หมาแมวข่วน กัด เสี่ยง "พิษสุนัขบ้า" อาการกำเริบให้หลังได้เป็นปี

หมาแมวข่วน กัด เสี่ยง "พิษสุนัขบ้า" อาการกำเริบให้หลังได้เป็นปี

หมาแมวข่วน กัด เสี่ยง "พิษสุนัขบ้า" อาการกำเริบให้หลังได้เป็นปี
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

กรมควบคุมโรค เตือนประชาชนอย่าชะล่าใจ เมื่อถูกสุนัข แมวกัด ข่วน ขอให้เข้ารับการรักษา แม้มีแผลเพียงเล็กน้อย เผยผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่ชะล่าใจเมื่อถูกสัตว์เลี้ยงกัด ล่าสุดพบผู้เสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้าเพิ่มอีก 1 ราย พื้นที่เตรียมเปิดศูนย์ปฏิบัติการตอบโต้ฉุกเฉินแล้ว แนะประชาชนยึดหลัก “คาถา 5 ย.” ช่วยลดความเสี่ยงการรับเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า

นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ตั้งแต่ต้นปี สถานการณ์โรคพิษสุนัขบ้ามีผู้เสียชีวิตมาอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด กรมควบคุมโรคได้รับรายงานผู้เสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้าเพิ่ม 1 ราย จากรายงานการสอบสวนโรคของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดกาฬสินธุ์ พบว่า ผู้เสียชีวิตรายนี้เป็นชาย อายุ 42 ปี ในจังหวัดกาฬสินธุ์ โดยก่อนเข้าโรงพยาบาลมีประวัติถูกสุนัขไม่ทราบประวัติการฉีดวัคซีนกัดเมื่อ 6-8 เดือนก่อน โดยผู้เสียชีวิตไม่ได้ล้างแผลและไม่ได้เข้ารับการฉีดวัคซีนแต่อย่างใด ทำให้ยอดตัวเลขผู้เสียชีวิตปีนี้รวม 11 ราย

หน่วยงานของจังหวัดกาฬสินธุ์ได้ดำเนินการป้องกัน ควบคุมโรคในพื้นที่แล้ว อาทิ การสื่อสารความเสี่ยงแก่กลุ่มผู้สัมผัสใกล้ชิดผู้ตายและประชาชนที่มีสัตว์เลี้ยงในละแวกใกล้เคียง  เร่งค้นหาผู้สัมผัสโรคให้มารับบริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า รวมถึงประสานปศุสัตว์อำเภอจัดให้บริการวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าในสัตว์  อีกทั้งได้มีการเปิดศูนย์ปฏิบัติการตอบโต้ภาวะฉุกเฉิน (EOC) ของอำเภอ เตรียมพร้อมประชุมอีกครั้ง เพื่อรายงานความคืบหน้าของสถานการณ์และวางแผนการดำเนินงานต่อไป

นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า จากข้อมูลในปี 2561 นี้ พบว่าผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่ถูกสุนัขกัดหรือข่วน แล้วไม่ไปรับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ซึ่งเกิดจากความชะล่าใจในการป้องกันหลังสัมผัสสัตว์ที่เสี่ยงมีเชื้อเพราะคิดว่าสัตว์เลี้ยงไม่น่าจะเป็นโรคพิษสุนัขบ้า และขาดความตระหนักเพราะเห็นว่าเป็นรอยแผลเพียงเล็กน้อยเท่านั้น กรมควบคุมโรค จึงขอแนะนำประชาชนว่าหากท่านเคยถูกสัตว์เลี้ยงกัดหรือข่วนแม้ว่ารอยแผลจะเพียงเล็กน้อยก็ตาม ขอให้พบเเพทย์เพื่อรับการพิจารณาการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า

โรคพิษสุนัขบ้า สามารถพบได้ตลอดทั้งปี ซึ่งสามารถพบได้ในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ประเทศไทยจะพบมากในสุนัข แมว และโค สัตว์ที่มีเชื้อมักแสดงอาการทั้งแบบดุร้าย และแบบซึม เช่น นิสัยเปลี่ยนไปจากเดิม ก้าวร้าวดุร้าย กัดไม่เลือก บางตัวอาจซึมและมีอาการทางระบบประสาท เช่น ชัก เดินโซเซ เห่าหอนผิดปกติหรือไม่มีสาเหตุ โดยสุนัขที่แสดงอาการมักจะตายภายใน 10 วัน

กรมควบคุมโรค จึงขอแนะนำประชาชนว่า หากถูกสุนัขและแมว กัด ข่วน หรือเลียบริเวณแผล แม้เพียงเล็กน้อย ควรรีบล้างแผลด้วยน้ำและสบู่ทันทีหลายๆ ครั้ง นานประมาณ 10 นาที และใส่ยาเบตาดีนหลังล้างแผล เพื่อลดการติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า จากนั้นรีบไปพบแพทย์ทันที เพื่อรับการวินิจฉัยรับวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า หากได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว ควรไปตามนัดทุกครั้ง

ทั้งนี้ ขอให้ประชาชนยึดหลัก “คาถา 5 ย.” ได้แก่

1. อย่าเหยียบ บริเวณลำตัว ขา หรือหางของสัตว์

2. อย่าแยก สัตว์ที่กำลังกัดกัน 

3. อย่าแหย่ สัตว์เพราะอาจโดนข่วนหรือกัดได้ 

4. อย่าหยิบ อาหารขณะสัตว์กำลังกิน

5. อย่ายุ่ง กับสัตว์ที่ไม่รู้จักคุ้นเคย ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงการรับเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า

 

หากประชาชนมีข้อสงสัยสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook