ฝั่งตะวันตกนิยมแอสไพรินเพราะมีคุณสมบัติหลากหลายในการบรรเทาอาการมากกว่า

หากไม่แน่ใจว่าควรทานยาแก้ปวดชนิดใด ควรปรึกษาเภสัชกร หรือแพทย์ก่อนทานยาทุกครั้ง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook