8 สัญญาณ สังเกตความเสี่ยง หลังเจอเหตุรุนแรง
′กรมสุขภาพจิต′ แนะดูแลใจ สังเกตสัญญาณเสี่ยง หลังเจอเหตุรุนแรง ควรพักผ่อนให้เพียงพอ ไม่ใช้สุรา ยาเสพติด พยายามหากิจกรรมทำให้เกิดความเพลิดเพลิน พยายามใช้ชีวิตประจำวันให้เป็นปกติ
นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าว ว่า หลังเกิดเหตุรุนแรง เป็นเรื่องปกติธรรมดาที่จะเกิดอาการต่างๆ เหล่านี้ เช่น โกรธ หงุดหงิด วิตกกังวล เศร้า ร้องไห้ อาจมีอารมณ์รุนแรงมากขึ้นกว่าเดิมหรือเฉื่อยชาลงมากกว่าเดิม ครุ่นคิด คิดซ้ำๆ ถึงภาพและเหตุการณ์ความรุนแรงที่ได้พบ สับสน ไม่มีสมาธิ เงียบขึ้น หรือแยกตัว นอนไม่หลับ ฝันร้าย ฯลฯ
ต้องขอย้ำว่า อาการดังกล่าวที่เกิดขึ้นนี้ ถือเป็นปฏิกิริยา“ปกติ” ที่เกิดขึ้นจากสถานการณ์ “ไม่ปกติ” โดยอาการเหล่านี้จะค่อยๆ หายไปเองเมื่อเวลาผ่านไป บางคนอาจมีอาการเหล่านี้เป็นสัปดาห์ หรือเป็นเดือนได้ แต่ไม่ควรเกิน 1 เดือน ที่สำคัญ ต้องเข้าใจว่าผู้ที่มีอาการเหล่านี้ไม่ใช่ผู้เจ็บป่วยทางจิตและไม่ใช่ผู้ อ่อนแอ แต่อย่างใด อาการที่เกิดขึ้นเป็นเพียงการแสดงออกทางจิตใจ อารมณ์ และพฤติกรรมที่ตอบสนองต่อเหตุการณ์ที่ไม่ปกติ
ทั้งนี้ สามารถสังเกต 8 สัญญาณเตือน ที่บ่งชี้ว่าบุคคลต้องได้รับการช่วยเหลือจากจิตแพทย์หรือบุคลากรสุขภาพจิต ได้แก่ 1.มีความสับสนรุนแรง 2.รู้สึกถึงเหตุการณ์นั้นอยู่ซ้ำๆ บ่อยๆ หยุดไม่ได้ 3.หลีกหนีสังคม กลัวที่กว้าง ไม่กล้าเข้าสังคม 4.ตื่นกลัวเกินเหตุ ฝันร้ายน่ากลัว ควบคุมตนเองให้มีสมาธิไม่ได้ 5.วิตกกังวลมากเกินไปจนทำอะไรไม่ได้ 6.ซึมเศร้าอย่างรุนแรง 7.ติดสุราและสารเสพติดและ 8.มีอาการทางจิต หลงผิด ประสาทหลอน ฯลฯ
สำหรับการดูแลจิตใจตนเองและคนรอบข้างเมื่อประสบเหตุ รุนแรง ทำได้โดย พักผ่อนให้เพียงพอ ไม่ใช้สุรา ยาเสพติด พยายามหากิจกรรมทำให้เกิดความเพลิดเพลิน พยายามใช้ชีวิตประจำวันให้เป็นปกติ ปรึกษา พูดคุย เรื่องไม่สบายใจ หรือขอความช่วยเหลือจากคนใกล้ชิด หรือจากคนที่ไว้ใจ และ เข้าร่วมกิจกรรมในชุมชมหรือสังคม เช่น การบำเพ็ญประโยชน์ กิจกรรมทางศาสนา ฯลฯ ตลอดจน ขอรับคำปรึกษา ได้ที่ สายด่วนสุขภาพจิต 1323 โทรฟรี ตลอด 24 ชั่วโมง