กินน้ำอัดลมมากๆ เสี่ยงเป็นโรคอะไรบ้าง?

กินน้ำอัดลมมากๆ เสี่ยงเป็นโรคอะไรบ้าง?

กินน้ำอัดลมมากๆ เสี่ยงเป็นโรคอะไรบ้าง?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ซูเปอร์โพล (SUPER POLL) เปิดผลวิจัย “ทำไมคนไทยดื่มน้ำอัดลม” จากกลุ่มตัวอย่าง จำนวนทั้งสิ้น 500 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 4-11 พ.ค. ที่ผ่านมา พบว่าประชาชน ส่วนใหญ่ถึง 97.4% ชอบดื่มน้ำอัดลมและพบว่าเพศชายชอบดื่มน้ำอัดลมมากกว่าเพศหญิง ขณะที่ช่วงอายุ 15-24 ปี ดื่มน้ำอัดลมมากที่สุด ด้วยเหตุผลเพื่อคลายร้อน ซึ่งวันนี้ Tonkit360 มีเกร็ดความรู้จาก กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข มาฝากกันว่าการดื่มน้ำอัดลมในปริมาณที่มากเกินไป เสี่ยงเป็นโรคอะไรได้บ้าง

 

โรคอ้วน

เป็นที่รู้กันว่า การบริโภคเครื่องดื่มซึ่งมีน้ำตาลสูง แต่ให้สารอาหาร และความรู้สึกอิ่มต่ำอย่างน้ำอัดลม ไม่ใช่พฤติกรรมที่ดีต่อสุขภาพน้ำหนัก การบริโภคเครื่องดื่มน้ำอัดลม ที่มีส่วนผสมของน้ำตาลในปริมาณสูงนั้น ไม่ส่งผลดีต่อสุขภาพ ซึ่งไม่ใช่เพียงข้อวิตกกังวลโดยไม่มีหลักฐาน แต่มีการรวบรวมงานวิจัยและการทดลองต่าง ๆ กว่า 30 งาน พบว่า การดื่มน้ำอัดลมที่มีน้ำตาลในปริมาณมาก มีความสัมพันธ์กับน้ำหนักที่เพิ่มขึ้น และความเสี่ยงต่อโรคอ้วน

 

โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง

นอกจากน้ำหนักที่เพิ่มขึ้น และภาวะอ้วนที่อาจจะถามหา ข้อมูลงานวิจัยต่าง ๆ ที่มีผู้เข้าร่วมจำนวนมาก ยังชี้ว่าการดื่มน้ำอัดลมผสมน้ำตาลในปริมาณสูง ยังอาจนำไปสู่กลุ่มอาการอ้วนลงพุง และโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ได้ ซึ่งถือเป็นการค้นพบข้อพิสูจน์ที่ผู้ดื่มน้ำอัดลมทุกคน ควรตระหนักและจำกัดการดื่มให้ลดน้อยลง เพื่อลดความเสี่ยงต่อภาวะอ้วนลงพุง ซึ่งส่งผลให้มีระดับความดันโลหิต และระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มสูง เกิดไขมันสะสมรอบเอวมาก รวมถึงมีระดับไขมันคอเลสเตอรอล หรือไตรกลีเซอไรด์เพิ่มขึ้น เสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจ เบาหวาน และโรคหลอดเลือดในสมองตามมา

 

โรคกระดูกพรุน ฟันผุ

เป็นที่สงสัยกันว่าการดื่มน้ำอัดลม จะส่งผลให้ความหนาแน่นของมวลกระดูกลดน้อยลง หรือเกิดโรคกระดูกพรุนอย่างที่กล่าวกันหรือไม่ ข้อนี้มีการศึกษาทางวิทยาศาสตร์บางงาน พบว่าการดื่มน้ำอัดลมที่มีกรดฟอสฟอริก (Phosphoric) เป็นส่วนประกอบมากๆ อาจเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อภาวะแคลเซียมในเลือดต่ำ (Hypocalcemia) ได้ ทั้งการดื่มน้ำอัดลมยังมีความสัมพันธ์กับ ความเสี่ยงต่อการแตกของกระดูกแขนท่อนปลายอีกด้วย

ส่วนฟันผุก็เป็นที่รู้กันดีว่า อาหารที่มีน้ำตาลสูงย่อมเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพฟัน เนื่องจากน้ำตาลที่ตกค้างจะกลายเป็นอาหารของแบคทีเรียภายในปาก ทำให้เกิดการจับตัวของแบคทีเรียกับน้ำตาล กลายเป็นคราบหินปูนในที่สุด ไม่เว้นแม้แต่เครื่องดื่มต่างๆ ที่มีรสหวานและน้ำอัดลมที่มีน้ำตาลสูง แต่ที่น่าตกใจกว่านั้นก็คือ แม้แต่น้ำอัดลมที่ใช้สารให้ความหวานแทนน้ำตาล ก็ยังอาจเป็นสาเหตุของอาการฟันผุได้เช่นกัน

 

โรคหัวใจ

อีกหนึ่งปัญหาสุขภาพ ที่อาจเกิดขึ้นได้จากการดื่มน้ำอัดลม โดยผลการวิจัยพบว่า การบริโภคน้ำอัดลมที่มีน้ำตาลเป็นประจำ มีความเชื่อมโยงกับโอกาสเสี่ยงโรคหลอดเลือดหัวใจที่สูงขึ้น ทั้งยังส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของระดับไขมัน ปัจจัยการเกิดการอักเสบ และฮอร์โมนเลปติน (Leptin) ซึ่งเป็นฮอร์โมนความอิ่มในทางที่ไม่ดีต่อสุขภาพอีกด้วย ส่วนเครื่องดื่มน้ำอัดลม ที่ใช้สารให้ความหวานแทนน้ำตาลนั้น ไม่พบว่ามีความเชื่อมโยงกับโรคหลอดเลือดหัวใจหรือมีผลกระทบทางชีวภาพต่อร่างกายแต่อย่างใด

 

ภาวะสมองเสื่อม โรคหลอดเลือดสมอง

มีการกล่าวถึงอันตราย จากการดื่มน้ำอัดลมชนิดไม่มีน้ำตาล หรือใช้สารให้ความหวานแทนน้ำตาล กับการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง และภาวะสมองเสื่อมอย่างแพร่หลาย ซึ่งมีที่มาจากงานวิจัยหนึ่ง ที่ติดตามพฤติกรรมการดื่มน้ำอัดลมของผู้เข้าร่วม ผลลัพธ์เผยว่าผู้ที่ดื่มน้ำอัดลมไร้น้ำตาล มีความเสี่ยงต่อโรคดังกล่าวมากกว่า ผู้ที่ไม่ดื่มน้ำอัดลมชนิดไม่มีน้ำตาลถึง 3 เท่า ซึ่งการศึกษาชิ้นนี้ก็เป็นที่ยอมรับ และได้รับการตระหนักจากสมาคมโรคหัวใจแห่งสหรัฐอเมริกา

 

ควบคุมปริมาณน้ำตาลอย่างไรให้ไม่เสี่ยงเป็นโรค

  1. เริ่มต้นกินหวานให้น้อยลง สั่งหวานน้อยเป็นประจำให้เป็นนิสัย เป็นการสร้างความเคยชินในการรับรสของตนเอง และกลายเป็นคนไม่ติดหวาน

  2. ลดการเติมน้ำตาลทุกครั้งทั้งใน อาหารคาว อาหารหวาน แม้กระทั่งการปรุงรสก๋วยเตี๋ยว ก็ไม่มีความจำเป็นต้องเติมน้ำตาล หรือเครื่องปรุงรสอื่นเพิ่มอีก หรือหากมื้อใดที่รู้ว่ากินอาหารที่มีน้ำตาลไปแล้ว ก็ควรลดในมื้อต่อไป

  3. พยายามควบคุมการกินน้ำตาลแต่ละวันให้ ไม่เกิน 6 ช้อนชาจะดีกว่า และกินอาหารธรรมชาติเป็นหลัก เช่น หากรู้สึกอยากกินขนมหวาน ให้กินผลไม้ทดแทน หรือหากรู้สึกอยากน้ำหวานลองเลือกเป็น น้ำผลไม้สดทดแทน

  4. ดื่มน้ำสะอาดจะดีที่สุด ไม่เสี่ยงต่อการเป็นโรคต่างๆ ด้วย

 

น้ำหวานแต่ละชนิดต้องใช้เวลาเผาผลาญกี่นาที

  1. น้ำอัดลมชนิดน้ำดำกระป๋องปริมาณ 325 มิลลิลิตร มีน้ำตาลประมาณ 31 กรัม หรือ 8 ช้อนชา ต้องใช้เวลาเผาผลาญด้วยการเดินอย่างน้อย 18 นาที หรือเดินขึ้นบันไดหรือ วิ่งเหยาะอย่างน้อย 12 นาที

  2. น้ำอัดลมน้ำสีและน้ำใสกระป๋องปริมาณ 325 มิลลิลิตร มีน้ำตาลประมาณ 39 กรัม หรือ 10 ช้อนชา ต้องใช้เวลาเผาผลาญด้วยการเดินอย่างน้อย 22 นาที หรือเดินขึ้นบันไดหรือวิ่งเหยาะอย่างน้อย 16 นาที

  3. เครื่องดื่มชาเขียวน้ำผึ้งมะนาวขวดปริมาณ 420 มิลลิลิตร มีน้ำตาลประมาณ 49 กรัมหรือ 12 ช้อนชา ต้องใช้เวลา เผาผลาญด้วยการเดินอย่างน้อย 27 นาที หรือเดินขึ้นบันไดหรือวิ่งเหยาะอย่างน้อย 19 นาที

  4. เครื่องดื่มสมุนไพรปริมาณ 380 มิลลิลิตร มีน้ำตาลประมาณ 40 กรัม หรือ 10 ช้อนชา ต้องใช้เวลาเผาผลาญด้วยการเดินอย่างน้อย 22 นาที หรือเดินขึ้นบันไดหรือวิ่งเหยาะอย่างน้อย 16 นาที

  5. กาแฟสดหรือชาชงแก้วขนาดกลาง มีน้ำตาลประมาณ 9-10 ช้อนชา ต้องใช้เวลาเผาผลาญด้วยการเดินอย่างน้อย 20-22 นาที หรือเดินขึ้นบันไดหรือวิ่งเหยาะอย่างน้อย 14-16 นาที
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook