จริงหรือไม่? บีบนวดขา เพิ่มความเสี่ยงโรค “เกาต์”
ผศ.พญ.อัจฉรา กุลวิสุทธิ์ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่า โรคเกาต์ เป็นโรคข้อซึ่งเกิดจากภาวะกรดยูริกในเลือดสูงเป็นระยะเวลานานจนตกตะกอน ทำให้เกิดโรคข้ออักเสบ โดยมักมีอาการบริเวณโคนนิ้วโป้ง ข้อเท้า และอาจเกิดขึ้นได้กับข้ออื่นๆ ในร่างกาย
>> จริงหรือไม่? กินไก่มาก เป็น “โรคเกาต์”
อย่างไรก็ตาม นอกจากภาวะกรดยูริกในเลือดสูงจะเป็นสาเหตุของการเกิดโรคข้ออักเสบ และตามมาด้วยโรคเกาต์ในภายหลังได้นั้น การบีบนวดบริเวณข้อ ก็อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคเกาต์ได้โดยไม่รู้ตัว
ผศ.นพ.กิตติ โตเต็มโชคชัยการ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล อธิบายว่า การบีบนวดตามจุดต่างๆ ของร่างกายด้วยแรงปกติ ไม่ได้ทำให้เกิดความผิดปกติต่อร่างกายใดๆ เพราะการบีบนวดธรรมดาๆ ไม่ได้เป็นการเพิ่มกรดยูริกให้แก่ร่างกายแต่ประการใด แต่หากเป็นการบีบนวดรุนแรงจนทำให้เกิดอาการบาดเจ็บ หรือข้ออักเสบขึ้นมา เช่น การนวดแผนโบราณโดยผู้ที่ไม่ชำนาญในการนวดที่ถูกต้อง หากบีบ หรือบิดข้ออย่างผิดจังหวะจนทำให้เกิดอาการเจ็บปวดบวม หรือข้ออักเสบ อาจทำให้เกิดอาการกำเริบของโรคข้ออักเสบขึ้นได้ เพราะการบีบนวดด้วยความรุนแรงจะไปโดนบริเวณที่มีการสะสมของกรดยูริกในชั้นใต้ผิวหนังเป็นก้อนที่เรียกว่า ก้อนโทฟัส (Tophus) จึงอาจทำให้กรดยูริกเข้ามาในเลือด หรือสะสมไปที่ข้อ จนทำให้เกิดอาการข้ออักเสบได้
อย่างไรก็ตาม กรณีนี้มีโอกาสเกิดขึ้นได้น้อยมาก สาเหตุสำคัญของโรคเกาต์ยังคงเป็นเรื่องของ ภาวะกรดยูริกในเลือดสูง ที่มีทั้งปัจจัยที่เราควบคุมได้ และควบคุมไม่ได้
รศ.นพ.ปารยะ อาศนะเสน ภาควิชาโสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล อธิบายเพิ่มเติมเกี่ยวกับกรดยูริกว่า เป็นสารที่เกิดขึ้นภายในร่างกายของเรา โดยสามารถสร้างขึ้นได้เองถึง 80% ส่วนอีก 20% นั้นจะนำเข้ามาจากการรับประทานอาหารที่ประกอบด้วยสารพิวรีน ซึ่งสารพิวรีนจะสามารถพบได้ในอาหารจำพวกสัตว์ปีก เครื่องในสัตว์ พืชผักบางชนิด และอาหารทะเลบางอย่าง การที่มีกรดยูริกในเลือดสูง เกิดจากร่างกายมีการสร้างกรดยูริกมากกว่าปกติ หรือรับประทานอาหารที่มีสาร “พิวรีน” สูง ซึ่งสารนี้จะเปลี่ยนเป็นกรดยูริกในเลือด ทำให้มีระดับกรดยูริกในเลือดสูงผิดปกติ
อาหารที่มีสารพิวรีนสูง ที่คนที่เป็นโรคข้ออักเสบ หรือมีความเสี่ยงในการเป็นโรคเกาต์ควรหลีกเลี่ยง ได้แก่
- สัตว์ปีก เช่น ไก่ เป็ด ห่าน
- เครื่องในสัตว์ เช่น ตับ หัวใจ ไส้ เซ่งจี๊
- ข้าวกล้อง ข้าวซ้อมมือ ธัญพืชต่างๆ ขนมปังโฮลวีท รวมไปถึงนมจากข้าวกล้อง และธัญพืชต่างๆ ด้วย
- ปลากะตัก ปลาแมคเคอเรล ปลาอินทรีย์ ปลาแอนโชวี่ ปลาไส้ตัน ปลาดุก ปลาเล็กปลาน้อย ปลาซาร์ดีน (ปลากระป๋อง) ไข่ปลา
- อาหารทะเล เช่น กุ้ง
- ถั่วต่างๆ เช่น ถั่วแดง ถั่วดำ ถั่วเขียว ถั่วเหลือง
- น้ำซุปต่างๆ เช่น น้ำซุปแกงจืด น้ำซุปก๋วยเตี๋ยว ซุปก้อน ซุปสำเร็จรูป รวมไปถึงน้ำเคี่ยวเนื้อ น้ำเกรวี่
- ยอดผักต่างๆ เช่น ยอดฟักทอง ยอดฟักแม้ว ยอดตำลึง ยอดกระถิน ยอดชะอม
>> อาหารที่ควร-ไม่ควรกิน หากเสี่ยงเป็น "โรคเกาต์"
อย่างไรก็ตาม การทานอาหารที่มีสารพิวรีนสูง ไม่ได้หมายความว่าทานแล้วจะเป็นโรคเกาต์ เพียงแต่คนที่มีอาการข้ออักเสบ หรือเป็นโรคเกาต์อยู่แล้ว ควรหลีกเลี่ยงอาหารเหล่านี้ เพื่อรักษาระดับกรดยูริกในเลือดให้เป็นปกติ เมื่อรักษาระดับกรดยูริกให้เป็นปกติได้แล้ว สามารถทานอาหารเหล่านี้ได้ (ภายใต้คำแนะนำของแพทย์) หากไม่อยากเป็นโรคเกาต์ แนะนำให้ออกกำลังกายเป็นประจำ ทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ตรวจร่างกายเป็นประจำทุกปี รวมไปถึงการดื่มนม หรือทานอาหารที่มีนมเป็นส่วนประกอบ (นมวัว) เช่น โยเกิร์ต นมเปรี้ยว หรือนมวัวที่ไม่มีน้ำตาลแลกโตส ก็ช่วยลดโอกาสในการเกิดโรคเกาต์ได้เช่นกัน