“แดง-ขาว-แผล-ก้อน” สัญญาณอันตรายโรค "มะเร็งในช่องปาก"

“แดง-ขาว-แผล-ก้อน” สัญญาณอันตรายโรค "มะเร็งในช่องปาก"

“แดง-ขาว-แผล-ก้อน” สัญญาณอันตรายโรค "มะเร็งในช่องปาก"
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เผย ผู้ที่อายุ 40 ปีขึ้นไป มีประวัติสูบบุหรี่ ดื่มเหล้า เคี้ยวหมากเข้าข่ายเสี่ยงมะเร็งในช่องปาก พร้อมแนะสังเกต “แดง-ขาว-แผล-ก้อน” สัญญาณเตือนระยะแรก

นายแพทย์ดนัย ธีวันดา รองอธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า มะเร็งช่องปากเป็น 1 ใน 10 อันดับแรกของมะเร็งที่พบมากในประเทศไทย โดยโรคนี้มีอัตราการตายสูงมากกว่าร้อยละ 90 ของมะเร็งช่องปากเป็นชนิดสแควมัสเซลล์คาร์ซิโนมา (squamous cell carcinoma) ซึ่งเป็นมะเร็งชนิดที่มีความรุนแรงสูง พบอัตราการรอดชีวิตใน 5 ปีของประชากรทั่วโลกต่ำกว่าร้อยละ 50 และสามารถพบได้ทุกอวัยวะในช่องปาก ได้แก่ ลิ้น กระพุ้งแก้ม ริมฝีปาก เหงือก เพดานปาก พื้นช่องปากใต้ลิ้น ลิ้นไก่ ต่อมทอนซิล และส่วนบนของลำคอ

กลุ่มเสี่ยงของการเกิดโรคนี้คือ ผู้ที่อายุ 40 ปีขึ้นไป มีประวัติสูบบุหรี่ ดื่มเหล้า เคี้ยวหมาก หรือบุคคลในครอบครัวมีประวัติเป็นโรคมะเร็ง ซึ่งสาเหตุของการเกิดมะเร็งช่องปากเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย คือ การสูบบุหรี่ รวมถึงยาเส้น ดื่มเหล้า การเคี้ยวหมาก การกินผักและผลไม้น้อย การติดเชื้อไวรัส HPV อนามัยช่องปากไม่ดี และมีฟันปลอมที่ไม่ถูกสุขลักษณะ เป็นต้น

การตรวจพบมะเร็งชนิดนี้สามารถตรวจพบได้ตั้งแต่ระยะเริ่มแรก หากตรวจพบและได้รับการรักษาโดยเร็ว จะช่วยลดความรุนแรงของโรคและเพิ่มโอกาสรอดชีวิตของผู้ป่วยได้ ซึ่งสัญญาณเตือนของโรคมะเร็งช่องปากระยะแรกที่สามารถสังเกตรอยโรคก่อนมะเร็งช่องปาก คือ 

  1. พบรอยโรคสีแดง หรือสีแดงปนขาวเกิดขึ้นที่เนื้อเยื่อช่องปาก

  2. พบแผ่นฝ้าสีขาว เช็ดไม่ออก บริเวณเนื้อเยื่อช่องปาก

  3. พบแผลเรื้อรังในช่องปาก ไม่ทราบสาเหตุและไม่หายภายใน 2 สัปดาห์

  4. พบก้อนในช่องปาก หรือที่ลำคอ มีลักษณะแข็งเป็นไต ไม่มีอาการเจ็บ โดยบริเวณที่ตรวจ ได้แก่ ลิ้น ใต้ลิ้น ริมฝีปาก กระพุ้งแก้ม และเพดานปาก

 

นอกจากนี้ ยังมีสัญญาณเตือนอื่นๆ ของมะเร็งช่องปากระยะแรกที่สามารถสังเกตได้ด้วยตัวเอง เช่น มีอาการเจ็บคอเรื้อรัง เสียงแหบ กลืนลำบาก มีอาการชาที่ลิ้น ฟันปลอมที่เคยใส่ใช้ไม่ได้ หรือไม่พอดีเหมือนเดิม หากมีอาการดังกล่าว หรือตรวจพบรอยโรคก่อนมะเร็งในช่องปาก ให้ไปรับการตรวจชิ้นเนื้อ (biopsy) ที่สถานพยาบาลใกล้บ้านทันที

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook