ผลวิจัยระบุ ผู้ป่วย "มะเร็งเต้านม" อาจไม่ต้องเข้ารับเคมีบำบัด
การศึกษาชิ้นใหม่ชี้ ผู้หญิงจำนวนมากที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งเต้านมในระยะเริ่มต้น อาจสามารถหลีกเลี่ยงการเข้ารับเคมีบำบัดได้
การศึกษาดังกล่าวนำโดย Dr. Joseph Sparano ตีพิมพ์อยู่ในวารสารการแพทย์ New England Journal of Medicine พบว่าผู้หญิงที่มีเนื้อร้ายขนาดเล็กที่ยังไม่แพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลือง และรับการรักษาด้วยยาเพียงอย่างเดียว มีอาการดีพอๆ กับผู้ที่รับการรักษาด้วยเคมีบำบัดควบคู่ไปด้วย
Dr. Sparano แห่งศูนย์แพทย์ Montefiore Medical Center ในนครนิวยอร์ค กล่าวว่า การทำเคมีบำบัดส่งผลข้างเคียงต่อสุขภาพของผู้ป่วยอย่างมาก
การศึกษาครั้งนี้เป็นการศึกษาเรื่องการรักษามะเร็งเต้านมครั้งใหญ่ที่สุดที่เคยมีมา ซึ่งอาจช่วยให้หญิงอเมริกันที่ป่วยเป็นมะเร็งเต้านม สามารถหลีกเลี่ยงการเข้ารับเคมีบำบัดได้ราวปีละ 70,000 คน
นอกจากนี้ การศึกษายังพบว่าการนำเนื้อร้ายไปทดสอบทางพันธุกรรม อาจบ่งชี้ได้ว่าผู้หญิงคนไหนที่เหมาะจะรับการรักษาโดยใช้ยาต้านฮอร์โมนเอสโตรเจน หรือยาที่ยับยั้งไม่ให้ร่างกายผลิตฮอร์โมนนี้ เพียงอย่างเดียว
มะเร็งเต้านมเป็นโรคที่ผู้หญิงทั่วโลกเป็นกันมากที่สุด กว่าครึ่งหนึ่งของหญิงทั่วโลกที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งเต้านมมีฮอร์โมนเป็นผลบวก คือการที่เซลล์มะเร็งเติบโตจากการกระตุ้นของฮอร์โมนเอสโตรเจน หรือ โปรเจสเตอโรน
นักวิจัยติดตามศึกษาผู้หญิง 10,273 คนเป็นระยะเวลาประมาณ 9 ปี พบว่า 83.3% ของผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาด้วยฮอร์โมนเพียงอย่างเดียว ไม่กลับมาเป็นมะเร็งซ้ำ และเชื้อมะเร็งไม่กระจายไปตามส่วนอื่นๆ ของร่างกาย ส่วนผู้ป่วยที่รับการรักษาด้วยฮอร์โมน ควบคู่ไปกับเคมีบำบัด มีอาการดีขึ้น 84.3% ซึ่งนับว่าผลลัพธ์ใกล้เคียงกันมาก
อัตราการรอดชีวิตของทั้งสองกลุ่มคือ 93.9% และ 93.8% ตามลำดับ