"เลเซอร์" แต่ละประเภท กับการรักษา 5 กลุ่มโรคผิวหนัง
สมาคมแพทย์ผิวหนังฯ ชี้ "เลเซอร์" ใช้รักษาโรคผิวหนัง 5 กลุ่มโรค ทั้งทำลายเนื้องอก ทำลายเม็ดสี รักษาเส้นเลือดผิดปกติ กำจัดขน และปรับสภาพผิว ห่วงหมอกว่า 95% ไม่ใช่แพทย์ผิวหนังเฉพาะทางที่รักษาเลเซอร์ผิวหนังโดยเฉพาะ
ศ.นพ.วรพงษ์ มนัสเกียรติ ประธานวิชาการสมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย กล่าวว่า แพทย์ผิวหนังของไทยได้นำวิธีการรักษาด้านเลเซอร์เข้ามาใช้ในการรักษาผู้ป่วยมากว่า 20 ปีแล้ว ซึ่งทั่วโลกก็ยอมรับความสามารถด้านเลเซอร์ของไทย อีกทั้งยังมีงานวิจัยออกมาตีพิมพ์ในวารสารชั้นนำระดับนานาชาติอย่างต่อเนื่อง เช่น งานวิจัยที่พบว่าเครื่องมือเลเซอร์จากตะวันตกไม่เหมาะสมกับผิวหนังของคนไทยและเอเชียในการรักษาหลุมสิว หรืองานวิจัยคิดค้นเลเซอร์ "แฟรคเชเนลเลเซอร์ (Fractional laser)" ที่ใช้เลนส์พิเศษในการบีบอัดลำแสงของเลเซอร์เป็นจุดเล็กๆ ยิงไปที่บริเวณแผลเป็นคีลอยด์ ซึ่งรูมีขนาดเล็กมากเส้นผ่านศูนย์กลางอยู่ที่ 150-200 ไมครอน ทำให้เจ็บน้อยและไม่มีผลข้างเคียงเหมือนการรักษาด้วยสเตียรอยด์อย่างที่ผ่านมา เพราะต้องปักเข็มทุก 1-2 เซนติเมตร แล้วเดินยาไปเรื่อยๆ และต้องฉีดเดือนละครั้งติดต่อกันหลายเดือน เป็นต้น
ศ.นพ.วรพงษ์ กล่าวว่า เลเซอร์ผิวหนังสามารถแบ่งตามชนิดของกลุ่มโรค ปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 5 กลุ่ม คือ
- เลเซอร์ที่ใช้พลังงานความร้อนไปทำลายเนื้องอกชนิดที่ไม่ใช่มะเร็ง เช่น กระเนื้อ ไฝธรรมดา หรือขี้แมลงวัน
- เลเซอร์ที่ไปทำลายเม็ดสีหรือสีผิวที่ผิดปกติ เช่น คนที่เป็นกระแดด กระลึก หรือเป็นปานสีเทาสีน้ำเงิน ที่เรียกว่า ปานโอตะ ซึ่งยังสามารถลบรอยสัก ยิงรอยสักได้ด้วย
- เลเซอร์รักษาเส้นเลือดที่ผิดปกติ ทำให้เราเห็นผิวตรงนั้นนูนหรือแดงขึ้น หรือที่เราเห็นเป็นปานแดงหรือบางคนที่เป็นปานสตรอเบอร์รีที่เป็นก้อนแดงๆ นูนขึ้นมา จะใช้เลเซอร์รักษาความผิดปกติของหลอดเลือดขึ้นมารักษา โดยสามารถรักษาเส้นเลือดฝอยที่หน้า หรือบางคนใช้เลเซอร์กลุ่มนี้รักษาแผลเป็นนูน ไปทำลายท่อน้ำเลี้ยงของแผลเป็นนูน ให้แผลเป็นนูนฝ่อ
- เลเซอร์กำจัดขน โดยแสงจะลงไปที่รากขนของมันเอง ไม่ต้องจี้ทีละเส้น เลเซอร์กลุ่มนี้สามารถทำให้จำนวนเส้นขนลดลงไปในช่วงระยะเวลาที่ค่อนข้างยาวหลังการยิงติดต่อกันหลายๆ ครั้ง
- เลเซอร์กลุ่มปรับสภาพผิวชนิดไม่มีแผล หรือเรียกว่าเลเซอร์กระตุ้นคอลลาเจน กลุ่มนี้นำไปใช้ในการรักษาริ้วรอย หรือกระชับรูขุมขนเป็นแบบที่ไม่มีแผล หลักการคือให้แสงลงไปที่หนังแท้ส่วนต้น เพื่อกระตุ้นให้มีการสร้างคอลลาเจนใหม่ เหมาะกับการลบริ้วรอยและรักษาแผลหลุมตื้นๆ
สำหรับการทำเลเซอร์ผิวหนังสามารถแบ่งตามจากลักษณะแผล โดยจะแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ
- ทำแล้วมีแผล หมายถึงพวกที่มีสะเก็ด ต้องรอสัก 7-10 วันแผลถึงจะหลุด
- ทำแล้วไม่มีแผล แค่รู้สึกอุ่นๆ แปล๊บๆ ระหว่างทำ เสร็จแล้วก็ทำแล้วไม่มีสะเก็ด ไม่มีบาดแผล อาจเห็นเพียงรอยแดงเรื่อยๆ และไม่ต้องทาครีมสมานแผล
การรักษาด้วยวิธีการทำเลเซอร์ผิวหนังในปัจจุบันได้รับความนิยมอย่างมากในประเทศไทย แต่ที่น่าเป็นห่วงสุด คือมีแพทย์ผู้รักษาถึง 95% ไม่ใช่แพทย์ผิวหนังเฉพาะทางที่รักษาเลเซอร์ผิวหนังโดยเฉพาะ ดังนั้น ผู้ที่จะรักษาด้วยวิธีการทำเลเซอร์ผิวหนังจะต้องใช้วิจารณญาณ ตรวจสอบพิจารณาสถานพยาบาลและคลินิก ก่อนที่จะเข้ารับการรักษาให้ดีเสียก่อน